คอลัมน์ เรื่อง : การค้ำประกัน โดย : สู้คดีดอทคอม
คอลัมน์ กฎหมายน่ารู้ โดย : สู้คดีดอทคอม sukadee.com
ในปัจจุบันการทำธุรกรรมทางการเงินโดยเฉพาะการกู้ยืมเงินไม่ว่าจากสถาบันการเงิน เช่นจากธนาคาร จากสหกรณ์ออมทรัพย์หรือจากบุคคลธรรมดาก็ตาม ธนาคาร สหกรณ์ออมทรัพย์หรือผู้บุคคลผู้ที่ให้กู้ยืมเงินผู้เป็นเจ้าหนี้มักจะให้ผู้กู้ยืมเงินหรือลูกหนี้ใช้หลักทรัพย์ เช่น บ้านพร้อมที่ดิน ที่ดินเปล่า หรือเครื่องจักร มาเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ หากไม่มีหลักทรัพย์เป็นหลักประกันการชำระหนี้โดยการจดทะเบียนจำนองแล้ว ก็มักจะขอให้หาบุคคลมาเป็นผู้ค้ำประกันการชำระหนี้ หากมีบุคคลที่ท่านรู้จักมาขอร้องให้ท่านเป็นผู้ค้ำประกันหนี้สิน ท่านจะยินยอมเป็นผู้ค้ำประกันบุคคลนั้นหรือไม่? ในเรื่องนี้ท่านควรเข้าใจเรื่องการค้ำประกันตามที่กฎหมายกำหนดไว้พอเป็นสังเขปแก่ท่านอีกทั้งคำสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้จากพระคัมภีร์เพื่อประกอบการตัดสินใจของท่าน หากเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นกับท่านในอนาคต
การค้ำประกันคืออะไร? เรื่องนี้ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๘๐ วรรคแรก บัญญัติว่า อันว่าค้ำประกันนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลภายนอกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้คนหนึ่งเพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ วรรคสองบัญญัติว่า อนึ่งสัญญาค้ำประกันนั้น ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างใดอย่างหนึ่งลงลายมือชื่อผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญ ท่านว่าจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
เรื่องค้ำประกันนี้อ่านกฎหมายแล้วเข้าใจได้ทันทีเกือบไม่ต้องให้ใครแปลหรืออธิบายให้ฟัง คือ
๑. ผู้ค้ำประกันเป็นบุคคลภายนอก คือเป็นบุคคลที่ไม่ใช่ลูกหนี้และไม่ใช่เจ้าหนี้ เพราะสัญญาค้ำประกันเป็นการประกันการชำระหนี้ด้วยบุคคล
๒. มีหนี้ระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี
๓. เป็นเรื่องการที่ผู้ค้ำประกันผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
ข้อนี้ชัดเจนมาก พูดง่ายๆคือเมื่อท่านเป็นผู้ค้ำประกันหมายความว่าท่านตกลงยินยอมผูกพันตนของท่านต่อเจ้าหนี้เพื่อเป็นผู้ชำระหนี้แทนหากผู้ที่ท่านค้ำประกันไม่ชำระหนี้นั้น
เมื่อท่านตกลงยินยอมเป็นผู้ค้ำประกัน หมายความว่า ลูกหนี้เป็นหนี้แล้วไม่ใช้หนี้เป็นจำนวนเงินเท่าได ท่านจะต้องชดใช้หนี้แทนเป็นจำนวนเงินเท่านั้น
