1.พระเจ้า 2 ชนิด (Two Kinds of God)
พระเจ้า 2 ชนิด
(Two Kinds of God)
เขียนโดย…บรรพต เวชกามา (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี) วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม 2012 เวลา 14:00 น.
หลายคนมักจะคิดและเข้าใจว่า พระเยซูเป็นศาสดาของศาสนาคริสต์ หรือเป็นผู้ก่อตั้งศาสนาคริสต์ แท้จริงพระองค์ไม่ได้เป็นศาสดาหรือผู้ก่อตั้งศาสนาคริสต์ ถ้าจะแสวงหาว่าใครเป็นผู้ก่อตั้งศาสนาคริสต์ที่ใช้รูปแบบ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของกรีก-โรมัน ผู้นั้นคือเปาโล เพราะเปาโลเป็นผู้ที่นำ “บารมีของพระเจ้า” ออกจาก รูปแบบ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของยิว ไปสวมใส่ของกรีก-โรมัน
ถ้าพระองค์ไม่ใช่ผู้ก่อตั้ง และไม่ใช่ศาสดาของศาสนาคริสต์แล้วพระองค์เป็นใคร? มีความสำคัญอย่างไร? คำตอบก็คือ พระองค์เป็นพระเจ้าผู้สร้างโลก สร้างทุกสิ่งทุกอย่างทั้งที่ปรากฏแก่ตา และไม่ปรากฏแก่ตา
พระเจ้ามีอยู่ 2 แบบ
คำว่า “พระเจ้า” นี้มีสองแบบด้วยกัน คือ พระเจ้าแบบบุคคล และพระเจ้าที่ไม่ใช่บุคคล เนื่องจาก“ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย พระบุตรของเดียวผู้ทรงสถิตอยู่ในทรวงของพระบิดา พระองค์ได้ทรงสำแดงพระเจ้าแล้ว” (ยน 1:18) ดังนั้นเมื่ออธิบายพระองค์ เราจึงอธิบายว่า พระองค์ที่เป็นเหมือนบุคคล หมายความว่า เราใช้คนเป็นแบบอย่าง (Model) ในการอธิบายพระองค์ คือ มีหู มีตา มีปาก มีฟัน มีความรู้สึกนึกคิดต่างๆเหมือนกับคน พระเจ้าแบบนี้มีอยู่ในศาสนายิวหรือยูดาย ศาสนาคริสต์ ศาสนาอิสลาม และศาสนาฮินดู พระองค์เป็นพระเจ้าสูงสุด เป็นพระเจ้าองค์เดียว
พระนามของพระเจ้าแบบบุคคลในภาษาฮีบรู
ในพระคัมภีร์ภาษาฮีบรู พระนามของพระเจ้าแบบบุคคลมีอยู่หลายพระนาม แต่เมื่อแปลออกมาเป็นภาษาไทยแล้ว มักจะแปลว่า พระเจ้า หรือองค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น ชื่อของพระเจ้าแบบบุคคลตามที่ปรากฏนี้ เป็นชื่อตามภาษาฮีบรู ตามที่คนในพระคัมภีร์เรียกชื่อพระองค์ ซึ่งมีดังต่อไปนี้
1. อีโลฮิม (Elohim=พระเจ้า) “ในปฐมกาลพระเจ้าทรงเนรมิตสร้างฟ้าและแผ่นดิน” (ปฐก 1:1)
2. เยโฮวาห์ (Jehovah=องค์พระผู้เป็นเจ้า) “พระเจ้าทรงเห็นว่าความชั่วช้าของมนุษย์มีมากบนแผ่นดิน และทรงเห็นว่าเค้าความคิดในใจของเขาล้วนเป็นเรื่องร้ายเสมอไป” (ปฐก 6:5)
3. เยโฮวาห์ อีโลฮิม (Jehovah Elohim=องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้เป็นพระเจ้า) “พระเจ้าทรงปั้นมนุษย์ด้วยผลคลีดิน ระลายลมปราณเข้าทางจมูก มนุษย์จึงเป็นผู้มีชีวิต” (ปฐก 2:7)
