7.เชื่อในพระเยซูแล้วต้องทำอะไรอีก
เชื่อในพระเยซูแล้วต้องทำอะไรอีก
(What should we do when we are believed in Jesus?)
เขียนโดย…บรรพต เวชกามา (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี)
วันอังคารที่ 23 พฤษภาคม 2012 เวลา 14:05 น.
เมื่อใครก็ตามตัดสินใจเชื่อพึ่งอาศัยในพระเยซูคริสต์ แสดงว่า เขาได้ละทิ้งตัวกูของกูแล้ว เขาได้เปลี่ยนที่พึ่งใหม่แล้ว แต่เขาก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนศาสนา ไม่ต้องเปลี่ยนจากการนับถือศาสนาพุทธ มานับถือศาสนาคริสต์ และไม่มีความจำเป็นอันใดที่จะต้องเป็นคริสเตียน เพียงแต่เปลี่ยนจากการพึ่งตัวเอง มาพึ่งในพระเจ้าเท่านั้นเอง
เมื่อเป็นเช่นนี้ก็อาจจะมีคำถามว่า “แล้วจะต้องทำอะไรต่อไป” เราจะเริ่มต้นดำเนินชีวิตกับพระเจ้าอย่างไร?” คำตอบข้างล่างนี้ อาจจะทำให้รู้ถึงวิถีทางที่จะดำเนินชีวิตกับพระเจ้าได้บ้าง คำตอบเหล่านี้ได้มาจากพระคัมภีร์ และเมื่อใดถ้ามีคำถามเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตกับพระเจ้า ก็ให้ทบทวนบทเรียนเหล่านี้ แล้วคุณก็จะรู้ว่า ควรจะดำเนินชีวิตอย่างไร เมื่อเชื่อในพระเจ้าแล้ว เราจะต้องรู้ และมั่นใจและกระทำในสิ่งต่อไปนี้:-
1. ต้องมั่นใจในความหลุดพ้น
เมื่อเชื่อในพระเจ้าแล้ว เราได้รับสิทธิพิเศษหลายอย่าง เป็นต้นว่า เราได้เป็นบุตรของพระเจ้า (ยน 1:12) เราได้รับการชำระให้เป็นคนบุญในความหลุดพ้นขั้นที่ 1 (Justification) ได้รับสันติภาพกับพระเจ้า ได้ยืนอยู่ในร่มพระคุณของพระองค์ มีความชื่นชมยินดีในความไว้วางใจว่าจะได้มีส่วนในสง่าราศีของพระเจ้า และยังชื่นชมในความทุกข์ยากลำบากด้วย (รม 5:1-3)
นอกจากนั้นแล้วยังได้ “พ้นจากการเป็นทาสของบาป และกลับมาเป็นทาสของพระเจ้า ผลสนองที่เราจะได้รับก็คือ การชำระให้เป็นคนบริสุทธิ์ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (Sanctification) และผลสุดท้ายคือชีวิตเข้าสู่นิพพาน” (รม 6:22) อันเป็นความหลุดพ้นขั้นที่ 3 (Glorification)
เราจะต้องมั่นใจเช่นนี้ ดังนั้นเมื่อเมื่อยอห์นเขียนจดหมายไปยังชุมชนของพระเจ้า ท่านจึงได้บอกเขาทั้งหลายว่า “ข้อความเหล่านี้ ข้าพเจ้าได้เขียนถึงท่านทั้งหลาย ที่เชื่อในพระนามของพระบุตรของพระเจ้า เพื่อท่านทั้งหลายจะได้รู้ว่าท่านมีชีวิตเข้าสู่นิพพานแล้ว” (1 ยน 5:13)
สิ่งที่เราได้รับนั้น ล้วนแต่เป็น “นามธรรม” แต่แตะต้องไม่ได้ เป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นภายในใจ พระเจ้าต้องการให้เรามีความมั่นใจว่า เราได้รับความหลุดพ้นอย่างแน่นอน และเราจะต้องรู้ว่า:
(ก) เราเป็นคนบาป ได้กระทำบาป กระทำในสิ่งที่ทำให้พระเจ้าเสียพระทัย (รม 3:23)
