3.พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่และไม่เปลี่ยนแปลง (The Living and Consistent God)
พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่และไม่เปลี่ยนแปลง
(The Living and Consistent God)
เขียนโดย…บรรพต เวชกามา (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี)
วันเสาร์ที่ 26 พฤษภาคม 2012 เวลา 14:00 น.
พระเจ้าในแบบที่เป็นบุคคล พระองค์ได้สำแดงตนโดยการติดต่อกับมนุษย์ ได้ตรัสกับเขา ซึ่งเป็นการสำแดงพระองค์ทางประวัติศาสตร์และภูมิศาสตร์ ในพระคัมภีร์เดิมนั้นพระองค์เป็นพระเจ้าแห่งพระพิโรธ และการพิพากษาลงโทษ ซึ่งแตกต่างไปจากพระเจ้าผู้เป็นพระบิดาแห่งพระเยซูคริสต์ในพระคัมภีร์ใหม่ ซึ่งมีความเมตตาและความสุภาพอ่อนโยน จึงดูเหมือนว่า พระเจ้าที่สำแดงในพระคัมภีร์เดิมนั้น แตกต่างจากพระเจ้าที่สำแดงในพระคัมภีร์ใหม่ ซึงไม่เป็นความจริง
การสำแดงของพระองค์ในพระคัมภีร์เดิมนั้นมีลักษณะค่อยเป็นค่อยไป โดยเน้นว่าพระองค์เป็นพระเจ้าองค์เดียว แม้จะกล่าวถึงตรีเอกภาพ (Trinity) บ้าง แต่พระคัมภีร์ใหม่ได้เปิดเผยให้เห็นอย่างชัดเจนในคำตรัสของพระเยซูที่ตรัสว่า “ไม่มีใครเคยเห็นพระเจ้าเลย พระบุตรของเดียวผู้ทรงสถิตอยู่ในทรวงของพระบิดา พระองค์ได้ทรงสำแดงพระเจ้าแล้ว” (ยน 1:18) และพระองค์ได้ตรัสในห้องชั้นบนที่ว่า:
‘เรายังมีอีกหลายสิ่งที่จะบอกท่านทั้งหลาย แต่เดี๋ยวนี้ท่านยังรับไว้ไม่ได้ เมื่อพระธรรมแห่งความจริงจะเสด็จมาแล้ว พระองค์จะนำท่านทั้งหลายไปสู่ความจริงทั้งมวล เพราะพระองค์จะไม่ตรัสโดยพลการ แต่พระองค์จะตรัสสิ่งที่พระองค์ทรงได้ยิน และพระองค์จะทรงแจ้งให้ท่านทั้งหลายรู้ถึงสิ่งเหล่านั้นที่จะเกิดขึ้น พระองค์จะทรงให้เราได้รับเกียรติ เพราะว่าพระองค์จะทรงเอาสิ่งที่เป็นของเรามาสำแดงแก่ท่านทั้งหลาย ทุกสิ่งที่พระบิดาทรงมีนั้นเป็นของเรา เหตุฉะนั้นเราจึงกล่าวว่า พระธรรมทรงเอาสิ่งซึ่งเป็นของเรานั้นมาสำแดงแก่ท่านทั้งหลาย’ (ยน 16:12-15)
อย่างไรก็ตาม การสำแดงของพระเจ้าอย่างค่อยเป็นค่อยไปนี้ เป็นเหมือนกับจิตรการที่วาดภาพด้วยเริ่มด้วยการร่างก่อน แล้วค่อยๆ แต้มแต่งภาพนั้นจนกระทั่งภาพนั้นสำเร็จ (แท้จริงนั้นภาพนี้อยู่ในใจของจิตรกรแล้วตั้งแต่เริ่มวาด แต่ผู้ที่มองดูจะเห็นทีละขั้นเท่าที่จิตรกรจะวาดให้เห็นได้เท่านั้น) เช่นเดียวกันกับพระเจ้าที่จะค่อยๆ สำแดงทีละเล็กที่ละน้อยเพิ่มพูนมากยิ่งขึ้น ในที่สุดการทรงสำแดงของพระองค์ก็สำเร็จในพระเยซูคริสต์ผู้เป็นพระธรรมนั้น (Logos=มาเกิดเป็นมนุษย์) และในคำพยานของบรรดาอัครทูตของพระองค์
ดังที่ผู้เขียนจดหมายถึงชาวฮีบรู กล่าวถึงการสำแดงของพระเจ้านี้ว่า:
‘ในโบราณกาลพระเจ้าได้ตรัสด้วยวิธีต่างๆ มากมายแก่บรรพบุรุษของเราทางคนทรงของพระเจ้า แต่ในวาระสุดท้ายนี้พระองค์ได้ตรัสแก่เราทั้งหลายทางพระบุตร…’ (ฮบ 1:1,2)
ข้อความดังกล่าว ผู้เขียนบอกเราว่า วิธีการสำแดงในพระคัมภีร์เดิมต่างจากพระคัมภีร์ใหม่ เช่น ต่างวาระ (‘ในโบราณกาล’ และ ‘ในวาระสุดท้าย’) ต่างบุคคล (‘แก่บรรพบุรุษ’ และ ‘แก่เราทั้งหลาย’) และโดยเฉพาะแตกต่างกันในวิธีการ (‘ด้วยวิธีต่างๆมากมาย…ทางคนทรงของพระเจ้า’ และ ‘ทางพระบุตร’)
แม้ว่าทั้งเหตุการณ์ ผู้รับการสำแดง และวิธีการสำแดงแตกต่างกัน แต่ผู้ที่สำแดงนั้นเป็นองค์เดียวกัน คือพระเจ้า ผู้ซึ่งตรัสโดยวิธีต่างๆ แก่บรรพบุรุษทางคนทรงของพระองค์นั้น เป็นพระเจ้า ซึ่งได้ตรัสแก่เราทางพระบุตรของพระองค์
เนื่องจากความจริงดังกล่าว เราจึงยืนยันได้ว่า พระเจ้าองค์เดียวกันนี้แหละเป็นพระเจ้าผู้บันดาลให้มีหนังสือพระคัมภีร์เดิม และพระคัมภีร์ใหม่ขึ้น และให้เรียกพระคัมภีร์ทั้งหมดว่า ‘พระคำของพระเจ้า’ ในพระคัมภีร์นี้เราจะพบว่า พระเจ้าตรัสถึงเรื่องราวของพระองค์เอง เป็นเรื่องที่พระองค์ทรงวางแผนการ และทำให้แผนการนั้นสำเร็จ คือช่วยมนุษย์ผู้ล้มลงในความบาปให้หลุดพ้นทางพระเยซูคริสต์
พระเจ้าผู้ช่วยกู้มนุษย์ให้หลุดพ้นนี้ เป็นพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่และทรงปกครองโลก และพระองค์ทรงเป็นอยู่อย่างเดิมไม่มีการเปลี่ยนแปลง ‘พระบิดาแห่งบรรดาดวงสว่าง ในพระบิดาไม่มีการแปรปรวน หรือไม่มีเงาอันเนื่องจากการเปลี่ยนแปลง’ (ยก 1:17)
พระเจ้าองค์เที่ยงแท้ผู้ทรงพระชนม์อยู่ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงนี้ แตกต่างจากรูปเคารพ ที่ต้องใช้มนุษย์เป็นผู้สร้างขึ้น และต้องใช้กำลังมนุษย์แบกหามไป แต่พระองค์เอง เป็นผู้แบกภาระของประชากรของพระองค์:
‘โอ วงศ์วานของยาโคบเอ๋ย จงฟังเรา คือบรรดาคนที่เหลืออยู่ในวงศ์ของอิสราเอล ผู้ซึ่งเราอุ้มมาตั้งแต่กำเนิด ชูมาตั้งแต่ในครรภ์ จนกระทั่งเจ้าแก่ เราก็คือพระองค์นั้น เราจะอุ้มเจ้าจนเจ้าถึงผมหงอก เราได้สร้าง เราจะชูไว้ เราจะอุ้มและเราจะช่วยให้พ้น’ (อสย 46:3,4)
รูปเคารพเหล่านั้นช่วยคนให้หลุดพ้นไม่ได้ และคนทรงของพระเจ้ารู้สึกสะอิดสะเอียนเป็นอย่างมาก รูปเคารพเหล่านั้นเป็นสภาพอ้นไร้ชีวิต:
‘รูปเคารพของคนเหล่านั้นเป็นเงินและทองคำ
เป็นหัตถกรรมของมนุษย์
รูปเหล่านั้นมีปาก แต่พูดไม่ได้
มีตา แต่ดูไม่ได้
มีหู แต่ฟังไม่ได้ยิน
มีจมูก แต่ดมไม่ได้
มีมือ แต่คลำไม่ได้
มีเท้า แต่เดินไม่ได้
รูปเหล่านั้นทำเสียงในคอไม่ได้’
(สดด 115:4-7)