4. อโดนัย (Adonai=องค์พระผู้เป็นเจ้า ผู้ครอบครอง ผู้เป็นเจ้านาย) “พระองค์ทรงสำแดงแก่ข้าพเจ้าว่า ดูเถิด พระเจ้าประทับยืนอยู่ที่ข้างกำแพงสร้างด้วยใช้สายดิ่ง มีสายดิ่งอยู่ในพระหัตถ์ และพระเจ้าตรัสกับข้าพเจ้าว่า ‘อาโมสเอ๋ย เจ้าเห็นอะไรและข้าพเจ้าทูลว่า “สายดิ่งเส้นหนึ่งพระเจ้าข้า’ แล้วพระเจ้าตรัสว่า ‘ดูเถิด เรากำลังเอาสายดิ่งจับท่ามกลางอิสราเอลประชากรของเรา เราจะไม่ผ่านเขาไปอีก”’ (อมส 7:7-8)
5. เยโฮวาห์ ซาบาโอธ (Jehovah Sabaoth=องค์พระผู้เป็นเจ้าแห่งพลโยธา) “พระองค์ผู้ทรงเป็นส่วนของยาโคบ ไม่เหมือนสิ่งเหล่านี้ เพราะพระองค์ทรงเป็นผู้ที่ก่อร่างทุกสิ่งขึ้น และอิสราเอลเป็นเผ่าที่เป็นมรดกของพระองค์ พระเยโฮวาห์จอมโยธาเป็นพระนามของพระองค์” (ยรม 10:16)
6. เอล ชัดได (El Shaddai=พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่) “เมื่ออายุอับรามได้เก้าสิบเก้าปี พระเจ้าทรงปรากฏแก่อับรามและตรัสแก่ท่านว่า “เราเป็นพระเจ้าผู้ทรงมหิทธิฤทธิ์ จงดำเนินอยู่ต่อหน้าเรา และเป็นคนดีพร้อม” (ปฐก 17:1)
7. เอล เอลยอน (El Elyon=พระเจ้าผู้ดำรงอยู่ชั่วนิรันดร์) “อับราฮัมปลูกต้นแทมริสก์ไว้ที่เบเออร์เชบา และนมัสการออกพระนามพระเยโฮวาห์พระเจ้านิรันดร์ที่นั่น” (ปฐก 21:33)
8. เยโฮวาห์ ยิเรห์ (Jehovah-Jireh=องค์พระผู้เป็นเจ้าจัดเตรียมไว้) “อับราฮัมจึงเรียกสถานที่นั้นว่า เยโฮวาห์ยิเรห์ อย่างที่เขาพูดกันทุกวันนี้ว่า ‘จะจัดไว้บนภูเขาของพระเยโฮวาห์”’ (ปฐก 22:14)
9. เยโฮวาห์ ราฟา (Jehovah-rapha=พระเจ้าผู้รักษาโรค) “พระองค์ตรัสว่า “ถ้าเจ้าทั้งหลายฟังเสียงของพระเจ้าของเจ้า และกระทำสิ่งที่ชอบในสายพระเนตรของระองค์ เงี่ยหูฟังพระบัญญัติของพระองค์ และปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของพระองค์ทุกประการแล้วโรคต่างๆ ซึ่งเราบันดาลให้เกิดแก่ชาวอียิปต์นั้น เราจะไม่ให้บังเกิดแก่พวกเจ้าเลย เพราะเราคือพระเจ้าแพทย์ของเจ้า” (อพย 15:26)
10. เยโฮวาห์ นิสสิ (Jehovah-nissi=องค์พระผู้เป็นเจ้าคือธงแห่งชัยชนะ) “โมเสสจึงสร้างแทนบูชาเรียกเชื่อว่า “เยโฮวาห์นิสสี กล่าวว่า “พระหัตถ์บนพระบัลลังของพระเจ้า พระองค์จะทรงกระทำสงครามกับอามาเลขต่อไปทุกชั่วชาตพันธุ์” (อพย 17:15)
11. เยโฮวาห์ ชาโลม (Jehovah-shalom=องค์พระผู้เป็นเจ้าคือสันติภาพ) “ฝ่ายกิเดโอนก็สร้างแท่นบูชาแท่นหนึ่งถวายพระเจ้าที่นั่นและเรียกตำบลนั้นว่า พระเจ้าคือสวัสดิภาพ ทุกวันนี้แท่นนั้นก็ยังอยู่ที่โอฟราห์ ซึ่งเป็นของตระกูลอาบีเยเซอร์” (วนฉ 6:24)