(ข) ค่าจ้างของความบาปคือความตาย แต่ของประทานของพระเจ้าคือชีวิตเข้าสู่นิพพานในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา (รม 6:23)
(ค) พระเจ้าทรงสำแดงพรหมวิหารสี่ อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา (พระคัมภีร์ภาษาไทยแปลว่า “ความรัก”) ของพระองค์แก่เราทั้งหลาย คือขณะที่เรายังเป็นคนบาปอยู่นั้น พระคริสต์ได้ตายเพื่อเรา (รม 5:8)
(ง) พระองค์ได้ทรงกระทำพระองค์ผู้ไม่มีบาปให้บาป เพราะเห็นแก่เรา เพื่อเราจะได้เป็นคนบุญของพระเจ้าทางพระองค์” (2 คร 5:21)
(จ) พระเจ้าทรงให้อภัยและไถ่ชีวิตทุกคนที่มีความเชื่อในพระเยซู โดยที่เราได้เชื่อวางใจว่าพระองค์ทรงรับโทษบาปแทนเราในความตายนั้นแล้ว (ยน 3:16)
(ง) การปรับโทษจึงไม่มีแก่คนทั้งหลายที่อยู่ในพระเยซูคริสต์ ผู้ไม่ดำเนินตามฝ่ายเนื้อหนัง แต่ตามฝ่ายพระธรรมของพระเจ้า (รม 8:1-4)
นั่นคือข้อความที่ยืนยันว่า พระเยซูคริสต์คือองค์พระผู้ช่วยให้หลุดพ้น พระองค์ช่วยให้เราได้รับความหลุดพ้นแล้ว ความบาปทั้งหมดของเรา ได้รับการอภัยแล้ว และพระเจ้าทรงสัญญาว่าจะไม่ทอดทิ้งเรา
“เพราะข้าพเจ้าเชื่อมั่นว่า แม้ความตาย หรือชีวิต หรือทูตสวรรค์ หรือเทพเจ้า หรือสิ่งซึ่งมีอยู่ในปัจจุบันนี้ หรือสิ่งซึ่งจะมีในภายหน้า หรือฤทธิ์เดชทั้งหลาย หรือซึ่งสูง หรือซึ่งลึก หรือสิ่งอื่นใดๆที่ได้ทรงสร้างแล้วนั้น จะไม่สามารถกระทำให้เราทั้งหลายขาดจากพรหมวิหารสี่ อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา (พระคัมภีร์ภาษาไทยแปลว่า “ความรัก”) ของพระเจ้า ซึ่งมีอยู่ในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเราได้” (รม 8:38-39)
และพระเยซูได้บอกกับสาวกของพระองค์ว่า “สอนเขาให้ถือรักษาสิ่งสารพัดซึ่งเราได้สั่งพวกท่านไว้ ดูเถิด เราจะอยู่กับท่านทั้งหลายเสมอไป จนกว่าจะสิ้นโลก” (มธ 28:20)
ดังนั้น เราจะต้องระลึกอยู่เสมอว่า เราได้รับการไถ่ให้หลุดพ้นแล้วในองค์พระเยซูคริสต์ ไม่มีใครแย่งชิงเอาไปได้ “เราให้ชีวิตเข้าสู่นิพพานแก่แกะนั้น และแกะนั้นจะไม่พินาศเลย และจะไม่มีผู้ใดแย่งชิงแกะเหล่านั้นไปจากมือของเราได้ พระบิดาของเราผู้ประทานแกะนั้นให้แก่เราเป็นใหญ่กว่าทุกสิ่ง และไม่มีผู้ใดสามารถชิงแกะนั้นไปจากพระหัตถ์ของพระบิดาของเราได้” (ยน 10:28-29)
ถ้าเราได้ไว้วางใจในพระเยซูว่าเป็นพระผู้ช่วยให้หลุดพ้นแล้ว เราก็จงมั่นใจได้ว่าจะได้มีชีวิตเข้าสู่นิพพานกับพระเจ้าในสวรรค์ อันเป็นความหลุดพ้นขั้นที่สาม (Glorification) อย่างแน่นอน
2. ต้องติดสนิทอยู่กับพระเจ้า
