9.ผู้เชื่อในพระเจ้าและธรรมบัญญัติ มัทธิว 5:19-20
ผู้เชื่อในพระเจ้าและธรรมบัญญัติ มัทธิว 5:19-20
เขียนโดย…บรรพต เวชกามา (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี)
วันพุธที่ 25 พฤษภาคม 2011 เวลา 14:20 น.
19 เพราะฉะนั้น ใครทำให้ข้อเล็กน้อยเพียงข้อหนึ่งในพระบัญญัตินี้ มีความสำคัญน้อยลง และสอนคนอื่นให้ทำอย่างนั้นด้วย คนนั้นจะได้ชื่อว่าเป็นผู้เล็กน้อยที่สุดในแผ่นดินสวรรค์ แต่ใครที่ประพฤติและสอนตามธรรมบัญญัติ คนนั้นจะชื่อว่าเป็นใหญ่ในแผ่นดินสวรรค์ 20 เพราะเราบอกพวกท่านว่า ถ้าบุญของท่านไม่มากกว่าบุญของพวกคัมภีราจารย์ และพวกฟาริสี พวกท่านจะไม่มีวันได้เข้าสู่แผ่นดินสวรรค์
ในหนังสือมัทธิวบทที่ 5:19 ขึ้นต้นด้วยคำว่า “เพราะฉะนั้น” ซึ่งบ่งบอกว่าสิ่งที่พระเยซูสอนในข้อที่ 19 และ 20 นั้นเป็นผลมาจากความมั่นคงถาวรของธรรมบัญญัติและท่าทีของพระเยซูที่มีต่อธรรมบัญญัติ คำสอนตอนนี้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างธรรมบัญญัติของพระเจ้าและแผ่นดินของพระองค์ เพราะว่าพระเยซูไม่ได้มาเลิกล้างธรรมบัญญัติแต่มาทำให้สมบูรณ์ และเพราะว่าแม้อักษรหนึ่งหรือขีดๆหนึ่งจะไม่สูญไปจากธรรมบัญญัติจนกว่าทุกอย่างสำเร็จ
เหตุฉะนั้นผู้ที่จะได้ชื่อว่าเป็นใหญ่ในแผ่นดินของพระเจ้าจะต้องประพฤติตามธรรมบัญญัติ แต่การประพฤติตามธรรมบัญญัติยังไม่เพียงพอ สาวกของพระเยซูต้องสอนคนอื่นให้ตระหนักถึงความยั่งยืนถาวรของธรรมบัญญัติในการดำเนินชีวิตด้วย ธรรมบัญญัติทุกข้อ“มีความสำคัญ”ไม่เท่ากัน (เปรียบเทียบกับ มธ 23:23)
แม้แต่ข้อเล็กน้อยที่สุดก็สำคัญเพราะเป็นพระบัญชาของพระเจ้าผู้เป็นจอมกษัตริย์ การทำให้ธรรมบัญญัติข้อหนึ่งข้อใดหย่อนยาน ก็เท่ากับไม่ยอมให้ธรรมบัญญัติมีสิทธิอำนาจควบคุมจิตสำนึกของเราและไม่เอาใจใส่ที่จะประพฤติตามธรรมบัญญัติ ทั้งสองอย่างเป็นการลบหลู่พระเจ้าผู้ทรงบัญชาธรรมบัญญัตินั้น
การละเลยธรรมบัญญัติข้อที่เล็กน้อยที่สุด คือไม่ประพฤติตามและไม่สอนคนอื่น จะทำให้ผู้นั้นเป็นผู้น้อยที่สุดในแผ่นดินของพระเจ้า ผู้ที่เป็นใหญ่ในแผ่นดินของพระเจ้าคือ บุคคลที่ประพฤติ และสอนธรรมบัญญัติทางจริยธรรมทั้งหมดอย่างสัตย์ซื่อ
นักการศึกษาพระคัมภีร์คนหนึ่งคือ Spurgeon กล่าวว่า “เกณฑ์ที่ใช้ในการจัดลำดับความเป็นใหญ่ในแผ่นดินของพระเจ้าคือ การเชื่อฟังธรรมบัญญัติ”
