Warning: copy(http://www.azizstan.ac.th/th/images/stories/palestine/p1678797-11.jpg) [function.copy]: failed to open stream: HTTP request failed! HTTP/1.1 404 Not Found in /home/thaichrist/domains/thaichristians.net/public_html/today/plugins/content/mavikthumbnails.php on line 384
Warning: copy(http://www.azizstan.ac.th/th/images/stories/palestine/p1678797-17.jpg) [function.copy]: failed to open stream: HTTP request failed! HTTP/1.1 404 Not Found in /home/thaichrist/domains/thaichristians.net/public_html/today/plugins/content/mavikthumbnails.php on line 384
Warning: copy(http://www.azizstan.ac.th/th/images/stories/palestine/p1678797-18.jpg) [function.copy]: failed to open stream: HTTP request failed! HTTP/1.1 404 Not Found in /home/thaichrist/domains/thaichristians.net/public_html/today/plugins/content/mavikthumbnails.php on line 384
ประวัติความเป็นมาของปัญหาอาหรับกับยิว
ประวัติความเป็นมาของปัญหาอาหรับกับยิว
ที่มา กระทู้โดยคุณ Sh, ในห้องราชดำเนิน เว็บไซต์พันทิพย์ดอทคอม
ปาเลสไตน์ มีเนื้อที่ 10,429 ตารางไมล์ ถูกแบ่งไปเป็นประเทศอิสราเอลเสีย 7,993 ตารางไมล์ ส่วนหนึ่งมาเป็นประเทศจอร์แดน และอีกส่วนหนึ่งซึ่งเรียกว่าฉนวนกาซา อยู่ใต้การครอบครองของอียิปต์ เมื่อ ค.ศ. 1949 (เวลานี้ เขตดังกล่าวอยู่ภายใต้การยึดครองของอิสราเอลหลังจากสงครามในเดือนมิถุนายน ค.ศ.1967)
เป็นเวลากว่าหนึ่งพันปีมาแล้ว ที่ปาเลสไตน์ได้กลายเป็นดินแดนส่วนหนึ่ง อยู่ร่วมกับประชาชนที่พูดภาษา อาหรับ ได้แก่จอร์แดน, ซีเรีย, เลบานอน, อิรัค, ซาอุดีอาระเบีย, เยเมน และอียิปต์ ซึ่งรวมเรียกว่าตะวันออกกลาง
ในยุคกลางของยุโรป เมื่อ ค.ศ. 1095 คริสตศาสนิกในทวีปยุโรปพยายามที่จะเข้าครองปาเลสไตน์ ได้ยกกองทัพมารุกราน และเกิดสงครามติดพันกันหลายครั้งประมาณ 150 ปี แต่ก็หาได้รับความสำเร็จไม่ จนต้องพ่ายแพ้กลับไป สงครามนี้เรียกว่า ครูเสด เป็นสงคราม ที่โป๊บได้มีบทบาทอย่างสำคัญ
เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม ค.ศ. 1897 ได้มีการประชุมเป็นครั้งแรกที่เมืองบาล (Basle) ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อก่อตั้งองค์การไซออนนิสม์ โดยมี ธิโอดอร์ เฮอร์เซิล เป็นหัวหน้าเพื่อเรียกร้องให้ผู้นับถือศาสนายูดาย และผู้มีเชื้อสายยิวอพยพเข้าไปอยู่ในปาเลสไตน์โดยตั้งรัฐยิว Der Judenstaat ขึ้น ธิโอดอร์ถึงแก่ชีวิตด้วยโรคหัวใจเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ค.ศ. 1904 มีอายุได้ 44 ปี คนอื่นในพรรคไซออนนิสม์ก็ทำหน้าที่รับช่วงต่อไป เพื่อดำเนินผลทางการเมืองและทางเศรษฐกิจให้บรรลุจุดหมาย
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง รัฐบาลอังกฤษได้ออกแถลงการณ์บัลฟุร์ เมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน ค.ศ. 1917 ถึงความประสงค์ที่จะตั้งถิ่นที่อยู่ของชาวยิวขึ้นในปาเลสไตน์ แถลงการณ์นี้แสดงความเห็นอกเห็นใจชาวยิว โดยไม่ได้รับการเห็นชอบจากชาวอาหรับผู้เป็นเจ้าของประเทศซึ่งเป็นมุสลิมและ คริสศาสนิก 93% ส่วนอีก 7% นั้นเป็นชาวยิว
ใน ค.ศ.1922 สันนิบาตชาติ-Laegue of Nations- ซึ่งก็มิใช่ชาวอาหรับอีกนั้นแหละ-ได้ลงมติแบ่งแยกและยกดินแดนหลายประเทศใน ตะวันออกกลาง ให้อยู่ในอารักขาของอังกฤษและฝรั่งเศส
ใน ค.ศ.1947 สหประชาชาติได้ลงมติให้แบ่งแยกปาเลสไตน์ออกเป็นสองส่วน คือส่วนหนี่งของยิวและอีกส่วนหนึ่งของอาหรับ โดยมิได้รับความยินยอมเห็นชอบจากเจ้าของประเทศ อันเป็นชนวนทำให้เกิดสงครามและวิกฤติกาลเรื้อรังจนบัดนี้
แม้จะเป็นที่ยอมรับกันว่า พวกอาหรับจะต้องต่อต้านการอพยพของคนต่างด้าวแม้จะเป็นยิวหรือชนชาติใดก็ตาม ที่เข้ามาในปาเลสไตน์โดยมิได้รับอนุญาต ก็ยังมีบุคคลเป็นจำนวนมากที่ไม่เข้าใจว่าสถานภาพของชาวอาหรับ ถึง กับกล่าวว่า ชาวอาหรับน่าจะยินดีต่อการตั้งรัฐอิสราเอล บางคนว่า เวลาเท่านั้นจะชี้ขาดและชาวอาหรับจะอ่อนข้อไปเอง และจะได้รับประโยชน์จากวิชาการและความมั่งคั่งของชาวยิว
ประธานาธิบดีแฮรี เอ็ส. ทรูแมน ถึงกับได้เขียนไว้ว่า ต่อไปอิสราเอลจะเป็นศูนย์อุตสาหกรรม และอาหรับจะเป็นผู้ป้อนวัตถุดิบ เพื่อซื้อผลิตภัณฑ์จากอิสราเอล
บัดนี้ 53 ปีได้ผ่านไปแล้ว คำพูดและความหวังเช่นนั้นก็มิได้เป็นจริง ทุก ๆ ปีจะมีรายงานแห่งกองบันเทาทุกข์ของสหประชาชาติ (United Nations Relief and Wor Agency-UNRWA) ว่าชาวอาหรับผู้ลี้ภัยเหล่านั้นต้องการกลับไปยังภูมิลำเนาเดิมของตนใน ปาเลสไตน์
ชาวอาหรับปาเลสไตน์เหล่านี้ได้ตั้งองค์การกู้ประเทศขึ้นทำสงครามแบบกองโจร กับพวกอิสราเอล ความหวังที่ว่า ตะวันออกกลางจะเป็นสวนหย่อนใจนั้นยังห่างไกลอยู่
ข้อหนึ่งซึ่งจะเว้นกล่าวเสียมิได้คือ ถ้ามิใช่เพราะลัทธิแอนตี้-เสมิติคในยุโรป จำนวนอพยพของพวกยิวสู่ปาเลสไตน์ก็จะมิได้รับการสนใจ และทรัพย์สินทั้งหลายก็คงมิถูกโยกย้ายมาลงทุนในปาเลสไตน์ดังที่เป็นอยู่ขณะ นี้
