8.พระเยซูและธรรมบัญญัติ มัทธิว 5:17-18
พระเยซูและธรรมบัญญัติ มัทธิว 5:17-18
เขียนโดย…บรรพต เวชกามา (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี)
วันพุธที่ 24 พฤษภาคม 2011 เวลา 15:20 น.
17 อย่าคิดว่าเรามาล้มเลิกธรรมบัญญัติและคำของบรรดาคนทรงของพระเจ้าเราไม่ได้มาล้มเลิก แต่มาทำให้สมบูรณ์ทุกประการ 18 เพราะเราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า จนกว่าฟ้าและดินจะล่วงไป แม้อักษรที่เล็กที่สุด หรือขีด ขีดหนึ่งก็จะไม่มีวันสูญไปจากธรรมบัญญัติ จนกว่าทุกสิ่งจะเกิดขึ้น
เมื่อพระเยซูปรากฏตัวขึ้น เพื่อทำพันธกิจของพระเจ้า และประกาศบารมีของพระองค์ ดูเหมือนว่า พระองค์ละเลยธรรมบัญญัติ อันเป็นหัวใจสำคัญของพวกยิว
พวกยิวถือว่า พวกเขาพิเศษกว่าคนอื่นก็เพราะว่าเขามีธรรมบัญญัติ และพิธีเข้าสุหนัต
แต่พระเยซูกลับทำเหมือนว่าธรรมบัญญัติไม่สำคัญอะไร พระองค์เองละเลยไม่ทำตามธรรมบัญญัติโดยรักษาคนป่วยในวันสะบาโต และสาวกของพระองค์ก็ละเลยโดยการเด็ดรวงข้าวในวันสะบาโต ชื่อเสียงของพระเยซูเกี่ยวกับการรักษาธรรมบัญญัติจึงไม่ดี
เมื่อเป็นเช่นนั้นเมื่อพระองค์เริ่มสั่งสอน พระองค์จึงเน้นว่า “เราไม่ได้มาเลิกล้างธรรมบัญญัติและคำของคนทรงของพระเจ้า” (มธ 5:17-18) ธรรมบัญญัตินั้นหมายถึง“พระคัมภีร์เดิมทั้งหมด” หรือ“ส่วนใดส่วนหนึ่ง” (เปรียบเทียบ มธ 7:12) ส่วนคำของคนทรงของพระเจ้า หมายถึง “หนังสือพระคัมภีร์หมวดคนทรงของพระเจ้า”
จุดประสงค์ที่พระเยซูเข้ามาในโลก
การที่พระเยซูกล่าวเช่นนี้ชี้ให้เห็นว่าพระองค์ต้องการแก้ไขความเข้าใจผิดของคนอื่นๆ ที่เข้าใจพระองค์ผิดเกี่ยวกับการรักษาธรรมบัญญัติ ในขณะนั้นถึงแม้พระเยซูจะเพิ่งเริ่มออกปฏิบัติพันธกิจ แต่ก็มีหลายคนไม่พอใจในทัศนคติของพระองค์ต่อธรรมบัญญัติ
จากการบันทึกของมาระโกเราจะเห็นว่า สาวกของพระองค์เด็ดรวงข้าว และพระองค์ก็รักษาชายที่มือลีบในวันสะบาโต ก่อนที่จะเลือกอัครทูต 12 คน (มก 2:23-3:6)
ในตอนเริ่มแรกคนทั้งปวงก็ประหลาดใจในสิทธิอำนาจของพระองค์ในการสั่งสอน จึงพากันถามว่า “การนี้เป็นอย่างไรหนอ เป็นคำสั่งสอนใหม่แน่ ท่านสั่งผีโสโครกด้วยสิทธิ์อำนาจและมันจำต้องฟัง” (มก 1:27)
ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่คนจะต้องอยากรู้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างสิทธิอำนาจของพระเยซู กับสิทธิอำนาจแห่งธรรมบัญญัติของโมเสสเพราะพวกเขาเป็นครูสอนธรรมบัญญัติ ซึ่งทุ่มเทในการศึกษาความหมายของธรรมบัญญัติและจะอวดอ้างสิทธิอำนาจของแหล่งต่างๆที่พวกเขาอ้างอิง แต่ก็ไม่เคยอ้างว่าตัวเองมีสิทธิอำนาจ