พระคัมภีร์สอนเรื่องการค้ำประกันอย่างไร? สุภาษิต 6:1-5 “บุตรชายของเราเอ๋ย ถ้าเจ้าเป็นผู้ค้ำประกันเพื่อนบ้านของเจ้า ได้ทำสัญญาให้แก่คนอื่น ถ้าเจ้าติดบ่วงเพราะคำจากปากของเจ้า และเจ้าติดกับเพราะคำพูดของเจ้า บุตรชายของเราเอ๋ย จงทำอย่างนี้และช่วยตัวเจ้าให้รอดเถิด เพราะเจ้าตกอยู่ในกำมือเพื่อนบ้านของเจ้าแล้ว ไป รีบไปวิงวอนเพื่อบ้านของเจ้า อย่าให้ตาของเจ้าหลับลงอย่าให้หนังตาของเจ้าปรือไป จกปลีกตัวของเจ้าจากภัย อย่างละมั่งที่ปลีกตัวจากพราน อย่างนกจากมือของคนจับนก” จากพระคัมภีร์ตอนนี้อ่านแล้วพอจะเห็นภาพง่ายๆดังนี้ ผู้ค้ำประกัน คือ ผู้ที่ติดบ่วง ติดกับ ตกในกำมือของคนอื่น ถึงกับไม่สามารถนอนหลับได้ มีภัยถึงชีวิต เหมือนละมั่งในมือของนายพรานและนกในมือของคนจับนก
ผู้ค้ำประกัน ตามความหมายของพระคัมภีร์ข้อนี้ หมายถึงบุคคลที่ยินยอมผูกพันตนรับผิดชอบต่อความประพฤติหรือหนี้สินของบุคคลอีกคนหนึ่ง (ซึ่งตรงกับความหมายของกฎหมายไทย)
ตัวอย่างเรื่องการค้ำประกัน (รับประกัน) ที่เห็นชัดเจนในพระคัมภีร์คือ เมื่อโยเซฟสั่งพวกพี่น้องว่าหากจะมาซื้ออาหารที่ประเทศอียิปต์คราวหน้าให้พาน้องคนสุดท้องมาด้วย ต่อมาเมื่ออาหารที่ซื้อคราวแรกหมดแล้ว ยาโคบต้องการให้ลูกๆไปซื้ออาหารที่อียิปต์อีก ยูดาห์พูดแก่ยาโคบว่า “ลูกรับประกันน้องคนนี้ พ่อจะเรียกร้องให้ลูกรับผิดชอบได้ ถ้าลูกไม่นำเขากลับมาหาพ่อและส่งเขาต่อหน้าพ่อ ก็ขอให้ลูกรับผิดต่อพ่อตลอดชีวิต” ปฐมกาล 43:9 ภายหลังเมื่อไปซื้ออาหารคราวที่สองโยเซฟออกอุบายกักตัวเบนจามินไว้ ยูดาห์ได้วิงวอนต่อโยเซฟเพื่อเบนจามินว่า “ข้าพเจ้าผู้รับใช้ของท่าน รับประกันน้องไว้ต่อบิดาว่า ถ้าข้าพเจ้าไม่พาน้องกลับมา ข้าพเจ้าจะรับผิดต่อบิดาตลอดชีวิต” ปฐมกาล 44:32
ในพระธรรมสุภาษิต 22:26 อย่าเป็นพวกที่ตกปากลงคำ อย่าเป็นพวกผู้ประกันหนี้สิน
ผู้เขียนบทความนี้เคยมีประสบการณ์ด้วยตนเองโดยเคยเป็นผู้ค้ำประกันการเช่าซื้อรถยนต์ป้ายแดงราคาหนึ่งล้านกว่าบาท ภายหลังจากลูกหนี้ผู้เช่าซื้อผ่อนส่งค่าเช่าซื้อไปได้สักระยะหนึ่งก็มีปัญหาด้านการเงิน ในที่สุดก็ขาดการสงเงินค่าเช่าซื้อและผิดสัญญาเช่าซื้อ บริษัทผู้ให้เช่าซื้อรถยนต์ฟ้องทั้งผู้ซื้อและผู้เขียนบทความนี้ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันให้ชดใช้เงินในฐานะลูกหนี้ร่วมจำนวนทุนทรัพย์ประมาณสามแสนกว่าบาท ในที่สุดผู้เขียนบทความได้ใช้ความรู้ความสามารถและประสบการณ์ในการทำงานในทางกฎหมายต่อสู้คดีมาได้จนศาลพิพากษายกฟ้อง พูดได้คำเดียวว่า เข็ดแล้ว และไม่ใช่ผลการสู้คดีเช่าซื้อทุกคดีจะเป็นเช่นนี้ ส่วนมากมักจะเป็นตรงกันข้าม
ถ้าหากไม่ใช่สามี ภรรยา บุคคลในครัวเรือนหรือลูกหลาน ท่านอย่าเป็นผู้ค้ำประกันใครเลยจะปลอดภัยที่สุด เพราะการค้ำประกันเป็นเรื่องที่ท่านสมัครใจผูกพันตนต่อเจ้าหนี้เพื่อชำระหนี้ในเมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้นั้น
ขอเตือนสติท่านอีกครั้งจาก พระธรรมสุภาษิต 11:15 บุคคลผู้รับประกันคนอื่นจะต้องทนทุกข์ แต่คนที่เกลียดการรับประกันย่อมปลอดภัย
ท่านจะต้องทนทุกข์หรือท่านจะปลอดภัย ท่านเป็นผู้ตัดสินใจเลือกเอง
แก้ไขล่าสุด (วันพุธที่ 20 มิถุนายน 2012 เวลา 21:55 น.)