รูปแบบของการสื่อสาร โดย ศจ.ดร.เสรี หล่อกัณภัย
รูปแบบของการสื่อสาร โดย ศจ.ดร.เสรี หล่อกัณภัย
ปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมไทยและสังคมโลกในปัจจุบัน
มีสาเหตุมาจากการสื่อสาร
ถึงแม้ปัจจุบันเราจะมีเครื่องมือสื่อสารที่ทันสมัยมากก็ตาม
นอกจากนี้ก็ยังมีสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น facebook หรือ Social Network
ชนิดใดก็ตาม แต่มนุษย์เราก็ยังพูดกันไม่รู้เรื่องอยู่ดี
แม้แต่การโพสต์ข้อความบางอย่าง ถ้าคนอ่านไม่พอใจก็จะถูกโจมตีอย่างหนัก
นักการเมืองก็ได้ให้ความสำคัญกับสื่อสารมวลชนเป็นอย่างมาก
แต่คนส่วนหนึ่งก็ไม่ไว้วางใจการเสนอข้อมูลผ่านสื่อสารมวลชนของฝ่ายตรงข้าม
และพยายามหาช่องทางอื่นๆที่จะเสนอความคิดเห็นของฝ่ายตน
ผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารได้ชี้ให้เราเห็นว่า
ในการสนทนานั้นความหมายของเนื้อหาจะอยู่ที่คำพูดเพียง 30% เท่านั้น
ที่เหลืออีก 70% อยู่ที่ท่าทางหรือสิ่งอื่นรอบข้างของผู้พูด
นักวิชาการชาวเอเชียได้ตั้งข้อสังเกตว่า
ความหมายที่ไม่ได้อยู่ในคำพูดของคนเอเชียนี้สูงถึง 90% ทั้งนี้
เพราะคนเอเชียมีวัฒนธรรมที่ไม่พูดอะไรตรงๆ เรามีเรื่องของหน้าตา
เรื่องของการให้เกียรติ และเรื่องของพวกพ้อง และการเกรงใจกันอีก ดังนั้น
หากเราจะรู้ความจริง เราต้องไปเสาะหาข้อมูลจากที่อื่น ไม่ใช่จากตัวผู้พูด
ซึ่งทำให้การแก้ไขปัญหายากขึ้นไปอีก
หลายครั้งเมื่อมีความพยายามที่จะสื่อสารด้วยคำพูดแล้วยังไม่รู้เรื่องกัน
ก็ต้องมีการกระทำที่เป็นสัญลักษณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการเดินขบวนประท้วง
และในช่วงเวลาที่ผ่านมานี้ ก็มีการยิงระเบิดบ้าง
ซึ่งผู้กระทำก็พยายามจะสื่อสารความหมายบางอย่างออกมา
แม้การสื่อสารนี้อาจจะไปถึงผู้รับสารได้โดยตรง
แต่บางครั้งผู้รับสารก็ยังไม่เข้าใจว่าผู้สื่อสารต้องการอะไร
จึงมีการกระทำที่เป็นสัญลักษณ์อย่างต่อเนื่อง
ยิ่งผู้ที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องด้วย ยิ่งไม่เข้าใจใหญ่
หากเราต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอยู่นี้
เราคงต้องตีความหมายให้ถูกต้องว่าผู้พูดต้องการสื่อสารอะไรกับเรากันแน่
และคงต้องสังเกตภาษากายหรือองค์ประกอบอื่นๆให้ดีว่า
ความต้องการที่แท้จริงของคู่สนทนาคืออะไร
ในสมัยที่พระเยซูทรงสั่งสอนประชาชนและรักษาคนเจ็บป่วยให้หายจากโรคด้วยการยกโทษความผิดบาปของคนป่วยนั้น
มีผู้นำทางศาสนาบางคนอยู่ในเหตุการณ์ด้วยได้ตำหนิพระเยซูในใจว่า
"คนนี้หมิ่นประมาทพระเจ้า" พระเยซูก็ตรัสกับพวกเขาว่า
"ทำไมพวกท่านจึงคิดการชั่วอยู่ในใจ? การที่พูดว่า
'บาปต่างๆของท่านได้รับอภัยแล้ว' กับการพูดว่า 'จงลุกขึ้นเดินไปเถิด'
แบบไหนจะง่ายกว่ากัน? ทั้งนี้ เพื่อให้ท่านรู้ว่า
บุตรมนุษย์มีสิทธิอำนาจในโลกที่จะอภัยบาปได้"
พระองค์จึงตรัสสั่งคนง่อยว่า "จงลุกขึ้นยกที่นอนกลับไปบ้านของท่าน"
(มัทธิว 9:4-6) สิ่งที่พระเยซูทรงกระทำนั้น ทำให้เราเห็นว่า
พระองค์ไม่เพียงเป็นผู้รักษาโรคหรือผู้สั่งสอนคนให้ทำความดีเท่านั้น
แต่พระองค์ยังทรงเป็นผู้ที่รู้ถึงความคิดในใจของคนที่คอยจับผิดพระองค์
พระองค์เป็นนักสื่อสารที่ยิ่งใหญ่
พระองค์ไม่เพียงแต่สามารถตอบสนองความต้องการภายนอกของเรา
แต่พระองค์สามารถตอบสนองความต้องการที่อยู่ในใจของเราได้ด้วย
พระองค์ไม่ได้ประเมินมนุษย์เราที่คำพูด
แต่พระองค์ทรงประเมินตัวเราที่ความคิดของเรา
แม้แต่พระคริสตธรรมคัมภีร์ก็ไม่ได้สื่อสารกับมนุษย์เพียงตัวหนังสือที่อ่านเท่านั้น
แต่ยังสื่อสารเข้าไปในส่วนลึกของมนุษย์
ดังผู้เขียนพระธรรมฮีบรูได้กล่าวว่า
"เพราะว่าพระวจนะของพระเจ้านั้นมีชีวิตและทรงพลานุภาพอยู่เสมอ
และคมยิ่งกว่าดาบสองคมใดๆแทงทะลุกระทั่งแยกจิตและวิญญาณ
ทั้งข้อกระดูกและไขในกระดูก
และสามารถวินิจฉัยความคิดและความมุ่งหมายในใจด้วย" (ฮบ. 4:12)
หากเราจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งกันจริงๆแล้ว
เราจะต้องพยายามสื่อสารกันอย่างจริงใจ
และสื่อสารกันแบบเข้าให้ถึงความคิดที่แท้จริงว่า
ฝ่ายตรงกันข้ามนั้นต้องการอะไรกันแน่ ความต้องการที่แท้จริงของเขาคืออะไร
ที่มา : นิตยสารโลกวันนี้วันสุข ปีที่ 6 ฉบับ 279 วันที่ 2 - 8 ตุลาคม
พ.ศ. 2553 หน้า 25 คอลัมน์ พระวจนธรรม โดย ศจ.ดร.เสรี หล่อกัณภัย