คำสอนของพระเยซูเรืองการเป็นบุญ
พระเยซูอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า ไม่ใช่เพียงแต่การเป็นใหญ่ในแผ่นดินของพระเจ้าจะขึ้นอยู่กับการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติเท่านั้น แต่เราไม่สามารถเข้าในแผ่นดินของพระเจ้าได้หากไม่ปฏิบัติตามธรรมบัญญัติให้ยิ่งกว่าพวกคัมภีราจารย์ และฟาริสี เพราะว่าแผ่นดินของพระเจ้าเป็นแผ่นดินแห่งคนบุญ
บางคนอาจจะค้านว่าสิ่งนี้จะเป็นไปได้อย่างไร เพระว่าพวกคัมภีราจารย์และพวกฟาริสีเป็นพวกที่รู้จักกันดีในด้านการเป็นคนบุญที่อุทิศชีวิตเพื่อทำตามธรรมบัญญัติ
พวกเขาศึกษาธรรมบัญญัติและตีความว่ามีข้อควรปฏิบัติ 248 ข้อ และข้อห้าม 365 ทั้งยังมุ่งมั่นที่จะทำให้ได้ทุกข้อ
ถ้าเป็นเช่นนี้บุญของผู้เชื่อในพระเจ้าจะยิ่งกว่าพวกคัมภีรจารย์และฟาริสีได้อย่างไร และทำไมพระเยซูจึงได้เอาบุญของผู้เชื่อในพระองค์ที่ยิ่งกว่าของคัมภีราจารย์และฟาริสีมาเป็นข้อแม้ในการเข้าสู่แผ่นดินของพระเจ้า ซึ่งเท่ากับสอนว่าเราจะได้รับความหลุดพ้นโดยการทำดีมิใช่หรือ? และยังขัดกับคำสอนในตอนต้นที่ว่าแผ่นดินของพระเจ้าเป็นของบุคคลที่รู้สึกบกพร่องฝ่ายวิญญาณที่ไม่มีความชอบธรรมใดๆ ที่จะอวดอ้างมิใช่หรือ?
บุญของผู้เชื่อในพระเจ้าจะต้องมากกว่าพวกฟาริสี
คนที่ฟังพระเยซูสอนในสมัยนั้นคงจะถามคำถามข้างต้นเช่นเดียวกับเราในปัจจุบัน แต่คำตอบสำหรับคำถามนี้อยู่ไม่ไกล บุญของผู้เชื่อในพระองค์เหนือกว่าบุญของพวกคัมภีราจารย์และฟาริสีในเชิงคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ บุญของผู้เชื่อพระเจ้าเหนือกว่าไม่ใช่เพราะว่าผู้เชื่อพระเจ้ารักษากฎได้ 240 ข้อ แต่ฟาริสีรักษากฎได้เพียง 230
แต่บุญของผู้เชื่อในพระเจ้าที่เหนือกว่าเพราะว่าเป็นบุญที่ลึกซึ้งกว่า นั่นคือ เป็นบุญที่ลึกไปถึงจิตใจ แม้มีการกล่าวถึงทฤษฎีจิตวิทยาระดับลึกของฟรอยด์ (Freud) อย่างมากมาย
แต่พระเยซูชี้ให้เห็นว่าสิ่งที่สำคัญกว่าคือ บุญระดับลึก ฟาริสีพอใจกับการเชื่อฟังที่เป็นพฤติกรรมภายนอกและเป็นพิธีกรรม แต่พระเยซูชี้ให้เห็นว่าพระเจ้าทรงเรียกร้องบุญภายในจิตใจและเจตนา เพราะ “พระเจ้ามองที่จิตใจ” (1 ซมอ 16:7;เปรียบเทียบกับ 16:15)
พระสัญญาของพระเจ้า