เมื่อเรากลับใจเกิดใหม่ เชื่อในพระเจ้า เป็นลูกของพระเจ้า ได้รับความหลุดพ้นทั้งสามขั้นตอนนั้นแล้ว เราจะต้องไม่ลืมว่า จะต้องพูดคุย สนทนากับพระองค์เป็นประจำ การพูดคุยสนทนากับพระองค์นี้ เป็นสิ่งสำคัญมาก เราจะใช้เวลาไหน ตอนไหนได้ทั้งนั้น ไม่จำเป็นจะต้องตั้งเวลาไว้ว่าเป็นเวลาเช้าตรู่ หรือเป็นเวลาเย็น เพราะพระเจ้าอยู่กับเราตลอดเวลา พระองค์เปรียบเสมือนเป็นเถาองุ่นแท้ พวกเราเป็นกิ่งก้านสาขาที่ติดอยู่กับพระองค์ (ยน 15:1-11) ฉะนั้นเมื่อเราเป็นกิ่งก้านสาขา หรือเป็นสาวกของพระองค์ เราจะต้องทำในสิ่งต่อไปนี้คือ:-
(ก) การสวดอ้อนวอน –การสวดอ้อนวอนนี้ โดยทั่วไปคริสเตียนจะเรียกว่า การอธิษฐาน แต่ในบทเรียนนี้ขออนุญาตเรียกว่า “การสวดอ้อนวอน” ซึ่งเป็นการสนทนาพูดคุยกับพระเจ้า ไม่ใช่การสวดมนต์ พูดคุยกับพระองค์ถึงความกังวลใจ หรือปัญหาที่เรามีอยู่ ขอสติปัญญาและการทรงนำจากพระเจ้า ขอให้พระองค์ประทานสิ่งที่จำเป็นให้กับเรา บอกให้พระองค์ทรงทราบว่าเรารู้สึกเป็นหนี้ต่อพระองค์ และขอบพระคุณพระองค์ที่ยอมรับเรา ให้เราเป็นคนบุญ ให้เราอยู่ในพระองค์ และไม่เคยทอดทิ้งเราเลย แม้ว่าเราจะเป็นเช่นไรก็ตาม นี่คือสิ่งที่เราสวดอ้อนวอน
(ข) การอ่านพระคัมภีร์ –นอกจากการสวดอ้อนวอนแล้ว เรายังจะต้องอ่านพระคัมภีร์ด้วย เพราะพระคัมภีร์เป็นพระคำของพระเจ้า ดังที่ผู้เขียนหนังสือฮีบรูเขียนไว้ว่า “เพราะว่า พระคำของพระเจ้านั้นมีชีวิตและทรงพลานุภาพอยู่เสมอ และคมยิ่งกว่าดาบสองคมใดๆแทงทะลุกระทั่งแยกจิตและวิญญาณ ทั้งข้อกระดูกและไขในกระดูก และสามารถวินิจฉัยความคิดและความมุ่งหมายในใจด้วย” (ฮบ 4:12)
และ “พระคัมภีร์ ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า และเป็นประโยชน์ในการสอน การตักเตือนว่ากล่าว การแก้ไขสิ่งผิด และการอบรมในทางธรรม เพื่อคนของพระเจ้าจะมีความสามารถ และพรักพร้อมเพื่อการดีทุกอย่าง” (2 ทธ 3:16-17)
การอ่านพระคัมภีร์นั้น เราสามารถอ่านในขณะที่มีการศึกษาพระคัมภีร์ในชั้นเรียนวันอาทิตย์ หรือชั้นเรียนพระคัมภีร์อื่นๆ เมื่อเรามีการประชุมนมัสการ แต่เท่านั้นยังไม่พอ เราจำเป็นต้องอ่านพระคัมภีร์ด้วยตัวเองเช่นกัน
เพราะพระคัมภีร์เป็นพระคำของพระเจ้า มีทุกสิ่งทุกอย่างที่เราจำเป็นต้องรู้ในการใช้ชีวิตกับพระองค์ พระคัมภีร์จะเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตกับพระเจ้า ทำให้เราตัดสินใจอย่างชาญฉลาด ทำให้เรารู้จักน้ำพระทัยพระเจ้า ทำให้เรารู้ว่า ทำไมเราจะต้องรักผู้อื่นและช่วยเหลือผู้อื่น และทำให้เราเจริญเติบโตขึ้นทางฝ่ายจิตวิญญาณ
พระคัมภีร์คือพระคำของพระเจ้า เป็นคู่มือที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำให้เราใช้ชีวิตได้เป็นที่พอพระทัยพระองค์ และทำให้เรามีความสุขที่แท้จริง เป็นไปไม่ได้ที่เชื่อพระเจ้าแล้ว จะไม่อ่านพระคัมภีร์ เพราะการอ่านพระคัมภีร์นั้น เปรียบเสมือนกับรับประทานฝ่ายเนื้อหนัง เนื้อหนังจะต้องรับประทานอาหารอย่างไร วิญญาณก็จะต้องรับประทานอาหารเช่นกัน นั่นคือการอ่านพระคัมภีร์