หวังว่า ข้อเขียนต่อไปนี้จะช่วยให้ผู้อ่านกรองข่าวและความเป็นมาต่างๆ เพื่อหาแนววินิจฉัยที่ถูกต้องได้ด้วยความเป็นธรรม
1. ที่มาของปัญหา
ปัญหาอาหรับกับยิวเกิดขึ้นเนื่องจากชาวยิวซึ่งส่วนมากเป็นชาวยุโรปที่นับถือ ศาสนายูดายได้อพยพเข้ามาตั้งหลักแหล่งในปาเลสไตน์ อันเป็นที่อยู่ของพวกอาหรับมาประมาณ 1400 ปี ด้วยความเห็นชอบและสนับสนุนของอังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, และมหาอำนาจบางประเทศ โดยที่พวกอาหรับไม่เคยยินยอมด้วย เราจะต้องจำแนกความเข้าใจขั้นมูลฐานก่อนว่า ปัญหาที่เกิดนี้มิใช่ระหว่างอาหรับกับชาวยิว แต่กับชาวยิวสมาชิกองค์การไซออนนิสม์ โดยมีการตั้งข้อเรียกร้องว่า :-
- พวก ยิวได้เคยอยู่ในปาเลส ไตน์มา เมื่อก่อนสองพันปีโน้น ถึงแม้จะต้องเร่ร่อนอยู่ตามประเทศต่างๆ หลังจากนั้นตลอดมา ก็ย่อมมีสิทธิที่จะกลับเข้าไปอยู่บ้านเดิมของตนได้
- ตามพระคัมภีร์ ไบเบิล พระเจ้าได้ทรงสัญญาแผ่นดินปาเลสไตน์ไว้แก่พวกยิวเพราะฉะนั้น การที่พวกยิวจะอพยพกลับยังดินแดนนี้ จึงเป็นการปฏิบัติตามพระประสงค์ของพระเจ้า
- พวกยิวถูกกดขี่ข่มเหงในทวีปยุโรปเพราะฉะนั้นพวกนี้ต้องมีที่อยู่ของตนเอง ที่เหมาะที่สุดคือปาเลสไตน์
- พวกยิวมีความเจริญทางเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมดีกว่าพวกอาหรับ การได้อพยพมาอยู่จึงเท่ากับช่วยพวกอาหรับผู้ล้าหลัง
- เนื่อง จากรัฐบาลของกลุ่มประเทศอาหรับอ่อนแอ ไม่สามัคคีกัน, เนื่องจากองค์การสหประชาชาติยอมรับรัฐอิสราเอลเป็นสมาชิก, เนื่องด้วยพวกอาหรับได้โจมตีพวกยิวเมื่อ ค.ศ.1948, เนื่องด้วยพวกอาหรับอพยพออกจากปาเลสไตน์เอง, เนื่องด้วยกลุ่มประเทศอาหรับต้องการใช้พวกลี้ภัยชาวปาเลส ไตน์เป็นเครื่องมือ จึงมิได้ช่วยเหลือหาที่อยู่ให้พวกเหล่านี้, และเนื่องด้วยอิสราเอลเป็นอู่ของประชาธิปไตย เพราะฉะนั้น พวกยิวจึงมีสิทธิตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นซ้อนประเทศปาเลสไตน์
2. ว่าด้วยสิทธิทางประวัติศาสตร์
2.1 ถ้าถือตามทฤษฎีของพวกยิวว่าเมื่อสองพันปีก่อนโน้นมีพวกยิวบางกลุ่มเคยอยู่ใน ปาเลสไตน์ เพราะฉะนั้นปัจจุบันนี้ ปาเลสไตน์ต้องเป็นของตน แผนที่ของโลกในขณะนี้ก็ต้องเปลี่ยนไปหมด ทฤษฎีเช่นนี้เป็นที่ยอมรับไม่ได้ อย่าว่าแต่ชาวอาหรับเลย หากแต่แก่คนทั้งโลกถ้าเป็นเช่นนั้น ใคร ๆ ก็อ้างสิทธิกันให้วุ่นไปหมด ชาวรัสเซียก็จะอ้างสิทธิในอลาสกา เพราะได้เคยปกครองมาก่อน หรือชาวเอสกิโมก็จะขอตั้งประเทศของตนซ้อนประเทศสหรัฐในอลาสกาและแคนนาดา ชาวเม็กซิโกก็จะเรียกร้องเอารัฐแคลิฟอร์เนีย เพราะได้เคยปกครองมาก่อน แม้นมิใช่เพราะยุค “ตื่นทอง” แคลิฟอร์เนียจะอยู่ในสหรัฐหรือไม่ก็คงเป็นปัญหา ชาวอาหรับคงเรียกร้องเอาบางส่วนของประเทศสเปน เพราะได้เคยปกครองอยู่อย่างรุ่งเรืองมาก่อนแล้วประมาณ 700 ปี จนกระทั่งภาษา, วัฒนธรรมของสเปนก็ยังมีเค้าของอาหรับติดอยู่ สักขีพยานทางสถา--ปัตยกรรมของอาหรับก็ยังคงมีเหลืออยู่ ในกรณีเช่นนี้พวกอินเดียนแดงก็จะเรียกร้องเอาเกาะแมนฮัตตันซึ่งอยู่ในรัฐนิว ยอร์กเพราะถูกชาวฮอลันดาบังคับซื้อด้วยราคาเพียง 500 บาท และก็น่าจะมีสิทธิเรียกร้องเอาทั้งสหรัฐอเมริกาคืน เนื่องด้วยเจ้าของที่แท้จริงนั้นคือพวกอินเดียนแดงที่ยังเร่ร่อนกระจัด กระจายอยู่ทั่วสหรัฐอเมริกา พวกยุโรปต่างหากที่เข้ามายื้อแย่ง รบพุ่งและฆ่าชาวอิน เดียนแดงเพื่อยึดดินแดนเหล่านี้ ตามทฤษฎีเช่นนี้ พวกออสเตรเลียและพวกนิวซีแลนด์ก็ควรจะอพยพกลับประเทศของตนในทวีปยุโรป เพราะพวกเหล่านี้แต่เดิมเป็นนักโทษ ถูกเนรเทศบ้าง เป็นพวกผจญภัยบ้าง เข้ามาแย่งเอาดินแดนจากชาวพื้นเมือง ซึ่งปัจจุบันถูกเรียกเสียหรูว่าพวก Aborigins อันหมายถึง ชาวพื้นเมืองเดิมนั่นเอง พวกเขมรก็คงเรียกร้องเอาพิมาย, ลพบุรี และดินแดนบางคนติดชายแดนเขมร เพราะแต่ก่อนนี้เคยเป็นของพวกขอม-บรรพบุรุษของตน สิทธิอันชอบธรรมของชาวตุรกีตะวันออก ซึ่งเรียกว่าแคว้นซินเกียงในปัจจุบันก็น่าที่จะถูกรับฟัง แต่สหประชาชาติทำเป็นไขสือ เพราะแผ่นดินนี้ได้เป็นเอกราชมาก่อนช้านาน ทั้งด้านภาษาและหนังสือ ทั้งด้านวัฒน ธรรมและศาสนา แต่ได้ถูกจีนเข้าครอบครองโดยใช้อำนาจ
เมื่อกลัวกันว่า ตามทฤษฎีเช่นนี้จะก่อให้เกิดการเรียกร้องสิทธิทางประวัติศาสตร์ขึ้น รัฐบาลมาเลเซียก็น่าจะอพยพชาวจีนและชาวอินเดียใต้ให้กลับคืนสู่ประ เทศเดิมของตน เพราะแต่แรกนั้นชาวจีนและชาวอินเดียใต้เหล่านี้มาอยู่ในฐานะเป็นกุลีเท่า นั้น
ว่ากันตามจริงแล้ว นายเดวิดเบนกุเรียน และนายเลวีเอชโกล(อดีตสองคนนี้เคยดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของอิสราเอล) เป็นชาวยุโรปเท่า ๆ กับที่นายอาร์เธอร์ เจ. โกลด์เบอร์ก และนายยากอบ เก. เจวิตส์เป็นชาวอเมริกา ถ้าจะพูดว่าบ้านเมืองเดิมของนายโกลด์เบอร์ก ซึ่งเป็นผู้แทนของสหรัฐประจำสหประชาชาติคือปาเลสไตน์ไซร้ เพราะว่าเขาเป็นยิว นายโกลด์เบอร์จะทำหน้าที่เป็นผู้แทนของสหรัฐในสหประชาชาติในแง่ไหน? เขาน่าจะเป็นผู้แทนของพวกยิวมากกว่า นายกิสซิงเกอร์-ที่ปรึกษาของประธานาธิบดี นิกสันขณะนี้ก็เป็นยิว แต่ก็หาได้ถือว่าปาเลสไตน์เป็นบ้านเมืองของตนไม่!