บรรดาคนทรงของพระเจ้าได้พยากรณ์ว่า พระพรอย่างหนึ่งที่จะได้รับเมื่อพระมาซีอะห์ (Messiah) เสด็จมาคือ บุญในจิตใจ พระเจ้าทรงสัญญาว่า “เราจะบรรจุพระธรรมไว้ในเขาทั้งหลาย และเราจะจารึกไว้บนดวงใจของเขาทั้งหลาย” (ยรม 31:33) พระเจ้าจะทรงทำสิ่งนี้ได้อย่างไร “เราจะใส่ธรรมะของเราภายในเจ้า และกระทำให้เจ้าดำเนินตามกฎเกณฑ์ของเรา” (อสค 36:27)
พระเจ้าทรงสัญญาว่า จะบรรจุทั้งธรรบบัญญัติและพระธรรมไว้ภายในเราในเวลาเดียวกัน เราต้องไม่คิดเหมือนอย่างบางคนว่า เมื่อเรามีพระธรรมแล้วเราก็ไม่จำเป็นต้องมีธรรมบัญญัติอีกต่อไป เพราะสิ่งที่พระธรรมทำคือจารึกธรรบบัญญัติของพระเจ้าไว้บนดวงใจของเรา
ดังนั้น “พระธรรม” “ธรรมบัญญัติ” “บุญ” และ “ใจ” เป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องกันทั้งหมด พวกฟาริสีคิดว่าการกระทำภายนอกตามธรรมบัญญัติเป็นบุญที่เพียงพอ “ครูที่สอนเรื่องบุญ” (ที่บันทึกไว้ในหนังสือม้วนทะเลตาย) สอนให้พวกเอสเซน (Essenes) เชื่อฟังธรรมบัญญัติอย่างเคร่งคัดกว่าพวกฟาริสีเสียอีก
แต่พระเยซูสอนการเชื่อฟังธรรมบัญญัติอย่างเคร่งครัดที่สุด ถ้าพวกเอสเอซนเรียกร้องให้เชื่อฟังธรรมบัญญัติมากขึ้นๆ พระเยซูก็เรียกร้องให้เชื่อฟังธรรมบัญญัติแบบลึกขึ้นๆ การเชื่อฟังธรรมบัญญัติแบบลึกซึ้งนี้เป็นบุญในจิตใจที่จะเกิดขึ้นได้เฉพาะในบุคคลที่ได้เกิดใหม่โดยพระธรรมและมีพระธรรมสถิตตอยู่ในชีวิต
นี่เป็นเหตุผลว่าทำไมบุญที่เหนือกว่าของพวกคัมภีราจารย์และฟาริสีเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเข้าในแผ่นดินของพระเจ้าเพราะบุญแบบนี้เป็นหลักฐานที่แสดงถึงการบังเกิดใหม่ และไม่มีผู้ใดสามารถเข้าในแผ่นดินของพระเจ้าได้นอกจากบุคคลที่บังเกิดใหม่แล้ว (ยน 3:3,5)
เนื้อหาสาระในมัทธิวบทที่ 5
เนื้อหาส่วนที่เหลือของมัทธิวบทที่ 5 เป็นตัวอย่างของบุญอันยิ่งใหญ่กว่าหรือลึกซึ้งกว่าของผู้เชื่อในพระเจ้า ตัวอย่าง 6 ประการซึ่งช่วยให้เราเข้าใจถึงสิ่งที่พระเยซูสอน ในข้อที่ 17-20 เกี่ยวกับความยั่งยืนถาวรของธรรมบัญญัติ การเสด็จมาของพระองค์ซึ่งทำให้การทำตามธรรมบัญญัติด้านจริยธรรมสมบูรณ์ และความรับผิดชอบของเหล่าสาวกที่จะต้องปฏิบัติตามธรรมบัญญัติให้ลึกซึ้งกว่าที่พวกคัมภีราจารย์และฟาริสีกระทำอยู่
ในทุกตัวอย่างที่มีการกล่าวถึงความแตกต่างระหว่างสองแนวความคิดโดยใช้คำพูดแบบเดียวกัน “ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้แก่คนโบราณว่า…ฝ่ายเราบอกท่านทั้งหลายว่า…”(21,22)