12. เยโฮวาห์ ราห์ (Jahovah-raah=องค์พระผู้เป็นเจ้าคือผู้เลี้ยงแกะ) “พระเจ้าทรงเลี้ยงดูข้าพเจ้าดุจเลี้ยงแกะ ข้าพเจ้าจะไม่ขัดสน” (สดด 23:1)
13. เยโฮวาห์ ทสิดเกนู (Jehovaah-tsidken=องค์พระผู้เป็นเจ้าคือความชอบธรรม) “ในสมัยของท่าน ยูดาห์จะหลุดพ้นได้ และอิสราเอลจะอาศัยอยู่อย่างมั่นคง และนี่จะเป็นนามซึ่งเราจะเรียกท่าน คือ พระเจ้าเป็นความชอบธรรมของเรา” (ยรม 23:6)
14. เยโฮวาห์ ชามมาห์ (Jahovah-shammah=องค์พระผู้เป็นเจ้าสถิตอยู่ที่นั่น) “วัดรอบนครนั้นได้หนึ่งหมื่นแปดพันศอก ตั้งแต่นี้ไปนครนี้มีชื่อว่า พระเจ้าสถิตที่นั่น” (อสค 48:35)
15. อโดไน เยโฮวาห์ (Adonai Jehovah=องค์พระผู้เป็นเจ้าผู้ครอบครอง ผู้เป็นพระเจ้า) “อับรามทูลว่า “ข้าแต่พระเจ้า (ผู้ครอบครอง) ข้าพระองค์จะรู้ได้อย่างไรว่าจะได้ดินแดนนี้เป็นกรรมสิทธิ์” (ปฐก 15:8)
16. เราเป็นซึ่งเราเป็น (I am who I am) “ฝ่ายโมเสสทูลพระเจ้าว่า “เมื่อข้าพระองค์ไปหาชนชาติอิสราเอล และบอกพวกเขาว่า พระเจ้าแห่งบรรพบุรุษของท่านทั้งหลายทรงสั่งข้าพเจ้ามาหาท่าน และเขาจะถามข้าพระองค์ว่า พระองค์ทรงพระนามว่ากระไร ข้าพระองค์จะตอบเขาอย่างไร พระเจ้าจึงตรัสกับโมเสสว่า “เราเป็นผู้ซึ่งเราเป็น” แล้วพระองค์ตรัสว่า “ไปบอกชนชาติอิสราเอลว่า พระองค์ผู้ทรงพระนามว่า “เราเป็น” ทรงใช้ข้าพเจ้ามาหาท่านทั้งหลาย” (อพย 3:13-14) พระเยซูตรัสกับเขาว่า “เราบอกความจริงแก่ท่านว่า ก่อนอับราฮัมเกิดมานั้นเราเป็นอยู่แล้ว” (ยน 8:58)
17. อัลฟา และโอเมกา (The alpha and the Omega=เบื้องต้นและเบื้องปลาย) “พระเจ้าผู้ทรงอยู่เดี๋ยวนี้ ผู้ได้ทรงอยู่ในกาลก่อน ผู้จะเสด็จมานั้น และผู้ทรงฤทธานุภาพสูงสุด ได้ตรัสว่า “เราเป็นอัลฟา และโอเมกา” (เบื้องต้นและเบิ้องปลาย) (วว 1:8)
ความหมายของพระเจ้าที่ไม่เป็นบุคคล
ส่วนพระเจ้าที่ไม่เป็นบุคคลนั้น คือ “พระธรรม” หรือ “ธรรมะ” เนื่องจากพุทธศาสนา ไม่ยอมรับว่ามีพระเจ้าแบบบุคคล แต่ยอมรับว่ามีพระเจ้าที่ไม่ใช่บุคคล ดังที่ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ว่า:
“ทีนี้ก็มาถึงพระเจ้าโดยชื่อ พระเจ้านี้จะเรียกชื่อว่าอะไร ในภาษาไทยเราเรียกพระเจ้า พระเจ้าของคริสเตียน หรือที่เนื่องจากคริสเตียนก็เรียกว่าพระเยโฮวาห์ (Jehovah) ศาสนาอิสลาม เขาเรียกชื่อพระเจ้าว่า อัลหล่า นี้เขามีชื่อกันทั้งนั้น ในพุทธศาสนาเล่า พระเจ้ามีชื่อว่าอะไร ตรงนี้ต้องขอเวลาอธิบายกันสักหน่อย คือขอให้ย้อนไปพิจารณาจากเรื่องธรรมะ 4 ความหมาย