ส่วนพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่นั้น ตรงกันข้ามกับรูปเคารพ ‘พระเจ้าของเราทั้งหลายอยู่ฟ้าสวรรค์ สิ่งใดที่พระองค์พอพระทัย พระองค์ก็ทรงกระทำ’ (สดด 115:4-7) พระองค์เป็นพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ ทรงมองเห็น ทรงได้ยิน ตรัสได้ และทรงกระทำการทุกอย่าง
ในสภาพที่เป็นพระเจ้าแห่งธรรมชาตินั้น พระองค์ควบคุมความเป็นไปของจักรวาลที่พระองค์ได้ทรงสร้างขึ้นและบรรดาสิ่งมีชีวิตทั้งหมด แม้จะเป็นภัยพิบัติตามธรรมชาติก็อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของพระองค์ ‘ทะเลเป็นของพระองค์ เพราะพระองค์ทรงสร้างมัน’ (สดด 95:5) และ ‘ลมพายุ’ ได้กระทำให้พระบัญชาของพระองค์สำเร็จ (สดด 148:8)
ดังนั้น พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่จึงสำแดงพระองค์ทั้งในพระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่ ว่าพระองค์เป็นพระเจ้าผู้ครอบครอง พระองค์ทรงพระชนม์อยู่ตลอดไป พระองค์เป็นพรหมวิหารสี่ และพระพิโรธ พระองค์ช่วยให้หลุดพ้นและการพิพากษา บางทีดูเหมือนว่าสิ่งเหล่านี้จะเข้ากันไม่ได้เลย
เหมือนที่ได้กล่าวมาแล้วว่าพระเจ้าในพระคัมภีร์เดิมเป็นพระเจ้าแห่งพระพิโรธ และพระเจ้าในพระคัมภีร์ใหม่เป็นพระเจ้าแห่งพระเมตตากรุณา ซึ่งนับว่าเป็นการเข้าใจผิดทีเดียว เพราะพระคัมภีร์เดิมก็แสดงถึงว่าพระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแห่งความเมตตากรุณาด้วย และในพระคัมภีร์ใหม่ก็มีการชี้ให้เห็นว่า พระองค์ทรงเป็นพระเจ้าแห่งการพิพากษาลงโทษด้วย พระคัมภีร์เดิมและพระคัมภีร์ใหม่ ได้แสดงว่าพระองค์เป็นพระเจ้าแห่งพรหมวิหารสี่ และพระเจ้าแห่งพระพิโรธ ทั้งสองพระลักษณะในเวลาเดียวกัน
ยอห์นได้กล่าวไว้ว่า ‘พระเจ้าทรงมีพรหมวิหารสี่ อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาต่อโลก จนได้ประทานพระบุตรองค์เดียวของพระองค์’ และในบทเดียวกันตอนท้ายก็บอกว่า ผู้ทีไม่เชื่อฟังพระบุตรก็จะไม่ได้เห็นชีวิต แต่พระพิโธของพระเจ้าตกแก่เขา (ยน 3:16,36)
ทำนองเดียวกันเปาโลได้พรรณนานาถึงสภาพของผู้ที่รับจดหมายฝากไว้ว่า ‘เป็นคนควรแก่พระอาชญาเหมือนอย่างคนอื่น’ และในข้อต่อไปได้เขียนไว้ว่า พระเจ้า ‘ทรงเปี่ยมด้วยพระกรุณา’ และทรงมีพรหมวิหารสี่ต่อเราอย่างใหญ่หลวง’ (อฟ 2:3,4)
คำอธิบายของพระคัมภีร์ในเรื่องพระเจ้าเป็นพรหมวิหารสี่ และความพิโรธ พระเจ้าเป็นความหลุดพ้นและการพิพากษา มีเพียงประการเดียว คือพระเจ้าทรงเป็นอย่างที่พระองค์เป็น และจะทรงกระทำตามพระลักษณะของพระองค์
ด้วยเหตุที่ ‘พระเจ้าทรงเป็นพรหมวิหารสี่’ ดังนั้นพระองค์จึงทรงมีพรหมวิหารสี่ต่อโลก และประทานพระบุตรของพระองค์ให้แก่เราทั้งหลาย (1 ยน 4:8,9) แต่ ‘พระเจ้าของเรานั้นทรงเป็นเพลิงที่เผาผลาญ’ ด้วย (ฮบ 12:29;ดูเปรียบเทียบกับ ฉธบ 4:24) ในพระลักษณะแห่งความบริสุทธิ์อย่างดีเลิศสมบูรณ์นั้นไม่สามารถจะอะลุ้มอล่วยให้กับความชั่วร้ายได้เลย แต่มันจะถูก ‘เผาผลาญ’ และพระองค์จะต่อสู้กับมันจนถึงที่สุด