ความแตกต่างระหว่างพระเยซูและพวกคัมภีราจารย์
สาระของความแตกต่างกันนี้คืออะไร เราเห็นได้ชัดว่า พระเยซูสอนด้วยสิทธิอำนาจของพระองค์เอง แต่พระองค์เปรียบเทียบคำสอนของพระองค์กับใครกัน เราจำเป็นต้องตอบคำถามนี้ก่อนที่จะพิจารณารายละเอียดของความขัดแย้งกันของคำสอนในบทต่อๆไป
นักอธิบายพระคัมภีร์หลายคนคิดว่าพระเยซูเปรียบเทียบกับคำสอนของโมเสส นั่นคือพระเยซูกำลังตั้งระบบจริยธรรมขึ้นมาใหม่ที่ตรงข้ามกับธรรมบัญญัติของโมเสส โดยที่เราสามารถเรียบเรียงคำตรัสของพระเยซูอีกแบบหนึ่งได้ดังนี้ “ท่านทั้งหลายรู้ว่าพระคัมภีร์เดิมสอนไว้ว่า…แต่เราสอนท่านทั้งหลายว่า”
ถึงแม้จะมีคนจำนวนมากตีความหมายพระคัมภีร์ตอนนี้เช่นนี้ แต่เราสามารถบอกได้ว่าเป็นการตีความหมายที่ไม่ถูกต้องและไม่มีหลักฐาน พระเยซูไม่ได้หักล้างธรรมบัญญัติที่พระเจ้าทรงประทานผ่านโมเสส
แต่พระองค์คัดค้านการที่พวกคัมภีราจารย์และฟาริสีบิดเบือนธรรมบัญญัติ โดยมีเหตุผลสนับสนุน 4 ประการว่า พระเยซูไม่ได้หักล้างธรรมบัญญัติ แต่พระองค์รับรองธรรมบัญญัติ ยืนยันถึงสิทธิอำนาจของธรรมบัญญัติและตีความธรรมบัญญัติให้เหล่าสาวกเข้าใจอย่างถูกต้องเสียอีก
พระเยซูคัดค้านเรื่องการบิดเบือนพระคำ
เหตุผลประการแรกมาจากเนื้อหาของคำสอนที่ตรงข้ามกับคำสอนขงพระเยซู เมื่อดูครั้งแรกเราอาจคิดว่าคำสอนนี้คือ ธรรมบัญญัติของโมเสส ในตัวอย่างทั้ง 6 ตัวอย่างจะมีบางส่วนของคำสอนที่เหมือนกับธรรมบัญญัติของโมเสส เช่น อย่าฆ่าคน (21) อย่าล่วงประเวณีผัวเมียเขา (27) ถ้าผู้ใดจะหย่าภรรยาก็ให้ทำหนังสือหย่าแก่ภรรยานั้น (31)
แต่เมื่อมาถึงตัวอย่างที่ 6 เราพบว่ามีบางส่วนที่ต่างจากธรรมบัญญัติของโมเสส ในคำสอน จงรักเพื่อนบ้านแลเกลียดชังศัตรู (43) ส่วนแรกที่ว่า “จงรักเพื่อนบ้าน” เป็นส่วนที่มาจากธรรมบัญญัติ (ลนต 19:18) ถึงแม้จะมีการตัดส่วนที่สำคัญที่ว่า “เหมือนรักตนเอง” ออกไป
แต่ส่วนหลังที่ว่า “และเกลียดชังศัตรู” ไม่มีปรากฏอยู่ในธรรมบัญญัติเลย ไม่ว่าในหนังสือเลวีนิติ 19:18 หรือในที่อื่นๆ ส่วนนี้เป็นเนื้อหาที่พวกคัมภีราจารย์เพิ่มเติมเข้าไปในธรรมบัญญัติเพื่อจะตีความหมายของธรรมบัญญัติ แต่มีผลให้ความหมายของธรรมบัญญัติบิดเบือนไป