ทว่าพระเยซูสั่งสอนด้วยสิทธิอำนาจของพระองค์เอง พระองค์ชอบใช้วลีหนึ่งที่บรรดาผู้พยากรณ์ในสมัยก่อนพระองค์และพวกคัมภีราจารย์ ในสมัยนั้นไม่เคยใช้เลย คือพระองค์มักเริ่มต้นคำสอนด้วย “เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า” โดยกล่าวในนามของพระองค์เองด้วยสิทธิอำนาของพระองค์ ซึ่งทำให้หลายคนคิดว่าพระเยซูได้ตั้งสิทธิอำนาจของตัวเองขึ้นเพื่อลบล้างธรรมบัญญัติ และพระคำของพระเจ้าในพระคัมภีร์เดิม
พระเยซูจึงขจัดความเข้าใจผิดในเรื่องนี้โดยเริ่มต้นกล่าวว่า “อย่าคิดว่าเรามาเลิกล้างธรรมบัญญัติและคำของคนทรงของพระเจ้า”
ปัจจุบันยังมีคนถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างพระเยซูกับโมเสส และระหว่างพระคัมภีร์เดิมกับพระคัมภีร์ใหม่อยู่เสมอ เราควรจะตอบตรงประเด็น ดังที่พระเยซูได้กระทำว่า พระเยซูไม่ได้มา เลิกล้าง (ธรรมบัญญัติหรือศีลธรรม) แต่พระองค์มาทำให้สมบูรณ์ทุกประการ พระองค์ไม่ได้มาเพียงเพื่อ รับรอง ธรรมบัญญัติและคำของคนทรงของพระเจ้า แต่พันธกิจของพระองค์ในการเสด็จมาในโลกนี้คือการมาทำให้ธรรมบัญญัติและคำของผู้พยากรณ์ สำเร็จสมบูรณ์ทุกประการ
พระคริสต์ทำให้พระคัมภีร์เดิมสำเร็จ
คำกริยา ‘ทำให้สมบูรณ์’ นั้นภาษากรีกคือ เพลโรไซ (plerosai) ถ้าแปลตามตัวอักษรจะหมายถึง ‘การเติมให้เต็ม’
นักกาการศึกษาพระคัมภีร์คนหนึ่งคือ Chrysostom กล่าวว่า ‘คำสอนของพระเยซูไม่ได้เป็นการลบล้างธรรมบัญญัติและคำของคนทรงของพระเจ้า แต่เป็นการให้ความหมายที่สมบูรณ์แก่สิ่งเหล่านั้น’ ถ้าเราต้องการเข้าใจความหมายอันสำคัญนี้ เราควรตระหนักว่า ธรรมบัญญัติและคำของผู้พยากรณ์ซึ่งหมายถึงพระคัมภีร์เดิมทั้งหมดนั้นมีคำสอนอยู่หลายด้าน และพระคริสต์มาเพื่อจะทำให้คำสอนตามธรรมบัญญัติสำเร็จและปฏิบัติตามนั้นในทุกด้านได้อย่างสมบูรณ์ทุกประการ
ในด้านแรก พระคัมภีร์เดิมมีคำสอนด้านหลักคำสอน (Doctrinal teaching) คำว่า ‘โทราห์’ (Torah) ในภาษาฮีบรูซึ่งมักจะแปลว่า ‘ธรรมบัญญัติ’ (Law=หรือกฎหมาย) นั้นในความจริงแล้วหมายถึง ‘คำสอนที่เปิดเผยออกมา’ (revealed instruction) และพระคัมภีร์เดิมมีคำสอนที่เปิดเผยให้เราทราบถึงเรื่องของพระเจ้า มนุษย์
ความหลุดพ้น และเรื่องอื่นๆ พระเจ้าทรงได้เปิดเผยความจริงที่สำคัญทั้งหมดไว้ในพระคัมภีร์เดิม แต่การเปิดเผยในพระคัมภีร์เดิมนั้นเป็นการเปิดเผยเพียงบางส่วน และพระเยซูได้ทำให้การเปิดเผยนั้นสมบูรณ์ในตัวของพระองค์เอง ในคำสอนและในพันธกิจของพระองค์ (ฮบ 1:1,2)
นักการศึกษาอีกท่านหนึ่งคือ Bishop Ryle ได้สรุปไว้ดังนี้ว่า ‘พระคัมภีร์เดิมคือบารมีของพระเจ้าที่เพิ่งออกดอกตูม ในพระคัมภีร์ใหม่บารมีพรเจ้าเป็นดอกไม้ที่เบ่งบานเต็มที่ ในพระคัมภีร์เดิมบารมีพระเจ้าเพิ่งเริ่มแตกใบ แต่ในพระคัมภีร์ใหม่บารมีพระเจ้าเป็นรวงข้าวที่สุกงอมแล้ว’