2.2 พวกยิวในปัจจุบันคือคนในเชื้อชาติของประเทศต่าง ๆ ที่ตั้งรกรากพำนักอยู่ แม้ว่าแต่เดิมหลายร้อยปีบรรพบุรุษของตนจะได้มาจากปาเลส--ไตน์ หรือมานับถือศาสนายูดายก็ตาม ดั่งที่เวลานี้ก็ยังมีพวกยิวจำนวนหลายล้านคนเป็นคนในบังคับของประเทศนั้นๆ หาได้ถือหนังสือเดินทางของอิสราเอล และอ้างตนเป็นชาวต่างด้าวไม่ เว้นแต่รัฐบาลของประเทศนั้นๆ จะอนุญาตให้ถือหนังสือเดินทางของสองประเทศซึ่งไม่มีใครเขาทำกัน นอกจากผู้บังอาจเท่านั้น !
2.3 ถ้าจะว่าการนับถือศาสนาทำให้มีสิทธิในดินแดนของชาติอื่นไซร้ เรื่องก็จะยุ่งเหยิงอีกเช่นกัน พวกอเมริกันที่นับถือศาสนานิกายโรมันคาทอลิก ย่อมมีควมผูกพันกับกรุงโรมและสำนัก วาติกัน แต่จะถือข้อนี้เรียกร้องสิทธิ การเข้าไปอยู่ในวาติกันหาได้ไม่ พวกอเมริกันเชื้อสายไอริชอาจฉลองวันของนักบุญเซ็นต์แปตริก และบางคนอาจแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสีเขียว แต่ก็หามีสิทธิจะเข้าไปในประเทศไอร์แลนด์ได้ไม่ นอกจากชาวไอริชจะอนุญาตเท่านั้น
ในทำนองนี้ชาวมุสลิมอเมริกันที่มีความผูกพันทางศาสนากับชาวมุสลิม ทั่ว ๆ ไปต้องการไปประกอบพิธีฮัจญ์ ก็จะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของประเทศก่อน อยู่ ๆ จะอพยพกันเป็นจำนวนล้าน ๆ ไปตั้งหลักแหล่งอยู่ในประเทศซาอุดีอาระเบียหาได้ไม่ หรือผู้ไปทำฮัจญ์ทุก ๆ ปีประมาณล้านคนนั้นจะไม่เดินทางกลับภูมิลำเนาเดิม โดยอ้างความผูกพันทางศาสนาก็หาได้ไม่ โดยทฤษฎีเช่นนี้แหละ ชาวมุสลิมอินโดนีเซีย ชาว ไทยมุสลิม ชาวปากีสถาน ชาวจีนมุสลิม ฯลฯ จะถือสิทธิเนื่องจากความผูกพันทางศาสนา เข้าไปอยู่ในนครมักกะฮฺ นครมะดีนะฮฺ ฯลฯ ได้หรือ ?
อย่างไรกันเล่า ที่พวกยิวมาอ้างสิทธิทางศาสนาว่าตนจะอพยพกันเป็นหมู่ๆ เข้าไปอยู่ในปาเลสไตน์ได้ตาม อำเภอใจ โดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากเจ้าของประเทศ
ถ้าจะถือสิทธิทางศาสนา ชาว คริสต์และชาวมุสลิมก็มีสิทธิทางความผูกพันไม่น้อยกว่าพวกยิวเช่นกัน เพราะปาเลสไตน์เป็นดินแดนกำเนิดของพระเยซู และเป็นที่ตั้งศาสนสถานสำคัญของมุสลิม
2.4 ในแง่ของเหตุผลและการเปรียบเทียบ ก็ต้องถือเอาว่าพวกยิวที่กระจัดกระจายอยู่ตามประเทศต่าง ๆ นั้น แม้จะเป็นคนในบังคับของประเทศนั้น ก็จัดว่าเป็นคนต่างด้าว พวกยิวไซออนนิสม์ถือว่าพวกยิวเหล่านั้นจะจงรักภักดีต่อประเทศเหล่านั้นต่อไป ไม่ได้อีกแล้ว จำต้องอพยพไปอยู่ในแผ่นดินกันอาน ซึ่งบรรพบุรุษของตนเคยเป็นแขกเมืองอาศัยอยู่ แล้วแย่งมาถือว่าเป็นกรรม สิทธิ์ แต่ปัจจุบันนี้ก็ยังมีชาวยิวหรือพวกฝรั่งนับถือศาสนายูดายไม่ต่ำกว่า 14 ล้านคน แยกย้ายอยู่ตามประเทศต่าง ๆ โดยถือว่าตนเป็นคนของประเทศนั้น ๆ หาได้สำนึกในความสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์หรือทางศาสนาถึงกับต้องอพยพกันจาก ทั่วโลกเข้าไปในปาเลสไตน์ไม่!
3. ข้ออ้างจากพระคัมภีร์ไบเบิล
3.1 แม้พวกยิวไซออนนิสม์จำนวนมาก จะไม่นับถือศาสนาอะไรก็ตาม ก็ได้อ้างหลักฐานจากพระคัมภีร์ไบเบิลว่าพระเจ้าได้สัญญาแผ่นดินไว้ให้พวกตน ปกครองและมีสิทธิอยู่ในปาเลสไตน์ได้
มีชาวเมโสโปเตเมียคนหนึ่งชื่อ อับราม อับราฮาม (อิบรอฮิม) เดินทางจากฮารานในคาลเดีย (ปัจจุบันเป็นตอนใต้ของประเทศอิรัค) พร้อมทั้งครอบครัวมีภริยาชื่อนางซารา (สาเราะฮ) และหลานชายชื่อโลต (ลูฏ) ไปยังแผ่นดินกันอาน
เยเนซิศ 12 : 2-1 “พระยะโฮวา จึงตรัสแก่อับราฮามว่า เจ้าต้องออกจากเมือง จากญาติพี่น้อง จากเรือนบิดาของเจ้าไปยังแผ่นดินที่เราจะชี้ให้เจ้า เราจะให้ตระกูลของเจ้าเป็นประเทศใหญ่”
เมื่ออับราฮามได้มาถึงแล้ว มีอายุมากแล้ว ได้มีสัญญาแก่ท่านอีกว่า
เยเนซิศ 17 : 8 “แผ่น ดินกันอานทั้งสิ้นที่เจ้าเป็นแขกเมืองอาศัยอยู่นั้น เราจะยกให้เจ้าและพงศ์พันธุ์ของเจ้าเพื่อเป็นมรดกเป็นนิตย์และเราจะเป็นพระ เจ้าของเขาทั้งหลาย”