และเมื่อพิจารณาตัวอย่างอีก 5 ตัวอย่างโดยละเอียด เราพบว่ามีการบิดเบือนธรรมบัญญัติเช่นเดียวกัน สิ่งที่พระเยซูคัดค้านคือส่วนที่บิดเบือนธรรมบัญญัติ ไม่ใช่ตัวธรรมบัญญัติที่แท้จริง
เพราะพระเยซูไม่ได้สอนให้ทำสิ่งที่ตรงข้ามกับธรรมบัญญัติ แต่สอนให้รักษาธรรมบัญญัติอย่างลึกซึ้งสมบูรณ์ขึ้น (ไม่เพียงแต่จะฆ่าคนไม่ได้ แต่การโกรธก็ไม่ได้เช่นกัน)
พระเยซูหักล้างคำสอนของพวกคัมภีราจารย์
เหตุผลประการที่สอง อยู่ในคำกล่าวนำคำสอนที่พระเยซูต้องการหักล้างซึ่งกล่าวว่า ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้แก่คนโบราณว่า (21,33) หรือ ท่านทั้งหลายได้ยินคำซึ่งกล่าวไว้ว่า (27,38,43) หรือสั้นกว่านั้นลงไปอีก มีคำกล่าวไว้ว่า (31)
คำในภาษากรีกที่พระเยซูใช้ในการกล่าวนำคำสอนเหล่านี้คือ เออร์เรเธ (errethe) ซึ่งแปลว่า “มีคำกล่าวว่า” แต่พระเยซูจะไม่ใช้คำนี้เลยเมื่อต้องการอ้างถึงสิ่งที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์
ทุกครั้งที่พระเยซูยกสิ่งที่พระคัมภีร์บันทึกไว้พระองค์จะใช้คำว่าเกรแกร็ปทัย (gegraptai) ซึ่งแปลว่า “มีคำเขียนไว้ว่า”
ดังนั้นในตัวอย่างทั้ง 6 ตัวอย่างพระเยซูไม่ได้หักล้างสิ่งที่บันทึกไว้ในพระคัมภีร์ซึ่งเป็นพระคำของพระเจ้า (เปรียบเทียบกับ 12:35;9:4;21:16,42;22:31) แต่พระองค์หักล้างคำสอนของพวกคัมภีราจารย์ที่ตกทอดมาจากคนรุ่นก่อนที่ได้ยินมาตั้งแต่พวกคัมภีราจารย์เริ่มสอนในธรรมศาลา
ศาสตราจารย์ ดาวิด เดาเบ (David Daube) ซึ่งมีความรู้กว้างขวางในเรื่องคัมภีราจารย์ได้ยืนยันสิ่งนี้ โดยอธิบายว่า “คำกริยา ได้ยิน (hear) เป็นคำที่เกี่ยวข้องกับความหมายที่ผิวเผินตามตัวอักษรของพระคัมภีร์
ดังนั้นคำสอนที่พวกเขาได้ยินมาจึงเป็นคำสอนที่มาจากการตีความหมายพระคัมภีร์อย่างแคบๆและผิวเผิน แต่พระเยซูเปิดเผยความหมายที่สมบูรณ์ของพระคัมภีร์ในคำสนของพระองค์” คำพูดที่ว่า “ท่านได้ยินคำซึ่งกล่าวว่า…ฝ่ายเราบอกท่านว่า” ชี้ให้เห็นว่า พระเยซูไม่ได้ลบล้างธรรมบัญญัติ แต่สนับสนุนโดยเปิดเผยความหมายอันแท้จริงของธรรมบัญญัติ
พระเยซูไม่ได้ขัดแย้งกับพวกคัมภีราจารย์ในเรื่องสิทธิอำนาจของธรรมบัญญัติ เพราะทั้งพระเยซูและพวกคัมภีราจารย์ยอมรับสิทธิอำนาจของธรรมบัญญัติว่ามาจากพระเจ้า แต่พระเยซูขัดแย้งกับพวกคัมภีรจาย์ในเรื่องการตีความหมายธรรมบัญญัติของพวกเขา
พระเยซูมาเพื่อธรรมบัญญัติสมบูรณ์