3. ต้องร่วมประชุมนมัสการกับผู้เชื่อคนอื่นๆ
เมื่อเชื่อในพระเจ้า ได้เป็นลูกของพระองค์ มีชีวิตใหม่ ร่วมสัมพันธ์กับพระองค์ โดยการาสวดอ้อนวอน โดยการอ่านพระคัมภีร์แล้ว สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือการประชุมนัสการร่วมกันเป็นกลุ่ม ซึ่งเรียกว่า “ชุมชนของพระเจ้า” คริสเตียนทั่วไปเรียกว่า “คริสตจักร” การเรียกชุมชนของพระเจ้าว่า คริสตจักรนี้ ก็เกิดปัญหา เพราะทำให้เข้าใจว่าเป็นตัวอาคารสถานที่ ซึ่งบางทีเรียกว่า “โบสถ์คริสต์” ความจริงแล้ว ชุมชนของพระเจ้าที่เรียกว่า “คริสตจักร” นี้คือผู้เชื่อในพระเจ้า เป็นคนไม่ใช่ตัวอาคาร
เป็นสิ่งสำคัญมากที่ผู้เชื่อในพระเจ้า จะต้องมีการประชุมร่วมกัน การประชุมร่วมกันนี้เป็นวัตถุประสงค์หลักอย่างหนึ่งของชุมชนพระเจ้า เมื่อเรามีความเชื่อในพระเยซูคริสต์แล้ว เราจะต้องประชุมกันกับคนอื่นๆที่เชื่อพระเจ้า ที่อยู่ใกล้บ้านของเรา
วัตถุประสงค์ที่สองของการประชุมนมัสการร่วมกันคือการเรียนการสอนพระคัมภีร์ เราจะได้เรียนรู้ว่า เราจะนำพระคำของพระเจ้าไปปรับใช้ในชีวิตของคุณได้อย่างไรบ้าง? การทำความเข้าใจในพระคัมภีร์เป็นกุญแจสำคัญที่นำเราไปสู่การเจริญเติบโตขึ้นฝ่ายจิตวิญญาณ เพราะ “พระคัมภีร์ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้าและเป็นประโยชน์ในการสอน การตักเตือนว่ากล่าวการปรับปรุงแก้ไขคนให้ดีและการอบรมในทางธรรมเพื่อคนของพระเจ้าจะพรักพร้อมที่จะกระทำการดีทุกอย่าง” (2 ทธ 3:16-17)
วัตถุประสงค์ที่สามของชุมชนของพระเจ้า คือการนมัสการพระเจ้า การนมัสการคือการสรรเสริญและขอบพระคุณพระเจ้าสำหรับทุกสิ่งที่พระองค์ทรงกระทำเพื่อเรา พระองค์ทรงไถ่เราให้หลุดพ้น ทรงรักเรา ทรงจัดเตรียมทุกอย่างให้เรา ทรงนำและชี้ทางให้เรา แล้วเราจะไม่ขอบพระคุณพระองค์ได้อย่างไร พระองค์ทรงบริสุทธิ์ ทรงเที่ยงธรรม ทรงเปี่ยมด้วยความรัก เมตตา และพระคุณ
“องค์พระผู้เป็นเจ้าของข้าพระองค์ทั้งหลายพระองค์ทรงสมควรที่จะได้รับคำสรรเสริญพระเกียรติและฤทธิ์เดชเพราะว่าพระองค์ได้ทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งปวงและสรรพสิ่งทั้งปวงนั้นก็ทรงสร้างขึ้นแล้วและดำรงอยู่ตามชอบพระทัยของพระองค์” (วว 4:11)
4. ต้องมีความสัมพันธ์กับอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญพระคัมภีร์