เยเนซิศ 15 : 8 ใน วันนั้นพระยะโฮวาทรงทำสัญญาไว้กับอับราฮามว่า เราได้มอบแผ่นดินนี้ไว้ให้พงศ์พันธุ์ของเจ้าแล้ว ตั้งแต่แม่น้ำอายฆุปโต (หมายถึงแม่น้ำไนล์) ไปจนถึงแม่น้ำใหญ่ชื่อฟะราธ (คือแม่น้ำยูเฟรติศ)” มีชาติต่างๆ รวมอยู่ในนั้น ข้อความในวงเล็บเป็นของข้าพเจ้าเอง
เมื่ออับราฮามตาย ก็ถูกฝังในที่นาซึ่งได้ซื้อไว้จากพวกเฮธ (พวกฮิตตี้) ที่เฮบโรน อันเป็นภริยาของตน-นางซาราได้ถูกฝังไว้ก่อน (เยเนซิศ 23 : 19-20 ; 25 : 9 -10)
อับราฮามนับถือพระเจ้าองค์เดียว มุสลิมมีหลักศรัทธาให้นับถือบรรดาศาสดาทั้งหลาย เช่น อับราฮาม, อิสมาอิล, อิสหาก, ยะอฺกูบ, มูซา, (โมเสส) อีซา (พระเยซู) ฯลฯ และถือว่าศาสนาของบรรดาศาสดานั้นเป็นอันเดียวกันคืออิสลาม-การนอบน้อมตนเอง ยังพระประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าทรงเอกะ เพื่อใฝ่ความสันติ เวลานั้นปัญหาที่ว่าอับราฮามเป็นยิวจึงไม่เกิดขึ้น เพราะยังไม่มียิว ยังไม่มีศาสนายูดาย อับราฮามเป็นต้นตระกูลของเชื้อชาติที่ต่อมาได้รับนับถือ ศาสนายูดาย, คริสต์และอิสลาม
ลูกคนหนึ่งของอับราฮามชื่ออิสฮาก ลูกคนหนึ่งของอิสหากชื่อยาโคบ (ยะอฺกูบ) ได้ซื้อที่ที่เมืองซะเค็มซึ่งเวลานี้เป็นเมืองนับลูส แต่ก็ได้รับการขัดขวาง จากชาวเมือง ต่อมาเกิดการกันดารอาหาร จึงได้อพยพไปอยู่กับลูกชายโยเซฟ (ยู ซุฟ) ที่ประเทศไอยคุปต์ (อียิปต์ในปัจจุ-บัน) หลังจากได้อยู่ในกันอาน ซึ่งอับราฮามได้เป็นแขกเมืองอาศัยอยู่นั้น (เยเน ซิศ 37 : 1) ท่านยาโคบมีชื่ออีกว่าอิสราเอล ลูกหลานที่เกิดจากท่านจึงได้ชื่อว่า ศาสดาอิสราเอล
ที่ไอยคุปต์พวกอิสราเอลทวีจำนวนมากขึ้น จนกษัตริย์ฟาโรห์ (ฟิร–อาวน์) เห็นจะเป็นภัยต่อพระองค์ จึงได้กำจัดโดยฆ่าลูกผู้ชายของพวกอิสราเอล และให้ทำงานหนัก มีคนดีคนหนึ่งชื่อว่าโมเสส (มูซา) เกิดขี้น ได้ทะเลาะกับชาวไอยคุปต์ และได้เกิดการวิวาทจนผู้นั้นตายจึงได้หนีไปอยู่เมืองมิดยาน (มัดยัน) อยู่กับเยธโร (ชุอัยบ์) ได้แต่งงานกับลูกสาวของเยธโร อยู่ที่นั่นสิบปี จึงเดินทางกลับประเทศไอยคุปต์ ระหว่างทางได้รับพระบัญชาให้ไปเทศนาแก่ฟาโรห์ เมื่อฟาโรห์และพวกข้าราชบริพารไม่เชื่อจึงได้พาพวกอิสราเอลหนีข้ามทะเลแดง พวกฟาโรห์ได้ยกทัพติดตาม แต่กลับถูกน้ำท่วมตายที่ทะเลแดงนั่นเอง
โมเสสได้เร่ร่อนอยู่ในทะเลซินาย สี่สิบปี เวลานั้นพวกอิสราเอลติดลัทธินับถือเทวรูปจากพวกไอยคุปต์ ที่ทะเลซินายนี้โมเซได้รับพระบัญญัติสิบประการ และคัมภีร์โตราห์ (เตารอด) น่าจะกล่าวได้ว่า ศาสนายูดายเริ่มแต่ตอนนี้ โมเซตายที่ซินายใกล้เขตแดนกันอาน
ผู้สืบต่อมาคือยะโฮซูอะ หรือโยชัว (ยะสะอ) บุตรของนูน ได้รับพระบัญชาจากพระเจ้าให้ตีดินแดนกันอาน ยะโฮซูอะ 1 : 3 “ทุก ๆ ตำบลซึ่งฝ่าเท้าของเจ้าทั้งหลายจะเหยียบลงไปเราจะยกให้แก่เจ้าทั้งหลาย เหมือนดังเราได้กล่าวไว้แก่โมเสสแล้ว ตั้งแต่ป่านั้นและภูเขาละบาโนนนี้ จนถึงแม่น้ำใหญ่คือแม่น้ำฟะราธ แผ่นดินทั้งหมดของชาวเฮธ (คือ พวกฮิตตี้) จนถึงทะเลใหญ่ฝ่ายทิศตะวันตก” ในพระคัมภีร์นี้ ยะโฮซูอะบทที่ 13 บอกว่า ยังมีแผ่นดินทีจะต้องตีอีกมาก รวมทั้งเลบานอนปัจจุบันด้วย พวก เลบานอนนี้แต่เดิมเมื่อ 5,000 ปี ก่อนโน้นเป็นพวกเดินเรือโฟนิเซียน ในพระคัมภีร์ไบเบิลก็เรียกพวกนี้เป็นชาวกันอานเหมือนกัน
เยเนซิส 22 : 15-18 บอกว่าพงศ์พันธุ์ของอับราฮามจะทวีเช่นดาวเกลื่อนท้องฟ้า และทรายเต็มฝั่งมหา สมุทร จะอยู่ที่ประตูเมืองของข้าศึก
พระบัญญัติ 6 : 10-11 “...จะ ประทานเมืองใหญ่งาม ซึ่งเจ้ามิได้สร้างเองนั้น เหย้าเรือนเต็มไปด้วยของดี ซึ่งเจ้ามิได้สะสมไว้เอง สวนเถาองุ่นและต้นมะกอกเทศซึ่งเจ้ามิได้ปลูกฝังเอาไว้เองนั้น...”