ความหมายของธรรมะ 4 ประการ
-ธรรมะ คือตัวธรรมชาติ นี้ความหมายหนึ่ง
-ธรรมะ คือกฎของธรรมชาติ นี้ความหมายหนึ่ง
-ธรรมะ คือหน้าที่ตามกฎของธรรมชาติ นี้ความหมายหนึ่ง และ
-ธรรมะคือผลอันเกิดจากหน้าที่นั้น อีกความหมายหนึ่ง รวมเป็น 4 ความหมาย (และอีกอย่างหนึ่งคือคำสอนของพระพุทธเจ้า=ผู้เขียน)
พระธรรมที่เป็นกฎธรรมชาติคือพระเจ้า
แล้วพระธรรมในความหมายที่ 2 คือกฎของธรรมชาตินั่นเองเป็นชื่อของพระเจ้า ถ้าจะเรียกกันสั้น ๆ เราก็ต้องเรียกว่า พระธรรมเป็นชื่อของพระเจ้า
ในพระธรรมตามความหมายที่ 2 ที่เรากำลังพูดถึง คือกฎของธรรมชาติ จะใช้คำว่ากฎของธรรมชาติเป็นชื่อของพระเจ้ามันก็รุ่มร่าม แต่ที่ถูกมันเป็นอย่างนั้น ธรรมะหรือพระธรรมในฐานะที่เป็นกฎของธรรมชาติ นั้นแหละคือพระเจ้า ตามความหมายทางพุทธศาสนา
พระธรรมเป็นที่เคารพของพระพุทธเจ้า
พระธรรมในลักษณะนี้ เป็นที่เคารพ แม้แต่พระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าท่านตรัสขึ้นมาเองว่า ตถาคตจะอยู่โดยมีที่เคารพ และธรรมะที่ตรัสรู้และนำมาสอนนั่นแหละเป็นที่เคารพของตถาคต สิ่งที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และนำมาสอนอันลึกซึ้ง ก็คือความจริงของธรรมชาติ ซึ่งเราเรียกกันว่า สัจธรรม ฉะนั้นสัจธรรมจะเป็นชื่อของพระเจ้าในความหมายนี้ก็ได้ แต่อาตมาชอบคำว่าพระธรรมเฉยๆ หรือธรรมเฉยๆ เป็นชื่อของพระเจ้า ที่เราจะมีกันในหมู่พุทธบริษัท พูดง่ายๆ ก็ว่าพุทธบริษัทมีพระเจ้า แล้วก็เรียกว่าพระธรรม
พระธรรมรวมอยู่ในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าด้วย
บางคนอาจจะสงสัยว่าก็เป็นพระธรรมที่รวมอยู่ในชุดพระรัตนตรัยสามอย่าง คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้นหรือย่างไร ก็อยากจะบอกว่า พระธรรมที่นี่ มีความหมายไกลขึ้นไปถึงกฎของธรรมชาติอันสูงสุด และก็รวมคำว่า พระธรรมในพระรัตนตรัยเข้าไว้ด้วย หลักพระธรรมก็ดี การปฏิบัติก็ดี ก็รวมอยู่ในคำว่าธรรม หรือพระธรรมในความหมายอันสูงสุดนั้น
ทีนี้จะชี้ให้เห็นชัดลงไปอีกว่า ธรรมในที่นี่หมายถึงธรรมเรื่องอะไร พระธรรมในความหมายอย่างไร ในเรื่องอะไร โดยเฉพาะเจาะจงขึ้นไปอีก ทีนี้มันก็จะกลายเป็นเรื่องของผู้คงแก่เรียน คนทั่วๆ ไปจะฟังไม่ค่อยเข้าใจ เว้นไว้แต่จะพยายามฟังหรือศึกษา
พระธรรมมีอยู่ก่อนพระพุทธเจ้า