ดังนั้นสิงที่สำคัญที่สุดคือ พระเจ้าได้ทรงสำแดง “พระคุณ” ของพระองค์ต่อเรา เพราะพระเจ้าในพระคัมภีร์เป็น ‘พระเจ้าผู้ทรงพระคุณล้ำเลิศ’ (1 ปต 5:10) พระคุณเป็นพรหมวิหารสี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่พิเศษ
-เป็นสิ่งที่ถ่อมลง ยอมเสียสละ ยอมรับใช้
-เป็นสิ่งที่สำแดงความกรุณาต่อคนที่ไม่สมควร
-เป็นสิ่งที่จะต้องทำด้วยใจกว้างขวางต่อคนที่ไม่รู้ค่าและคนที่ไม่เหมาะสมที่จะได้รับพระคุณ
-เป็นพระกรุณาที่ประทานให้เปล่าๆ ไม่คิดมูลค่า คือมีความเมตตาต่อคนที่น่าชัง
-เป็นการติดตามหาคนที่ปฏิเสธพระองค์ คือช่วยคนสิ้นหวังให้ได้รับความหลุดพ้น
-เป็นการยกคนขอทานขึ้นจากกองขี้เถ้าให้นั่งกับบรรดาเจ้านาย (สดด 113:7,8)
พระคุณของพระเจ้านี่เองที่นำพระองค์ให้กระทำพันธสัญญากับชนชาติหนึ่งโดยเฉพาะ พระคุณพระเจ้าคือพระคุณแห่งพันธสัญญา แท้จริงนั้นพระคุณนี้ มีมาถึงทุกคนโดยปราศจากการเลือกที่รักมักที่ชังอยู่แล้วซึ่งเรียกว่า ‘พระคุณทั่วไป’ (Common Grace) อันเป็นพระคุณที่ทรงประทานพระพร เช่น ความมีเหตุมีผล และการมีใจสำนึกผิดชอบ ความรักและความสวยงาม ชีวิตและอาหาร การสมรสและการมีบุตร งานและการพักผ่อน ระบบแห่งความเป็นไปของโลก และของประทานอื่นๆ อีกหลายอย่างแก่คนทั่วๆไป โดยไม่เจาะจง
การที่พระเจ้ากระทำพันธสัญญาพิเศษกับชนชาติอิสราเอลเป็นการประทานพระคุณตามพระลักษณะของพระองค์ เพราะพระองค์ทรงริเริ่มที่จะเลือกชนชาติหนึ่งเพื่อพระองค์เอง และให้คำมั่นสัญญาว่าจะเป็นพระเจ้าของพวกเขา พระองค์ไม่ได้เลือกชนชาติอิสราเอลเพราว่ายิ่งใหญ่กว่าหรือวิเศษกว่าชนชาติอื่นๆ แต่เหตุผลในการเลือกสรรนั้นขึ้นอยู่กับพระองค์เอง ดังที่โมเสสอธิบายไว้ว่า:
‘พระเจ้า…ทรงเลือกท่านทั้งหลาย…เพราะพระเจ้าทรงมีพรหมวิหารสี่ อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาแก่ท่านทั้งหลาย’ (ฉธบ 7:7,8)
คำว่า ‘พันธสัญญา’ (Covenant) เป็นภาษาทางกฎหมาย ซึ่งหมายถึงข้อตกลงที่ผูกมัดให้ทั้งสองฝ่ายต้องกระทำตาม เมื่อนำมาใช้ในพระคัมภีร์เพื่อจะกล่าวถึงการกระทำของพระเจ้านั้นไม่ควรจะคิดว่าเป็นการตกลงกันระหว่างสองฝ่ายที่สิทธิ์เท่าเทียมกันเหมือนดังคำสัญญาธรรมดาทั่วไป
แต่พันธสัญญานี้เป็นเหมือน ‘พินัยกรรม’ (Testament or will) ซึ่งผู้กระทำมีสิทธิ์ขาดในการที่จะยกหรือมอบให้ผู้ใดก็ได้ ในพระคัมภีร์ได้แบ่งออกเป็นสองภาค คือภาค ‘พันธสัญญาเดิม’ กับภาค ‘พันธสัญญาใหม่’ คำว่า ดิอาเธเค (diatheke) ในภาษากรีกนั้นหมายถึง พินัยกรรมและพันธสัญญา