เมื่อเชื่อในพระเจ้า ได้เป็นลูกของพระองค์ มีชีวิตใหม่ ร่วมสัมพันธ์กับพระองค์ โดยการสวดอ้อนวอน โดยการอ่านพระคัมภีร์แล้ว และร่วมประชุมนมัสการกับคนอื่นๆ ในชุมชนของพระเจ้าแล้ว เราควรจะมีอาจารย์ผู้เชี่ยวชาญในพระคัมภีร์เป็นที่ปรึกษา เราไม่ควรคบหาสมาคมกับคนชั่วหรือคนเลว เพราะเปาโลกล่าวไว้ว่า “อย่าหลงเลย การคบคนชั่วย่อมเสียนิสัย” (1 คร 15:33) คำสอนนี้ก็เหมือนกับคำสุภาษิตไทยที่ว่า “คบคนพาล พาลพาไปหาผิด คบบัณฑิต บัณฑิตพาไปหาผล”
เราอย่าลืมว่า เมื่อเรากลับใจใหม่ เกิดใหม่เชื่อในพระเจ้า แล้ว เรายังอาศัยอยู่ในสังคมของคนบาป ถ้าเราไม่รู้จักเลือก เราจะโอนอ่อนหรือเอนเอียงไปกับอิทธิพลของคนชั่วเหล่านั้น ฉะนั้นเราจะต้องหาทางที่จะไปรู้จักบุคคลที่รักและถวายตัวให้กับพระเจ้า และสามารถสอนเราในพระคำของพระเจ้าได้
เราควรหาเพื่อนสักคนหรือสองคน ซึ่งอาจจะเป็นเพื่อนในชุมชนของพระเจ้า ผู้ซึ่งสามารถช่วยคุณ และให้กำลังใจคุณได้เสมอ (ฮีบรู 3:13 และ 10:24) ขอให้เพื่อนของคุณคอยให้กำลังใจคุณให้ใช้เวลากับพระเจ้าและเดินไปกับพระเจ้า และถามเขาว่าขอให้คุณกระทำอย่างเดียวกันนี้ให้แก่เขาได้หรือไม่
นี่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะต้องเลิกคบกับเพื่อนๆ ที่ไม่ได้เชื่อในพระคริสต์เหมือนกับคุณ แต่ขอให้คุณยังเป็นเพื่อนกับเขา และรักเขาต่อไป เพียงแค่บอกให้เขารู้ว่าพระเยซูได้เปลี่ยนแปลงชีวิตของคุณอย่างไร และบอกเขาว่าตอนนี้คุณไม่สามารถประพฤติตนเหมือนอย่างที่เคยกระทำในอดีตได้แล้ว และขอให้พระเจ้าประทานโอกาสให้คุณได้แบ่งปันเรื่องพระเยซูกับเพื่อน ๆ ของคุณได้ด้วย
5. ต้องรับบัพติศมา
คนเป็นจำนวนมากไม่เข้าใจความหมายของบัพติศมาเข้าใจผิดด้วย ทั้งนี้เป็นเพราะว่าไม่มีการอธิบาย ไม่มีการเรียนการสอนก่อนที่จะรับพิธี เพียงแต่รอเวลาให้เชื่อพระเจ้าครบ 6 เดือน 1 ปีแล้ว ก็จะให้รับบัพติศมา จึงทำให้คนที่รับพิธีนั้นไม่เข้าใจ ทำพิธีเพื่อพิธีเท่านั้นเอง ความจริงแล้ว คำว่า “บัพติศมา” (Baptism) เป็นการทับศัพท์ในภาษาฮีบรู แปลว่า จุ่มลงน้ำ และมีความหมายดังต่อไปนี้คือ
1. เป็นเครื่องหมายของชีวิตใหม่ ในพิธีนี้อ่างว่าเราหลุดพ้นแล้วโดยพระคุณของพระเจ้า ดังที่เปาโลกล่าวว่า “พระองค์ได้ทรงช่วยเราให้หลุดพ้น มิใช่ด้วยการกระทำที่ชอบธรรมของเราเอง แต่พระองค์ทรงพระกรุณาชำระให้เรามีใจบังเกิดใหม่ และทรงสร้างเราขึ้นมาใหม่โดยพระธรรมของพระองค์ พระองค์นั้นได้ทรงประทานแก่เราทั้งหลายอย่างบริบูรณ์ โดยพระเยซูคริสต์พระผู้ช่วยให้หลุดพ้นของเรา เพื่อว่าเมื่อเราได้เป็นถูกชำระให้เป็นคนบุญแล้วโดยพระคุณของพระองค์ เราจะได้เป็นผู้ได้รับมรดกที่มุ่งหวังคือชีวิตเข้าสู่นิพพาน (ทต 3:5-7)