เราเคยบรรยายเรื่องอิทัปปัจจยตา อ้างพระพุทธภาษิตมาเห็นชัดที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า “ตถาคตจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม ตถาคตทั้งหลายนะ ในลักษณะเป็นพหูพจน์ คือมาก ตถาคตทั้งหลายจะเกิดหรือไม่เกิดขึ้นก็ตาม ธรรมธาตุนั้นก็มีอยู่แล้วในฐานะเป็นธัมมัฏฐิตตา ธัมมนิยามตา ธรรมธาตุนั้นเป็นตถา คือมีความเป็นอย่างนั้น ธรรมธาตุนั้นเป็นอวิตถตา ธรรมธาตุนั้นมีความไม่เป็นอย่างอื่นจากความเป็นอย่างนั้น นี่คือชื่อของพระเจ้า หรือจะถือว่าเป็นคุณลักษณะของพระเจ้าสำคัญอยู่ตรงที่คำว่าตถา คำว่าตถาแปลว่าอย่างนั้น ผู้ใดถึงตถา ผู้นั้นเรียกว่าตถาคต ถึงตถาก็คือถึงพระเจ้าที่พูดอย่างสมมติ ไม่ผิดจากความเป็นอย่างนั้น เป็นกฎเกณฑ์ของธรรมดา เป็นการตั้งอยู่ตามธรรมดา
ความหมายของคำว่าตถา
ตถา ความเป็นอย่างนั้น ในทางพระพุทธศาสนาเล็งถึงเรื่องสำคัญ 3 เรื่อง คือกฎอันเกี่ยวกับอริยสัจโดยตรง นี้เราไม่ต้องเปรียบเทียบ พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้เองว่า ตถามีอยู่ 4 อย่าง คือ
-ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี่คือ ตถา กฎเกี่ยวกับ 4 อย่างนี้เรียกว่า ตถา นี่คือตัวสัจจะที่เป็นพระเจ้า แล้วก็กฎเรื่อง
-อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี่ก็เป็นตถา แล้วก็กฎเรื่อง
-ปฎิจจสมุปบาททั้งชุดที่ก็เป็นตถา แต่มักจะเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า อิทัปปัจจยตา จะเรียกว่าตถาก็ได้ จะเรียกว่าตถตาก็ได้ จะเรียกว่า อวิตถตาก็ได้ เรียกว่าอนัญญาถตาก็ได้ เรียกว่า ธัมมัฏฐิตตาก็ได้ ธัมมนิยามตาก็ได้ ใจความมันเหมือนกันหมด คือความเป็นอย่างนั้น ตั้งอยู่โดยความเป็นอย่างนั้น คือจะเป็นอย่างอื่นไม่ได้
ข้อเปรียบเทียบระหว่างพระเจ้าแบบบุคคลและพระเจ้าที่ไม่ใช่บุคคล
นี่คือตัวกฎของธรรมชาติ ที่เป็นความหมายของคำว่า ธรรมะ ในความหมายที่ 2 เรียกว่ากฎของธรรมชาติ นี่คือตัวพระเจ้าในพุทธศาสนา ทีนี้มันจะเป็นบุคคลไม่ได้ จะเป็นบุคคล มีลักษณะอย่างบุคคล เหมือนพระเจ้าในศาสนาพราหมณ์ ศาสนายิว คริสต์ อิสลามไม่ได้ เพราะว่าเรามีพระเจ้าอย่างแบบที่ไม่ใช่คน แล้วทำไมไม่เรียกพระเจ้า ก็เพราะมีคุณสมบัติ มีลักษณะ มีสมรรถนะ มีอะไรทุกอย่างเหมือนกับพระเจ้าชนิดที่เขาเรียกกันอย่างคน
พระเจ้าอย่างบุคคลเป็นปฐมเหตุทุกสิ่งในสากลจักรวาล เราก็มีพระเจ้าตถานี่แหละเป็นปฐมเหตุของทุกสิ่งในสากลจักรวาล
-เขาว่าพระเจ้าสร้างโลก
-เราว่ากฎตถาหรือตถตานั่นแหละสร้างโลก
-เขาว่าพระเจ้าควบคุมโลกเพิกถอนโลก
-เราก็ว่ากฎตถานั่นแหละควบคุมโลกและเพิกถอนโลก
-เขาว่าพระเจ้าอยู่ในที่ทุกหนทุกแห่งเป็น Omnipotent พระเจ้าผู้ยิ่งใหญ่กว่าสิ่งใด