ในหนังสือจดหมายฝากผู้เขียนจึงเล่นกับคำสองคำนี้เพื่อชี้ให้เห็นชัดว่า พันธสัญญาของพระเจ้าที่เหมือนกับ ‘พินัยกรรม’ คือพระองค์เองทรงประทานพระสัญญาให้เป็นมรดก (กท 3:15-18;ฮบ 9:15-18)
อย่างไรก็ตามพระสัญญานี้ก็มีเงื่อนไข เพราะประชากรของพระองค์จำเป็นต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตามพระบัญชาของพระองค์ นี่เป็นหน้าที่ในส่วนของประชากรเหล่านั้น และในส่วนของพระเจ้า พระองค์เองเป็นผู้ออกคำสั่งและประทานพระสัญญาด้วย เพราะเหตุนี้แม้พันธสัญญาของพระเจ้าที่ภูเขาซีนายก็เป็นพันธสัญญาแห่งพระคุณ
เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องเข้าใจว่า พันธสัญญาของพระเจ้านั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงเลย ตั้งแต่ทำไว้กับอับราฮัมจนถึงพระคริสต์ ฉะนั้นคนที่เป็นของพระคริสต์โดยความเชื่อก็เป็นบุตรของอับราฮัม และเป็นผู้สืบมรดกแห่พระสัญญาที่พระเจ้าทรงกระทำกับอับราฮัมนั้น (กท 3:24)
ธรรมบัญญัติที่ประทานให้ที่ภูเขาซีนายไม่ได้ลบล้างพันธสัญญาแห่งพระคุณ ตรงกันข้ามกลับยืนยันรับรองเสียอีก ธรรมบัญญัตินี้ย้ำให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้นว่าต้องเชื่อฟังและปฏิบัติตาม แต่ถ้าเราแยกธรรมบัญญัติออกจากพันธสัญญาแห่งพระคุณแล้ว ก็จะทำให้ดูเหมือนว่าธรรมบัญญัติแตกต่างจากบารมีพระเจ้าได้ และทำให้เห็นว่าธรรมบัญญัติเป็นบทลงโทษคนบาปเพราะความไม่เชื่อฟัง ในขณะที่บารมีพระเจ้าให้ชีวิตโดยพระคุณ
กล่าวโดยสรุป พระเจ้าแบบบุคคลนี้ ได้สำแดงพระองค์เองกับพวกอิสราเอล ตลอดประวัติศาสตร์อันยาวนาน พระองค์เป็นพระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่ เป็นพระเจ้าผู้ไม่มีการเปลี่ยนแปลง เป็นพระเจ้าของมนุษย์ทุกคน เป็นพระเจ้าของทุกศาสนา พระองค์ได้ทรงทำ “พันธสัญญา” กับอับราฮัม ว่าจะมาทำความหลุดพ้นให้แก่มนุษย์ พระองค์เป็นพระเจ้าแห่งพรมหมวิหารสี่ และการพิพากษาลงโทษ ผู้ที่ต้องการจะพ้นจากการพิพากษาลงโทษของพระองค์ จะต้องมาพึ่งอาศัยในพระคุณ อาศัยในพรหมวิหารสี่ของพระองค์
เขียนโดย Banpote Wetchgama (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี)
แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสที่ 30 พฤษภาคม 2012 เวลา 14:35 น.
(ข้อมูลที่นำมาเขียนในบทเรียน “พระเจ้าผู้ทรงพระชนม์อยู่และไม่เปลี่ยนแปลง” (The Living and Consistent God) นี้ ส่วนหนึ่งแปล เรียบเรียง และดัดแปลงมาจากหนังสือ “Understanding the Bible by John R. W. Stott” PP. 159-168,1972.)
แก้ไขล่าสุด (วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน 2012 เวลา 12:43 น.)