ในด้านที่สอง พระคัมภีร์เดิมมี‘คำพยากรณ์ที่ทำนายถึงอนาคต” ส่วนใหญ่จะกล่าวถึงการเสด็จมาของพระมาซีอะห์ (Messiah) ซึ่งบางทีกล่าวอย่างตรงไปตรงมา บางทีกล่าวเชิงเปรียบเปรย แต่ก็เป็นเพียงการคาดหวังเท่านั้น พระเยซูทำให้คำพยากรณ์เหล่านั้น‘สำเร็จ’ในชีวิตของพระองค์
ข้อความแรกที่พระเยซูกล่าวในการปฏิบัติพันธกิจของพระองค์คือ ‘เวลากำหนดมาถึงแล้ว…’ (มก 1:14) และการที่พระเยซูกล่าวไว้ใน มธ 5:17 ว่า ‘เรามาทำให้สมบูรณ์ทุกประการ’ เป็นการบ่งถึงความจริงนี้
ครั้งแล้วครั้งเล่าที่พระเยซูบอกว่าพระคัมภีร์เดิมเป็นพยานให้แก่พระองค์ และมัทธิวได้เน้นสิ่งนี้มากกว่าผู้เขียนหนังสือพระบารมีพระเจ้าคนอื่นโดยใช้ข้อความนี้บ่อยๆ ‘ทั้งนี้เกิดขึ้นเพื่อจะให้สำเร็จตามพระคำของพระเจ้าผู้เป็นเจ้า ซึ่งตรัสไว้โดยคนทรงของพระเจ้า’ (มธ 1:22;3:3;4:14;และอื่นๆ มธ 11:13 บอกไว้ว่าคำของคนทรงทั้งหลายของพระเจ้า และธรรมบัญญัติได้พยากรณ์มาจนถึงยอห์น โดยอ้างถึงการเสด็จมาของพระคริสต์และได้สำเร็จในชีวิตของพระองค์)
จุดสุดยอดของการทำให้คำพยากรณ์สำเร็จคือ การตายของพระองค์บนกางเขน ซึ่งให้ความหมายที่สมบูรณ์แก่พิธีกรรมในการถวายเครื่องสัตว์บูชาโดยปุโรหิตในพระคัมภีร์เดิม
ดังนั้นพิธีกรรมเหล่านั้นจึงไม่จำเป็นอีกต่อไป นักปฏิรูปศาสนาท่านหนึ่งคือ Calvin ได้อธิบายไว้อย่างถูกต้องว่า ‘ไม่มีความจำเป็นต้องทำพิธีกรรมเหล่านั้นอีกต่อไป เพราะการตายของพระคริสต์ได้บรรลุถึงจุดประสงค์อันสมบูรณ์ของพิธีกรรมเหล่านั้นแล้ว’ สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียง “เงา” ของเหตุการณ์ที่จะมีมาในภายหลังแต่สาระที่แท้จริงเป็นของพระคริสต์ (คส 2:17)
ในด้านที่สาม พระคัมภีร์เดิมมีคำสอน ‘ด้านจริยธรรมของพระเจ้า’ เรามักเข้าใจผิดเกี่ยวกับคำสอนด้านนี้ และยิ่งกว่านั้นมักจะมีการละเมิดคำสอนด้านนี้ พระเยซูทำให้คำสอนด้านนี้ ‘สมบูรณ์’ในแง่ของการเชื่อฟังธรรมบัญญัติอย่างเต็มที่ พระเยซูได้ถือ“กำเนิดภายใต้ธรรมบัญญัติ” (กท 4:4) และมุ่งมั่นดังที่พระองค์ได้บอกยอห์นผู้ทำพิธีมุดน้ำว่า ‘สมควรที่เราทั้งหลายจะกระทำตามสิ่งชอบธรรมทุกประการ’ (มธ 3:15)
นักการศึกษาพระคัมภีร์คนหนึ่ง Bonhoeffer กล่าวว่า ‘พระเยซูไม่เพิ่มเติมอะไรเข้าไปในธรรมบัญญัติของพระเจ้า เพียงแต่รักษาธรรมบัญญัติเหล่านั้นอย่างสมบูรณ์’ พระองค์ไม่ได้ปฏิบัติตามแต่ผู้เดียว แต่ยังอธิบายการเชื่อฟังนี้ให้กับเหล่าสาวกด้วย
พระเยซูไม่ยอมรับการตีความหมายธรรมบัญญัติแบบผิวเผินของพวกคัมภีราจารย์ แต่อธิบายความหมายที่แท้จริงให้แก่เหล่าสาวก พระองค์ไม่ได้ดัดแปลงหรือเลิกล้มธรรมบัญญัติใด แต่ทำให้ความหมายอันลึกซึ้งของธรรมบัญญัติทั้งมวลนั้นกระจ่างขึ้น