-เราก็ว่ากฎตถตานี่แหละมันใหญ่กว่าสิ่งใด
-พระเจ้าเป็นสิ่งที่อยู่ในทุกหนทุกแห่ง
-กฎของธรรมชาติอยู่ในทุกสิ่งทุกแห่ง
ในทุกปรมาณูของสิ่งทุกสิ่งที่มีอยู่ในโลก เป็นมนุษย์ก็ได้ ไม่ใช่เป็นมนุษย์ก็ได้ นี่ฟังดูให้ดีๆ ว่า แม้ในปรมาณูหนึ่งๆ ของร่างกายคนที่ประกอบเป็นมนุษย์นี้ก็มีพระเจ้า
จริงอยู่พวกโน้นเขาก็ว่าอย่างนี้ แม้เราก็กล่าวได้อย่างนี้โดยไม่มีข้อที่คัดค้านได้
-เขาว่าพระเจ้านี่รู้ทุกสิ่ง หมายความว่าความรู้ต่างๆ มันรวมอยู่ในสิ่งที่พระเจ้ารู้และบันดาลได้ทั้งนั้น
-เราก็มีพระเจ้า มีสิ่งที่ทำได้อย่างนั้น เราจึงมีพระเจ้า แต่ไม่ใช่อย่างคน
รวมความว่าพุทธบริษัทมีพระเจ้า แต่ไม่ใช่อย่างคน ไม่ควรจะเรียกว่าคน ก็เรียกว่าตัวธรรมชาติที่เป็นกฎ ก็คือกฎของธรรมชาติ
ความสอดคล้องของคำว่า กฎ และ God
ทีนี้คำว่า กฎนั้นมันมีอยู่ในภาษาไทย ภาษาบาลีไม่มีใช้ แต่บังเอิญมันมีในภาษาไทย ก็ใช้คำว่ากฎของธรรมชาติ นี่คือพระเจ้า แล้วบังเอิญไปเหมาะกันเข้ากับคำว่า God ของภาษาฝรั่ง ก็ถือว่าไอ้คำว่า กฎนั้นคือ God ของเราจะเข้มข้นกว่าเสียอีก ของเขามันออกเสียยาวเป็น God ของเราทำให้เข้มให้สั้นเข้ามาเป็นกฎ เรามีพระเจ้าที่เข้มข้นกว่าเสียอีก คือคำกฎ
ท่านทั้งหลายจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจอาตมาก็ยังลังเลอยู่เหมือนกัน ขอสรุปความว่า ลักษณะทั้งหลายที่มีอยู่ในพระเจ้าของฝ่ายที่มีพระเจ้าเป็นบุคคลนั้น เราก็มีสิ่งที่เรียกว่า “ธรรม” ในความหมายที่เป็นตถตา ตั้งอยู่ในฐานะที่เป็นพระเจ้า คือมีคุณสมบัติมีอะไรเท่าเทียมกัน เพียงแต่เขากล่าวอย่างเป็นคน เราจะกล่าวอย่างเป็นธรรม คือมิใช่คน
พุทธศาสนาก็มีพระเจ้าเหมือนกัน
นี่เป็นเหตุให้กล่าวได้ว่าพุทธบริษัทหรือพุทธศาสนาก็มีพระเจ้า ถ้าพูดว่าไม่มี ก็เพราะว่าเราโง่ไปเอง มันไม่มีปัญญาจะมีกับเขา ถ้าเรามีปัญญาพิจารณาใคร่ครวญดู เราก็จะเห็นว่า เรามีเหมือนกับที่เขามี แต่เราไม่ยอมถือว่าเป็นบุคคล หรือเป็นพระเจ้าอย่างบุคคล
การที่เขาจัดให้พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ไม่มีพระเจ้า มันถูกครึ่งเดียวเท่านั้น คือมันไม่มีพระเจ้าอย่างบุคคล แต่มันมีพระเจ้าอย่างที่มิใช่บุคคล แล้วเลยแบ่งพระเจ้าออกเป็น 2 ชนิด คือ
-พระเจ้าอย่างบุคคล เป็น Personal God
-พระเจ้าที่มิใช่บุคคล เป็น Impersonal God
พระเจ้าก็เลยมีขึ้นมาเป็น 2 ชนิด เราก็มีกับเขาชนิดหนึ่ง พวกอื่นก็มีอีกชนิดหนึ่ง ฉะนั้นเราก็มาเป็นเพื่อนกันได้มาเป็นเกลอกันได้ คือมีพระเจ้าด้วยกัน แล้วเราก็ไม่ทะเลาะวิวาทกันในเรื่องที่มีพระเจ้าคนละรูปแบบ คือของเราไม่ใช่บุคคล