2. เป็นเครื่องหมายเข้าส่วนในความตายและการเป็นขึ้นมาจากความตายกับพระเยซู ในพิธีนี้แสดงให้เห็นว่าเราได้เข้าส่วนในความตาย และการเป็นขึ้นมาจากความตายร่วมกับพระองค์ ดังที่เปาโลกว่าว่า “ท่านไม่รู้หรือว่า เราทั้งหลายที่ได้รับบัพติศมาเข้าในพระเยซูคริสต์ ก็ได้รับบัพติศมานั้นเข้าในความตายของพระองค์ เหตุฉะนั้นเราจึงถูกฝังไว้กับพระองค์แล้วโดยการรับบัพติศมาเข้าส่วนในความตายนั้น เหมือนกับที่พระคริสต์ได้ทรงถูกชุบให้เป็นขึ้นมาจากความตาย โดยเดชพระสิริของพระบิดาอย่างไร เราก็จะได้ดำเนินตามชีวิตใหม่ด้วยอย่างนั้น (รม 6:3-4)
3. เป็นเครื่องหมายที่แสดงว่าเราได้รับพระธรรมของพระเจ้าแล้ว และประสานสัมพันธ์กันระหว่าเชื้อชาติ คือการเป็นอีนหนึ่งอันเดียวกันระหว่างคนที่เชื่อในพระเจ้าต่างชาติกัน หมายความว่า แม้จะเป็นคนละชาติคนละภาษา แต่ก็เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน และรับพระธรรมองค์เดียวกัน ดังที่เปาโลกล่าวว่า “เพราะว่าถึงเราจะเป็นพวกยิวหรือพวกต่างชาติ เป็นทาสหรือมิใช่ทาสก็ตาม เราทั้งหลายได้รับบัพติศมาโดยพระธรรมองค์เดียวเข้าเป็นกายอันเดียวกัน และพระธรรมองค์เดียวกันนั้นซาบซ่านอยู่ (1 คร 12:13)
4. เป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงการผูกมัดระหว่างพระเยซูผู้เป็นนายเรา และพระองค์เป็นผู้ช่วยให้เราหลุดพ้น ในพิธีนี้แสดงว่าเราได้ตายกับพระเยซูแล้ว และได้เป็นขึ้นมาจากความตาย มีชีวิตใหม่ในพระองค์ พระองค์ยังเป็นพลังส่งเสริมให้เราดำเนินชีวิตอย่างคนชอบธรรม ดังที่เปาโลกล่าวว่า “ถึงแม้ว่าเมื่อเราตายไปแล้วในการบาป พระองค์ยังทรงกระทำให้เรามีชีวิตอยู่กับพระคริสต์ (ซึ่งท่านทั้งหลายหลุดพ้นนั้นก็หลุดพ้นโดยพระคุณ) และพระองค์ทรงให้เราเป็นขึ้นมากับพระองค์ และทรงโปรดให้เรานั่งในสวรรค์สถานกับพระองค์ในพระเยซูคริสต์ (อฟ 2:5-6)
ดังนั้นการรับบัพติศมา จึงไม่ใช่การทำพิธีเพื่อจะเข้าศาสนา หรือเปลี่ยนศาสนา หรือไม่ใช่พิธีล้างบาป เพราะบาปได้ถูกล้างแล้วก่อนที่จะทำพิธีนี้ พิธีนี้จึงเป็นเพียงเครื่องหมายตามที่อธิบายแล้วข้างต้น การรับบัพติศมาเป็นสิ่งสำคัญเพราะเป็นการบอกกับตัวเราเองว่าได้รับชีวิตใหม่แล้ว ได้เข้าส่วนในความตายและการเป็นขึ้นมาจากความตายกับพระเยซู ได้รับพระธรรมของพระเจ้า และประสานสัมพันธ์กันระหว่าเชื้อชาติ และได้มีการผูกมัดระหว่างพระเยซูผู้เป็นนายเรา และพระองค์เป็นผู้ช่วยให้เราหลุดพ้น ถ้าเข้าใจเชนนี้แล้วรับรับบัพติศมา ควรจะให้ผู้นำแห่งชุมชนพระเจ้าที่คุณอยู่ด้วยนั้นเป็นผู้ทำพิธี
เขียนโดย Banpote Wetchgama (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี)
แก้ไขล่าสุด ใน วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม 2012 เวลา 15:15 น.
แก้ไขล่าสุด (วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน 2012 เวลา 12:44 น.)