พระเยซูทำให้ธรรมบัญญัติ“สมบูรณ์”โดยเรียกร้องให้เราปฏิบัติตามความชอบธรรมอันสูงส่งของพระเจ้า นี่คือสิ่งที่พระเยซูเน้นในส่วนที่เหลือของมัทธิวบทที่ 5 โดยยกตัวอย่างต่างๆดังที่เราจะเห็นต่อไป
การเข้าใจผิดเรื่องธรรมบัญญัติ
ตลอดประวัติศาสตร์ทุกยุคสมัยของชุมชนพระเจ้า มีคนที่ไม่ยอมรับทัศนคติของพระเยซูที่มีต่อธรรมบัญญัติเสมอ ในศตวรรษที่สองมีครูสอนลัทธิเทียมเท็จผู้โด่งดังชื่อ มาซิโอน (Macion) เขาได้แก้ไขพระคัมภีร์ใหม่โดยตัดข้อความที่อ้างอิงถึงพระคัมภีร์เดิมออกหมด และได้ตัดข้อความตอนนี้ในหนังสือมัทธิวออกไปด้วย
ลูกศิษย์ของมาซิโอนบางคนได้บิดเบือนพระคัมภีร์มากขึ้นไปอีกโดยการสลับตำแหน่งของคำกริยาเพื่อให้ความหมายกลับกันดังนี้ว่า ‘เรามิได้มาทำให้ธรรมบัญญัติและคำสอนของผู้พยากรณ์สมบูรณ์ แต่มาเลิกล้างทุกประการ’
ลูกศิษย์ของมาซิโอนในสมัยปัจจุบันคือพวกที่เผยแพร่หลัก “ศีลธรรมใหม่” (New Morality) ที่สอนว่าธรรมบัญญัติได้ถูกยกเลิกไปแล้ว ผู้เชื่อในพระเจ้าไม่ต้องอยู่ใต้ธรรมบัญญัติใดๆ นอกจากธรรมบัญญัติแห่งความรัก
แต่ใน มธ 5:17 พระเยซูสอนว่าพระองค์ไม่ได้มายกเลิกธรรมบัญญัติ แต่ทำให้ธรรมบัญญัตินั้นสมบูรณ์
พระคริสต์และธรรมบัญญัติ
เปาโลสอนความจริงประการเดียวกันนี้อย่างชัดเจน (ตัวอย่างเช่นใน กจ 26:22,23) เมื่อเปาโลพูดว่า ‘พระคริสต์ทรงเป็นจุดจบของธรรมบัญญัติ’ (รม 10:4) ท่านไม่ได้หมายความว่าเราไม่ต้องเชื่อฟังธรรมบัญญัติต่อไป แต่ในทางตรงกันข้ามเราได้รับการช่วยเหลือจากพระธรรมให้สามารถเชื่อฟังธรรมบัญญัติและทำตามธรรมบัญญัติได้ (รม 8:4)
พระคริสต์เป็นจุดจบของธรรมบัญญัตินั้นหมายความว่า การที่คนเราจะเป็นที่ยอมรับของพระเจ้านั้นไม่ขึ้นอยู่กับการรักษาธรรมบัญญัติ หรือทำตามธรรมบัญญัติ แต่ขึ้นอยู่กับความเชื่อในพระคริสต์ แท้ที่จริงแล้วธรรมบัญญัติก็เป็นพยานถึงบารมีพระเจ้าแห่งความชอบธรรมโดยอาศัยความเชื่อในพระเยซูคริสต์ (รม 3:21,22)
ความสำคัญของธรรมบัญญัติในทัศนะของพระเยซู
พระเยซูอธิบายว่า พระองค์มาทำให้ธรรมบัญญัติสมบูรณ์ทุกประการเพราะธรรมบัญญัติจะไม่สูญไปจนกว่าทุกอย่างจะสมบูรณ์ (มธ 5:18) และผลที่ตามคือ เหล่าสาวกที่เป็นประชากรในแผ่นดินของพระเจ้าจะต้องรักษาธรรมบัญญัติ (5:19,20)
การรักษาธรรมบัญญัติของผู้เชื่อในพระเจ้านั้น ไม่ใช่เพื่อจะได้รับความหลุดพ้น เพราะนั่นไม่ใช่หน้าที่ของเรา แต่เป็นหน้าที่ของพระเยซู หน้าที่ของเราคือ รักษาธรรมบัญญัติ ทำตามธรรมบัญญัติ เพราะว่า “เราถูกชำระให้เป็นคนบุญ”แล้วในความหลุดพ้นขั้นที่หนึ่ง (Justification)