อาฤทธโม 33 : 55-56 “แต่ ทว่า ถ้าท่านทั้งหลายไม่ขับไล่ชาวเมืองนั้นออกเสีย ก็จะเป็นไปว่าคนชาวเมืองนั้นที่ยังเหลืออยู่จะเป็นดุจเสี้ยนอยู่ในตาของท่าน ทั้งหลาย แลดุจหนามทีเสียดแทงสี ข้างของท่าน”
เอ็กโซโต 3 : 8 “...และ นำเขาออกจากประเทศนั้นไปยังแผ่นดินที่ดี กว้างขวางบริบูรณ์ด้วยน้ำนมและน้ำผึ้ง ซึ่งเป็นที่อยู่ของชาติกันอาน (ชาติกันอานเป็นบรรพบุรุษของปาเลสไตน์ในปัจจุบัน), ชาติเฮธ, ชาติอโมรี, ชาติฟะริซี, ชาติฮีวี และชาติยะบูศ (เป็นบรรพบุรุษของชาวปาเลสไตน์ในปัจจุบัน)”
ตามหลักฐานข้างต้นนี้แสดงว่าพวกอิสราเอลต้องแย่งชิงบ้านเมืองของอีกหลายประเทศเพราะ “เป็นชาติบริสุทธิ์แก่พระยะโฮวาพระเจ้าของเจ้า” และประเสริฐกว่าประชาชนทั้งหลายบนปฐพีนี้ (พระบัญญัติ 14 : 2) ทั้ง ๆ ที่แต่ก่อนนั้นได้มาในฐานะเป็นแขกเมืองผู้อาศัยเท่านั้น (เยเนซิศ 17 : 8)
3.2 มีคำกล่าวว่า จะเป็นอะไรไปเล่ากับการแย่งชิงบ้านเมืองของคนอื่น เพราะประวัติศาสตร์ของโลกก็เต็มไปด้วยการแย่งชิงกันทั้งนั้น คำพูดเช่นนี้หามีคติแห่งความชอบธรรมเป็นหลักไม่ ถ้า ฝ่ายหนึ่งถือว่าเป็นมหาอำนาจใช้กำลังครอบครองดินแดนอื่นโดยผู้อยู่ในดินแดน นั้นไม่เต็มใจก็ย่อมได้รับการต่อต้าน จะหาความสงบสุขมิได้ ตัวอย่างเช่นนี้มีปรากฏอยู่แล้ว ทำไมอังกฤษต้องถอนตนออกจากชมพูทวีป ฮอลันดาออกจากอิน โดนีเซีย ฝรั่งเศสออกจากแหลมอินโดจีน และอื่น ๆ อีก
เพราะฉะนั้น แผ่นดินของกันอาน ซึ่งต่อมาได้เป็นปาเลสไตน์นั้นได้ถูกสัญญาแก่ “พงศ์พันธุ์ของอับราฮาม” ซึ่งมีทั้งของอิสฮาก และอิสมาอีล การนี้จะเข้าใจว่า แผ่นดินนี้เป็นของพวกยิว โดยที่พวกยิวไม่ได้อาศัยตลอดเวลา 2000 ปีนั้น จึงค้านต่อความเป็นจริงที่ปรากฏในพระคัมภีร์ไบเบิลเดิม
“แผ่นดินนี้เราจะยกให้พงศ์พันธุ์ของเจ้า” จึงรวมทั้งพวกอาหรับและคริส เตียน แต่จะรวมเอานายเดวิด เบนกุเรียน และนายอับบา อีบานเข้าด้วยไม่ได้ เพราะส่วนใหญ่ของยิวที่อพยพมาอยู่ในปาเลส ไตน์นั้นเป็นพวกฝรั่งเผ่าสลาฟและโปล (คือเกิดในยุโรปตะวันออก) ถ้าเราจะถือคำพยากรณ์เป็นความจริงแล้ว ก็น่าจะยอมรับได้ว่า พวกอาหรับซึ่งสืบพงศ์ พันธุ์ของอิสมาอีลนั้นก็รวมเป็นทายาทโดยตรงของปาเลสไตน์
ในอีกแง่หนึ่ง ความสัมพันธ์ของชาวปาเลสไตน์ ได้มีสืบเนื่องกันมาประมาณ 5,000 ปี ขณะที่พวกยิวรู้จักปาเลสไตน์เมื่อ 4,000 ปีนี้เอง
การที่จะมาตีความว่า พระคัมภีร์ไบเบิลเดิมสนับสนุนให้พวกฝรั่งยิวกลับไปยังแผ่นดินอาหรับมุสลิม และอาหรับ คริสเตียน โดยที่เจ้าของบ้านไม่ยินยอมนั้นจึงไม่กินกับปัญญา ฉะนั้นการที่จะมาตีความว่านายเบนกุเรียนซึ่งเป็นฝรั่งชาวโปแลนด์มีสิทธิใน ปาเลสไตน์มากกว่าพวกอาหรับนั้น จึงไม่ชอบด้วยเหตุ ผล ถ้าเป็นเช่นนี้หลายคนก็คงจะสงสัยว่าบิดามารดาของดาราเอลิสซาเบ็ธ เทเลอร์ ก็คงจะมีบ้านเดิมอยู่ในปาเลสไตน์ เพราะเธอมานับถือศาสนายูดายตามสามี หรือปู่ของนักร้องแซมมี่เดวิส ยูเนียร์-ชาวนิโกร-ก็คงมีบ้านเดิมอยู่ในปาเลส ไตน์!
สมมุติว่า นายเบนกุเรียน, และพวกยิวอื่นๆ สืบเชื้อสายจากอับราฮาม พวกเขาก็ไม่มีสิทธิ์จะเข้าไปในปาเลสไตน์ได้นอกจากเจ้าของที่จะให้อนุญาตเท่า นั้น ข้อนี้เปรียบได้เหมือนคนอเมริกาจะกลับไปอยู่อังกฤษหรือประเทศใดในยุโรปตาม อำเภอใจไม่ได้ แม้ว่าจะมีบรรพบุรุษมาจากประเทศนั้นก็ตาม
3.3 ข้ออ้างที่ว่า “การที่พวกยิวกลับไปยังปาเลสไตน์เป็นการปฏิบัติตามสัญญาของพระเจ้า และเป็นสิทธิทาง ประวัติศาสตร์นั้น” ก็ยังค้านต่อความจริง ในจำนวนยิวทั่วโลกนั้นมีเพียง 12% เท่านั้นที่ยินดีกลับปาเลสไตน์ นอกจากนั้นสมัครอยู่ต่างประเทศถึง 88% โดยถือตนเองเป็นคนถือสัญชาติในประเทศนั้น ๆ ลัทธิเกลียดชังยิวที่เรียกว่า แอนตี้ เสเมติกนั้นยินดีให้โอกาสแก่พวกยิวอพยพออกนอกประเทศ ก็ได้ผลสำเร็จน้อย
ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เขียนหนังสือ “ยิว” หน้า 489 ตอนหนึ่งว่า “...เมื่อผมไปถึงอิสราเอลนั้น มองดูผู้คนตามถนนหนทางทั่วไปแล้ว ก็เกิดความรู้สึกแปลกประหลาดขึ้นว่าประเทศอิสราเอลนี้ไม่ยักมียิว มองไปทางไหนมีแต่ฝรั่ง เป็นอังกฤษบ้าง เยอรมันบ้าง รัสเซีย บ้างและโปแลนด์บ้าง นอกจากนั้นก็เป็นคนตะวันออก”
นายอับบา อีบาน รัฐมนตรีต่างประเทศของอิสราเอล ได้เขียนบทความเรื่องอิสราเอลในหนังสือ The Book of Knowledge เล่ม 9 หน้า 439 ว่า ในอิสราเอลมีผู้คนอพยพมาจาก 70 ประเทศ พูดภาษาต่างกันถึง 23 ภาษา จำ ต้องสอนภาษาฮิบรู ยกเว้นกลุ่มอาหรับ
4. การพัฒนาที่ดิน
4.1 ในการโฆษณาชวนเชื่อของพวกยิวไซออนนิสม์ เพื่อจะหาเหตุผลยืนยันว่าการตั้งรัฐอิสราเอลซ้อนประเทศปาเลสไตน์เป็นการชอบ ธรรมนั้นได้กล่าวว่า พวกยิวมีความสามารถในการฟื้นฟูที่ดินในปาเลสไตน์ และได้กล่าวย้ำถึงความล้าหลังของพวกอาหรับ เมื่อพวกยิวมาที่ดินก็มีราคาสูงขึ้น พวกอาหรับที่แต่ก่อนนั้นต้องกางกระโจมอยู่กับอูฐกับแกะก็ได้อยู่ดีกินดี มีค่าจ้างสูงเท่ากับของพวกยิว การถือว่าตนสามารถพลิกแผ่นดินให้ดีขึ้นได้ เพราะฉะนั้นย่อมมีสิทธิในแผ่นดินนั้น ไม่ต่างจากคำกล่าวของนายอะดอล์ฟฮิตเลอร์ที่กล่าวเมื่อเข้ายึดครองโปแลนด์ว่า เพื่อฟื้นฟูที่ดินทางเกษตรของชาวโปแลนด์ให้ดีขึ้น เพราะชาวโปแลนด์เป็นพวกล้าหลัง น่าแปลกที่เมื่อก่อนนี้ผู้คนค้านต่อคำอ้างของฮิตเลอร์ แต่บัดนี้กลับมีบางคนสนับสนุนคำกล่าวของพวกยิวนิยมไซออนนิสม์
การที่แผ่นดินปาเลสไตน์ได้รับการฟื้นฟูนั้น มิใช่เพราะผู้ฟื้นฟูมันเป็นชาวมุสลิม คริสเตียนหรือพวกยิว แต่เพราะผู้คนเหล่านั้นเป็นชาวตะวันตก ได้ รับการศึกษาสูง ได้ใช้เครื่องมือและอุปกรณ์ทันสมัยนานาชนิด หาใช่ชาวยิวตะวันออกไม่ ซึ่งปัจจุบันในสายตาของพวกตะวันตกแล้ว ถือว่ายิวตะวันออกเป็นเศษรุงรังของสังคม นอกจากนี้ พวกตะวันตกยังได้ใช้เงินไม่ต่ำกว่า 3,000 ล้านเหรียญอเมริกัน เป็นค่าใช้จ่ายในการพัฒนา ไม่ใช่เอาจอบเอาเสียมมาขุดมาซุย แล้วเสกคาถาเนรมิตขึ้น !