ศาสนาคริสเตียนออกจะได้เปรียบ เพราะเขาทำให้พระเจ้ามีถึง 3 ส่วน คือพระบิดา พระจิต (เป็นภาษาเฉพาะของคาทอลิก ส่วนโปรเตสแตนท์ ใช้ว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์”=ผู้เขียน) และพระบุตร พระบิดานั้นก็มีลักษณะอย่างคน พระบุตรก็มีลักษณะอย่างคน แต่พระจิตนั้น เขาเรียกว่า Holy Spirit ไม่ใช่คน เป็นวิญญาณ
ถ้าเรียกว่าเป็นผี เดี๋ยวเขาจะโกรธเอา เราจะไม่ใช้คำว่าเป็นผี เรียกว่าพระจิต หรือพระวิญญาณตามที่น่าฟังสักหน่อย นี่ศาสนาคริสเตียนมีพระเจ้าทั้งชนิดที่เป็นบุคคล และมิใช่บุคคล จึงได้เปรียบที่จะพูดให้มันครอบคลุมไปหมดได้
นี่พุทธบริษัทมีพระเจ้าอย่างนี้กันเสียที บางคนอาจจะคิดว่า นี่เพื่อจะไปต่อรองกับพวกที่มีพระเจ้า เพื่อเอาอกเอาใจเขาหรืออย่างไร ก็บอกว่าไม่ใช่อย่างนั้น มันเป็นความจริง มันเป็นความจริงอย่างยิ่ง จริงโดยเด็ดขาด ที่มันมีอยู่อย่างนี้ คือเรามีธรรมะในลักษณะนี้เป็นสิ่งที่ทำหน้าที่เหมือนกับพระเจ้าในศาสนาทั้งหลาย เขาทำกันได้อย่างไร เราก็ทำกันได้อย่างนั้น
ชื่อของพระเจ้าในศาสนาพุทธ
ฉะนั้นให้ยุติว่าเรามีพระเจ้าตามแบบของชาวพุทธ เป็นปฐมเหตุของสิ่งทั้งปวง สร้างสิ่งทั้งปวง ควบคุมสิ่งทั้งปวง ทำลายสิ่งทั้งปวง ตั้งอยู่ได้โดยไม่ต้องอาศัยอะไร อย่างนี้เป็นต้น
เมื่อถามว่าพระเจ้าของฝ่ายพุทธศาสนาชื่ออะไร ที่จะไปเข้าแถวกับคำว่าพระยะโฮวา พระอัลเลาะห์ พระอิศวร พระพรหมอะไรได้ ก็ใช้คำว่า “ตถา” หรือ ตถตา” นี่จะพอสู้กันได้
ตามที่ได้ฟังมาคำว่าเยโฮวาห์ (Jehovah) ก็แปลว่าตถาเหมือนกัน คือตั้งอยู่โดยความเป็นอย่างนั้น พระเยโฮวาห์คำนี้แปลว่า ผู้ที่ตั้งอยู่โดยความเป็นอย่างนั้น (I am who I am) หรือบางทีก็ผู้ที่มีอยู่ หรือสิ่งที่มีอยู่อย่างเป็นปัจจุบันอันไม่มีที่สิ้นสุด” (พุทธ-คริสต์ ในทัศนะท่านพุทธทาส หน้า 33-68))
ดังนั้น เราจะเห็นว่า พระเจ้ามีอยู่สองแบบ นั่นคือ พระเจ้าแบบบุคคล และพระเจ้าที่ไม่ใช่บุคคล พระเจ้าแบบบุคคลนี่แหละเป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่างในนามของกฎธรรมชาติตามที่ผู้เชื่อว่าไม่มีพระเจ้าแบบบุคคล ซึ่งพระองค์ได้ลงมาเกี่ยวข้องกับมนุษย์ เป็นพระเยซูคริสต์เจ้า ดังที่เราจะได้เรียนในตอนต่อไป
เขียนโดย Banpote Wetchgama (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี)
แก้ไขล่าสุด ใน วันเสาร์ที่ 29 พฤษภาคม 2012 เวลา 10:00 น.
แก้ไขล่าสุด (วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน 2012 เวลา 12:42 น.)