พระเยซูกล่าวถึงธรรมบัญญัติที่พระองค์มาทำให้สมบูรณ์ว่า ‘เราบอกความจริงแก่ท่านทั้งหลายว่า ตราบใดที่ฟ้าและดินดำรงอยู่ แม้อักษรหนึ่ง (คำในภาษกรีกคือ อิโอตา=iota ซึ่งตรงกับคำว่า “ยอด”=yort ในภาษาฮีบรู ซึ่งเป็นตัวอักษรฮีบรูที่มีขนาดเล็กที่สุด) หรือขีดๆหนึ่ง (คำในภาษากรีกคือ แคไรอะ=karaia ซึ่งหมายถึงชีดเล็กๆที่ใช้บอกความแตกต่างระหว่างตัวอักษรในภารฮีบรู) ก็จะไม่สูญไปจากธรรมบัญญัติ
ธรรมบัญญัติในที่นี่หมายถึงสิ่งที่พระเจ้าเปิดเผยในพระคัมภีร์เดิมทั้งหมด จะไม่มีส่วนใดของพระคัมภีร์เดิมแม้แต่อักษรหนึ่งหรือขีดหนึ่งที่จะสูญไป หรือถูกยกเลิกไปจนกว่าจะสำเร็จอย่างสมบูรณ์ คือเมื่อฟ้าและดินล่วงไปในวันที่พระเจ้าทรงสร้างท้องฟ้าใหม่และแผ่นดินโลกใหม่ (มธ 24:36 เปรียบเทียบกับ มธ 19:28)
เมื่อถึงวันนั้นพระคำของพระเจ้าที่บันทึกไว้ก็ไม่จำเป็นอีกต่อไป เพราะว่าทุกสิ่งในนั้นได้สำเร็จแล้ว การสำเร็จอย่างสมบูรณ์ของพระคำในครั้งสุดท้ายและการสร้างท้องฟ้าและแผ่นดินโลกใหม่จะเกิดขึ้นพร้อมกัน
ธรรมบัญญัติและท้องฟ้าเก่าแผ่นดินโลกเก่าจะล่วงไปพร้อมกัน ในคำสอนตอนนี้พระเยซูได้กล่าวถึงท่าทีและความเข้าใจของพระองค์เกี่ยวกับพระคัมภีร์เดิมไว้อย่างชัดเจน (เปรียบเทียบกับ ลก 16:16,17)
ดังนั้น พระเยซูจึงเป็นผู้ที่มีหน้าที่มาทำตามธรรมบัญญัติ และทำให้คำพยากรณ์ในหนังสือพระคัมภีร์เดิมสำเร็จ หน้าที่นี้ ไม่ใช่หน้าที่ของเรา เพราะเราทำไม่ได้ พระองค์มาทำตามธรรมบัญญัติ เพราะพระองค์รู้ว่าเราทำไม่ได้
ธรรมบัญญัติที่ว่า “รักพระเจ้าสุดจิตสุดใจ และรักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง” นั้น พระองค์บอกให้เราทำ เพื่อเราจะได้รู้ว่า เราทำไม่ได้
เมื่อรู้เช่นนั้นแล้ว เราก็กลับไปพึ่งพระองค์ เพราะพระองค์ทำได้แล้ว พระองค์รักพระเจ้าสุดจิตสุดใจ โดยยอมเชื่อฟังพระเจ้าจนกระทั่งพบกับความตายบนกางเขน และพระองค์รักเพื่อนบ้านเหมือนรักตนเอง โดยยอมตายเพื่อคนอื่น ยอมเป็นเครื่องบูชาไถ่บาป
เรายากจะทำตามธรรมบัญญัติข้อนี้ให้ได้ เราจะต้อง “อยู่ใน”พระเยซู เมื่ออยู่ในพระองค์แล้ว เราก็ทำได้ เพราะการกระทำของพระองค์ ซึ่งเป็นของเรา
เขียนโดย Banpote Wetchgama (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี)
แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสที่ 5 มิถุนายน 2012 เวลา 20:15 น.
(ข้อมูลที่เกี่ยวกับ“พระคริสต์และธรรมบัญญัติ” ที่นำมาเขียนในบทความนี้อ้างอิงจากหนังสือ “Christian Counter-Culture by John R. W. Stott” PP. 69-73)
แก้ไขล่าสุด (วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน 2012 เวลา 12:44 น.)