เมื่อประมาณสิบหรือสิบห้าปีมานี้ รัฐคูเวตก็ได้พัฒนาประเทศของตน มีผู้สำเร็จการศึกษาชั้นสูงแขนงต่าง ๆ ทำนุบำรุงประเทศ มีประชากรที่มีรายได้สูงทัดเทียมกับของสหรัฐอเมริกา ที่รัฐคูเวตสามารถทำเช่นนี้ได้ก็เพราะมีคน และมีเงินมหาศาลอันเป็นรายได้จากบ่อน้ำมัน อย่างเดียวกับที่อิสราเอลสามารถทำได้ก็เพราะได้รับเงินจากยิวทั่วโลกหรือ องค์ การและประเทศต่าง ๆ เหลือคณานับนั่นเอง และมีชาวตะวันตกที่นับถือศาสนายูดายอพยพเข้ามาบุกเบิก
ถ้าชาวยิวยุโรปสำเร็จการศึกษาว่าด้วยการวิเคราะห์ที่ดินไปอยู่ในปาเลส ไตน์ หรือมีนักศึกษายิวสำเร็จจาก โรงเรียนเสนาธิการทหารในเวสต์ปอยด์-สหรัฐอเมริกา เช่น นายเดวิด (มิกกี้) มาร์คุสไปอยู่ในปาเลสไตน์โดยบอกเลิกการถือสัญชาติของตนเป็นชาวยุโรปหรือ ชาวอเมริกันก็ตาม บุคคลเช่นนั้นก็สามารถฟื้นฟูที่ดินและส่งเสริมกำลังของกองทัพอิสราเอลได้ นั่นเป็นผลจากการศึกษาแบบตะวันตก ไม่ใช่จากตะวันออกกลางที่พวกยิวกระหายจะไปยึดครองหรืออีกนัยหนึ่งนายคนนั้น เป็นชาวตะวันตกนั่นเอง
ยิ่งไปกว่านั้น จะเป็นบาปกรรมเปล่าๆ ที่จะมัวคุยเรื่องการพัฒนาที่ดิน เมื่อชาวอาหรับผู้เป็นเจ้าของที่ดินเองต้องลี้ภัยไปอยู่ในกระโจมตามค่ายสิ้น เนื้อประดาตัว
4.2 มีคำถามว่า แผ่นดินอิสราเอล ที่พวกยิวครองอยู่เวลานี้ก็เล็กนิดเดียว แต่พวกอาหรับมีดินแดนกว้างขวางทำไมพวกอาหรับจึงคัดค้านต่อต้าน การตั้งรัฐอิสราเอลซึ่งพวกยิวกำลังฟื้นฟูประเทศด้วยการพัฒนาอย่างเจริญรุด หน้าเล่า ?
คำถามเช่นนี้เริ่มด้วยการลบล้างสิทธิเจ้าของเดิม ซึ่งจะขอยกตัวอย่าง ว่า ขโมยคนหนึ่งได้บุกรุกเข้าไปทำลายทรัพย์สินของนายยากอบ เจวิตซ์ ซึ่งมีนิวาสสถานอยู่ที่นิวยอร์ก แน่นอนนายเจวิตซ์คงไม่ทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ แต่ต้องต่อสู้หรือต่อต้านการบุกรุกของผู้ร้ายเพื่อจับไปส่งให้เจ้าหน้าที่ลง โทษและเอาทรัพย์ สินของตนคืนมา ถ้าใครจะมาคิดว่า ก็ นายเจวิตซ์รวยออกอย่างนั้น มีที่ดินและทรัพย์สินกว้างขวาง ถูกคนร้ายบุกรุกขโมยเพียงเท่านี้จะเดือดร้อนทำไม? หรือมาเทียบกันว่าก็นายร็อกกี้เฟลเลอร์แกเป็นมหาเศรษฐี หรือนายลินดอน จอห์นสัน มีไร่มีฟาร์มใหญ่โตที่เท็กซัส เรื่องเล็กแค่นี้จะมามัวป้องกันสิทธิและ จับผู้ร้ายทำไม ไปขออาศัยนายร็อกกี้ เฟลเลอร์ หรือนายจอห์นสันก็ได้ ถ้าคิดกันเสียอย่างนี้ก็ไม่จำต้องมีกฎหมาย ไม่ ต้องรักษาสิทธิของส่วนบุคคล และคงยุ่งพิลึก เพราะเราจะมีสังคมที่แปลกขึ้นมา เป็นสังคมที่เลี้ยงขโมย!
ถ้ารัสเซียเข้าโจมตีรัฐอลาสกา โดยถือว่าแต่ก่อนนี้เคยเป็นของรัสเซีย อเมริกาก็จำต้องต่อสู้ ถ้าจะมีใครมาปลอบใจอเมริกาว่าปล่อยเขาเถอะน่า เพราะยังมีที่ดินอีกมากมายในภาคอื่นของสหรัฐอเมริกา คำพูดเช่นนี้ต้องเป็นของพวกเสียสติเป็นแน่ !
ในการที่จะพูดว่า มีที่ดินอยู่ว่างเปล่าในประเทศอิรัก, ซาอุดีอาระเบีย, อียิปต์ ควรที่จะให้พวกลี้ภัยปาเลสไตน์ไปตั้งหลักแหล่งในแผ่นดินนั้น เราก็เทียบได้จากตัวอย่างข้างต้นนั้น มิได้หมายความว่าถ้านายเจวิตซ์-ชาวยิว ได้สูญเสียทรัพย์สินของตนแล้ว ก็มาแก้ปัญหาว่านายร็อกกี้ เฟลเลอร์ซึ่งก็เป็นเพื่อนชาวยิวเหมือนกัน ยังมีทรัพย์สินและที่ดินเหลืออีกมาก จะเป็นไรไปกับที่ถูกผู้ร้ายแย่งเอาไปบ้าง ? จะให้เข้าใจเช่นนี้กระนั้นหรือว่า ถ้าชาวปาเลสไตน์ได้สูญเสียที่ดินของตน ก็มานั่งปลอบใจตนเองว่าไม่เป็นไร ยังมีที่ดินว่างเปล่าอีกมากในประเทศอาหรับ
ที่พวกยิวไซออนนิสม์คิดเช่นนี้ หรือพยายามชักจูงคนอื่นให้เข้าใจเช่นนี้ ก็เนื่องจากความโน้มน้าวสู่ลัทธิใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ Totalitarianism อย่างที่พวกล่าเมืองขึ้น, พวกเผด็จการเช่นฮิตเล่อร์, พวกคลั่งอำนาจทางทหาร เช่น ญี่ปุ่นสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งวิธีการเช่นนั้นบัดนี้ล้าสมัยเสียแล้ว
5. อู่ของประชาธิปไตย
5.1 พวกยิวไซออนนิสม์กล่าวว่า อิสราเอลเป็นอู่ หรือป้อมปราการแห่งประชาธิปไตยท่ามกลางรัฐและประเทศอาหรับทั้งหลายที่มีเจ้า และนักเผด็จการ ปกครองอันเต็มไปด้วยความล้าหลังและมะงุมมะงาหรา ขอให้เราพิจารณาข้อนี้ว่าประชาธิปไตยที่กล่าวนั้นมีความเป็นจริงอย่างไรบ้าง ?
5.2 อิสราเอลเป็นรัฐที่ตั้งขึ้นโดยอาศัยศาสนาและเชื้อชาติ คนไทย อินเดีย จีน รัสเซีย จะแห่กันไปตั้งหลักแหล่งในรัฐอิสราเอลไม่ได้เพราะไม่มีเชื้อชาติเป็นยิว และไม่ได้นับถือศาสนาของยิว ความเข้าใจที่ว่าจะต้องมีรัฐมุสลิม รัฐคริสเตียน รัฐยิวโดยเฉพาะ คนอื่นจะเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องบ้างโดยได้รับการยินยอมจากเจ้าบ้านไม่ได้ นั้นล้าสมัยเสียแล้ว ประเทศใดก็ตามที่อาศัยเชื้อชาติเท่านั้นเป็นเกณฑ์ เช่น ประเทศไทยจะตั้งข้อบังคับว่า คนไทยคือคนที่มีบรรพบุรุษเป็นไทยแท้ ๆ มาหลายชั่วโคตร และต้องนับถือพุทธศาสนาเท่านั้น ชาวจีนก็ดี ชาวอินเดียก็ดี หรือพวกฝรั่งก็ดี ที่ได้มาตั้งรกรากอยู่ในเมืองไทยช้านาน และมีลูกหลานมากมาย ได้เติบโต เล่าเรียน แต่งงาน และทำมาหาเลี้ยงชีพอยู่ในเมืองไทยตลอดมา จะไม่ถูกถือเป็นคนไทยนอกจากคนไทยแท้ชาวพุทธเท่านั้น เช่นนี้ไม่มีในเมืองไทย การที่แอฟริกาใต้ตั้งประเทศจำเพาะสำหรับคนผิวขาว โดยจำกัดคนผิวดำผู้เป็นเจ้าของประเทศแต่ดั้งเดิม ก็ถือว่าไม่เป็นประชาธิปไตย
ถ้าจะมีใครกล่าวว่า อเมริกาเป็นคริสเตียน หรืออเมริกาเป็นพวกคอเคซัส แน่นอน จะต้องได้รับการโต้ตอบทันที เพราะประชาธิปไตยของอเมริกานั้นคือการรวมเอาชนเผ่าต่าง ๆ เข้ามาเป็นชาติ เดียวกัน ประเทศเดียวกัน โดยไม่คำนึงถึงลัทธิความเชื่อถือ
เราได้เห็นเช่นนี้ในการตั้งรัฐอิสราเอลบ้างไหม ?
5.3 เพื่อสนับสนุนว่าอิสราเอลเป็นรัฐประชาธิปไตย พวกยิวไซออนนิสม์ กล่าวว่า มีชาวอาหรับเป็นผู้แทนอยู่ในสภาของอิสราเอล มีชาวอาหรับอาศัยอยู่ในอิสราเอลได้รับค่าแรงสูง และมีสิทธิเท่าเทียมพวกยิวทุกประการ
ข้อเท็จจริงมีว่า บรรดาผู้แทนชาวอาหรับเหล่านั้น ไม่ได้ถูกเลือกตั้งโดยประชาชนชาวอาหรับในอิสราเอล แต่โดยพวกคอมมิวนิสต์ และถือว่าผูกพันหรือเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์ที่เรียกว่า พรรคมาปัย ผู้แทนอาหรับในสภาอิสราเอล จึงต้องยกมือตามคำสั่งของพรรคและในหลายกรณีด้วยกัน การ ยกมือนั้นขัดต่อผลประโยชน์ของตาสีตาสาชาวอาหรับ ถ้าจะว่ากันตามจริง ชาวพื้นเมืองอาหรับต้องมีสิทธิ์ในการปกครองรัฐอิสราเอลมากกว่าพวกยิวและพวก ฝรั่งนับถือศาสนายูดายที่บุกรุกเข้ามา
การที่มีชาวอาหรับบางคนเป็นผู้แทนในสภาอิสราเอลนั้น ไม่ได้ทำให้รัฐนั้นเป็นประชาธิปไตยในความหมายที่แท้จริง หรือการที่มีผู้แทนนิโกรบางคนในวุฒิสภาของอเมริกา ก็ไม่ทำให้การเหยียดผิวน้อยลง ก็ไม่ได้ทำให้การร่วมโบสถ์ดีขึ้น หรือการที่มีประมุขของประเทศและประธานศาลฎีกาเป็นมุสลิม แต่ทหารส่วนใหญ่และตำรวจส่วนใหญ่ที่มีหน้าที่ปราบปรามนั้นเป็นฮินดู อย่างที่มีในอินเดียนั้นไม่ถือว่าเป็นภาพสะท้อนแห่งการเป็นประชาธิปไตย เพราะว่าประชาธิปไตยนั้นไม่ได้อยู่ที่สภาผู้แทนราษฎรหรือตรงที่การเลือกตั้ง หรือการที่มีผู้แทนคล้ายกับของตัวอย่างสองสามคนแทนชนกลุ่มน้อย แต่อยู่ที่การปฏิบัติ
ประชาธิปไตยคือแบบแผนของการปกครองที่ชนส่วนใหญ่ปกครอง และชนส่วนน้อยมีสิทธิ มีเสรีภาพ เช่น ในการพูด การสื่อสารมวลชน การนับ ถือศาสนา การประกอบอาชีพและการปกครองบ้านเมือง เป็นต้น (ดูเรื่อง Democracy ประชาธิปไตย ในเอ็นไซโครบิเดีย บริเต็นนิกะ ฉบับตีพิมพ์ ค.ศ.1964 เล่ม 7 หน้า 215) ในภาษาอังกฤษ คำ Democracy มาจากภาษากรีกของคำ Demos - ประชาชน และ Kratos การปกครอง หมายความว่าการปกครองโดยประชาชน การปกครองประชาชนโดยประชาชนนั้นเป็นระบอบของอิสลาม (อัลกุรอาน 42 : 38) และจะต้องมอบอำนาจแก่ผู้สมควรแก่ตำแหน่ง นั้น (4 : 58) ถ้าปฏิบัติตามนี้ได้บ้านเมืองจะร่มเย็นเป็นสุข ไม่เลอะเทอะและล้าหลัง !
สิทธิเสรีภาพของชนส่วนน้อยในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าเพียงแต่มีสิทธิเข้าไป ดื่มน้ำชากาแฟ ไปวัดไปวาไปโบสถ์หรือมัสยิดได้เท่านั้น แต่สิทธิของชนกลุ่มน้อยหมายความว่า มีหลักประกันที่ชนกลุ่มน้อยนี้จะทำหน้าที่ของชนกลุ่มใหญ่ได้ มีบทบาทอย่างสมบูรณ์ในด้านปกครองและบริหารประเทศ ไม่ได้หมายความว่า พอชนกลุ่มน้อยเป็นนายพล ก็ถูกจำกัดสิทธิและหน้าที่ จะต้องลาออกไปเอง หรือเป็นได้อย่างมากเพียงแค่นายอำเภอ หรือปลัดจังหวัด แต่จะเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดไม่ได้ หรือถ้าจะเป็นอะไรได้ก็เป็นจำพวกที่มีความรับผิดชอบน้อย ไม่สำคัญ การที่กระทรวงมหาดไทยแก้ ไขนโยบายการปกครองในสี่จังหวัดภาคใต้เมื่อเร็ว ๆ นี้โดยให้ชาวจังหวัดนั้นมีส่วนในการบริหารมากขึ้น ได้รับการศึกษาชั้นสูงได้ง่ายขึ้น จึงเข้าทำนองของประชาธิปไตยที่ว่าพยายามโอบอุ้มชนส่วนน้อยให้ทำหน้าที่ของ ชนกลุ่มใหญ่ได้ในด้านให้มีความรับผิดชอบต่อบ้านเมืองเช่นชนทั่วๆ ไป กล่าวคือเป็นคนไทย อย่างเต็มภาคภูมิ
ในรัฐอิสราเอล ถือกันว่า ชนส่วนใหญ่คือพวกยิว ชนส่วนอื่นคือตัวอย่างสำหรับอวดชาวต่างประเทศว่า นี่คือระบอบประชาธิปไตยแบบอิสราเอล การ เช่นนี้จะมีระบุในรัฐธรรมนูญหรือไม่นั้น ไม่เป็นเรื่องสำคัญเท่ากับการปฏิบัติที่ให้เห็นอยู่
ถ้าจะมีระบอบอันใดที่เรียกว่าประชาธิปไตยในอิสราเอลไซร้ ระบอบอันนั้นไม่ใช่เพื่อชาวอาหรับที่เป็นประ ชาชนอยู่ในอิสราเอล เพราะได้ถูกถือเป็นชนกลุ่มน้อยตลอดกาล การที่ชนกลุ่มน้อยจะมีความภาคภูมิในฐานะเป็นประชากร ของอิสราเอลเมื่อผู้นั้นเป็นชาวอาหรับด้วย จึงเป็นเรื่องสุดวิสัย เมื่อพิจารณาให้ลึกซึ้งก็จะพบการแบ่งแยกระหว่างยิวฝรั่งและยิวตะวันออกกลาง กองบรรณาธิการรุ่นอาวุโสของวารสาร Look ลุค ซึ่ง ออกจำหน่ายในสหรัฐอเมริกาได้ตีพิมพ์บทความสำรวจเรื่องนี้โดยเริ่มว่า “Israel is a testament to the inability of men to live together-อิสราเอลคือข้อพิสูจน์ของการไร้ความสามารถของมนุษย์ ที่จะอยู่ร่วมกัน” (วารสาร Look ลุค เรื่อง Prejudice in Israel - อคติในอิสราเอล โดย เจ. โรเบอร์ต มอสกิน ฉบับ 5 ตุลาคม 1965) ที่ว่าไม่สามารถจะอยู่ร่วมกันนั้น คือ การที่ยิวฝรั่งรังเกียจยิวพื้นเมืองหรือยิวอาหรับ
5.4 มีข้อไม่กินเกลียวกันระหว่างพระยิวออร์ทอด๊อกซ์และพระยิวคณะใหม่ (Reformed and Conservative Jews) ในรัฐอิสราเอล พระยิวคณะใหม่จะปฏิบัติ พิธีกรรมทางศาสนาไม่ได้ ต้องมอบให้เป็นหน้าที่ของพระยิวออร์ทอด๊อกซ์หรือเรียกว่าคณะเก่า แม้ว่าพระยิวคณะใหม่จะทำได้ ก็ไม่สะดวกหรือมีเสรีเท่าพระยิวคณะเก่า ว่ากันตามจริงแล้ว พวกยิวอเมริกันจะสดุดีระบอบประชาธิปไตยในอิสราเอลก็อิดเอื้อนไม่อยากอพยพไป อยู่ในรัฐอิสราเอลอย่างขนานใหญ่ จึงเห็นได้ว่าการสดุดีอย่างหนึ่งและการปฏิบัติอย่างหนึ่งนั้น ก็เพื่อจะให้ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งจากพวกยิวในอเมริกาเท่านั้นเอง
ในขณะที่มีชาวอาหรับจำนวนไม่น้อยกล้าตำหนิระบอบการปกครองของอาหรับบางประเทศ ว่าไม่เป็นประชาธิปไตย จะมียิวสักคนไหมที่จะกล้าเปิดเผยและตำหนิระบบการปกครองในอิสราเอลที่เรียกตน เองว่าเป็นประชาธิปไตย ถ้า ในประเทศอาหรับไม่มีประชาธิปไตยพวกยิวจะห่วงหาประชาธิปไตยตามความหมายที่แท้ จริงของมันทำไม ?
5.5 อีกข้อหนึ่ง ที่เราจะต้องพิจารณาก็คือ อิสราเอลเป็นรัฐทหาร เพราะฉะนั้นกองทัพอันมีประสิทธิภาพของรัฐเล็ก ๆ นี้จึงมีเสียงดังในการวางนโยบายและตัดสินปัญหาต่าง ๆ โดยไม่คำนึงว่าพลเรือนจะมีอำนาจควบคุมนโยบายการบริหารหรือไม่ ตัวอย่างเช่นนี้มีให้เห็นได้ง่าย ๆ อยู่ทั่ว ๆ ไป ว่ารัฐบาลทหารดังกว่าฝ่ายพลเรือน เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว จะกล่าวไปใยถึงเสรีภาพของการสื่อสารมวลชน เสรีภาพ สิทธิและเสรีภาพของชนกลุ่มน้อยในด้านการ ปกครอง
6. มติของสหประชาชาติ
6.1 มีข้ออ้างอีกว่า การตั้งรัฐอิสราเอลนั้นเป็นไปโดยมติของสหประชาชาติ โดยที่สหประชาชาติเป็นตัวแทนของประเทศต่าง ๆ ในโลก จึงจำต้องเป็นที่ยอมรับ
ข้ออ้างนี้ก็อีกนั่นแหละ เหมือนเอาแว่นสีเขียวสวมใส่ให้ม้าเห็นฟางเป็นหญ้าสด สหประชาชาติเป็นตัวแทนของประเทศที่เป็นสมาชิกในการลงมตินั้น หาได้มีตัวแทนของชาวปาเลสไตน์ร่วมอยู่ไม่ และหาได้รับยินยอมจากประเทศอาหรับที่เป็นคู่กรณี และเป็นพี่น้องอาหรับกับชาวปาเลสไตน์ไม่ แม้ว่าสหประชาชาติจะเป็นองค์การของโลก แต่ในนั้นก็มีก๊ก อันขึ้นต่ออิทธิพลของ มหาอำนาจ มีมติของสหประชาชาติหลายสิบข้อ ที่หลายประเทศไม่นำพา ไม่เคารพ และโดยเฉพาะที่อิสราเอลไม่สนใจและไม่ใยดี แม้จะเป็นสมาชิกของสหประชาชาติก็ตาม อย่างนี้สหประชาชาติจะทำอย่างไร มีอำนาจเด็ดขาดเพียงใด?
6.2 อนึ่ง โปรดจำแนกความเข้าใจเสียด้วยว่า สหประชาชาติไม่ได้ลงมติให้ตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นซ้อนประเทศปาเลส ไตน์ แต่ได้ลงมติเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 1947 ให้แยกปาเลสไตน์ออกเป็นรัฐยิวส่วนหนึ่ง รัฐอาหรับส่วนหนึ่ง และให้ถือดินแดนแถบเยรูซาเล็มเป็นเขตกลาง โดยคะแนนเสียงเห็นด้วย 33 ไม่เห็นด้วย 13 งดออกเสียง 10 หลังจากอังกฤษได้ถอนทหารออกจากปาเลสไตน์ พวกยิวจึงประกาศตั้งรัฐอิสราเอลขึ้นเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 1948 โดยมีสหรัฐอเมริกาในสมัยของประธานาธิบดีทรูแมนเป็นรายแรกที่รับรอง
ปัญหาของแคชเมียร์ก็ดี ปาเลสไตน์ก็ดี อาฟริกาใต้ก็ดี จีนแดงก็ดี และอื่น ๆ อีกมากมาย ล้วนแสดงสมรรถภาพของสหประชาชาติทั้งสิ้นว่า การใด ๆ นั้นจะสำเร็จได้ต่อเมื่อมหาอำนาจมีส่วนร่วมประโยชน์ด้วย ถ้าประเทศมหาอำนาจมีความจริงใจที่จะปฏิบัติตามกฎบัตรของสหประชาชาติด้วยกัน ทุกฝ่ายแล้ว สหประชาชาติก็จะเป็นองค์การที่มีประสิทธิภาพยิ่ง มิฉะนั้นก็จะเป็นการชักคะเย่อหรือตีลูกขนไก่ให้ประเทศน้อยได้ชมเล่นหรือระทม ใจเท่านั้นเอง