เหตุผลประการที่ 3 มาจากบริบทใกล้เคียงของหนังสือตอนนี้ในข้อพระคัมภีร์ที่มาก่อนและเป็นคำนำสำหรับเนื้อหาตอนนี้ (17-20) พระเยซูได้สอนเหล่าสาวกอย่างชัดเจนว่าพระองค์มาเพื่อทำให้ธรรมบัญญัติเป็นจริงสมบูรณ์ทุกประการ และเหล่าสาวกจะต้องประพฤติตามธรรมบัญญัติ
พระเยซูสอนว่าแม้อักษรหนึ่งหรือขีดๆหนึ่งก็จะไม่สูญไปจากธรรมบัญญัติจนกว่าทุกสิ่งจะสำเร็จ เหล่าสาวกต้องทำตามธรรมบัญญัติทุกข้อไม่ละเลยแม้แต่ข้อที่เล็กน้อยที่สุด
เมื่อพระเยซูสอนเช่นนี้แล้ว จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะสอนสิ่งที่ขัดแย้งกับธรรมบัญญัติในตอนต่อมา ถ้าพระเยซูสอนสิ่งที่ขัดแย้งกับธรรมบัญญัติของโมเสสก็เท่ากับว่าพระองค์สอนสิ่งที่ขัดแย้งกับคำสอนของพระองค์เอง
ดังนั้นนักอธิบายพระคัมภีร์ที่คิดว่าพระเยซูต้องการหักล้างธรรมบัญญัติของโมเสสในคำสอนตอนนี้จะไม่สามารถอธิบายความขัดแย้งของการตีความหมายของเขากับบริบทได้ และต้องหันไปพึ่งการอธิบายแบบไร้สาระโดยไม่มีหลักฐานสนับสนุน
ดังเช่นดับบลิว. ซี. แอลเล็น (W. C. Allen) อธิบายว่า “แต่เดิมนั้นไม่มี มธ 5:18,19 ในคำสั่งสอนบนภูเขาของพระเยซู แต่ผู้เขียนหนังสือมัทธิวได้ต่อเติมข้อความตอนนี้เข้าไปในภายหลัง”
แต่ในความจริงแล้วสิ่งที่พระเยซูสอนใน มธ 5:17-20 นั้นไม่เพียงแต่สอดคล้องกับคำสอนส่วนที่เหลือของคำสั่งสอนบนภูเขา แต่ยังสอดคล้องกับคำสอนของพระองค์ที่บันทึกไว้ในตอนอื่นๆด้วย
ท่าทีของพระเยซูต่อพระคัมภีร์เดิม
เหตุผลประการที่ 4 คือ ท่าทีของพระเยซูต่อพระคัมภีร์เดิมในหนังสือตอนอื่นๆก่อนหน้านี้มัทธิวได้บันทึกเหตุการณ์ที่พระเยซูเผชิญกับการทดลองของมาร 40 วัน ในถิ่นทุรกันดารยูเดีย พระเยซูต่อสู้การทดสอบที่แยบยลของมารทุกประการโดยอ้างอิงถึงพระคำในพระคัมภีร์เดิม และไม่จำเป็นต้องโต้แย้งกับมารให้ยืดเยื้อ พระองค์สยบการทดสอบของมารได้ตั้งแต่ต้นในทุกเรื่องโดยอ้างถึงคำที่เขียนไว้ (gegraaptai=เกแกร็ปทัย)
พระธรรมที่มาบังเกิดเป็นมนุษย์ได้ยอมปฏิบัติตามพระคำที่เขียนไว้ทุกเรื่องทั้งด้านความประพฤติส่วนตัว และการปฏิบัติพันธกิจที่ได้รับมอบหมาย พระเยซูมุ่งมั่นที่จะทำให้ทุกสิ่งที่เขียนไว้เกี่ยวกับพระองค์สำเร็จและไม่ยอมหันเหออกจากทางที่กำหนดไว้ในพระคัมภีร์
ดังนั้นเมื่อพระเยซูย้ำใน มธ 5:17 ว่า พระองค์ไม่มาเลิกล้างธรรมบัญญัติและคำของผู้พยากรณ์ แต่มาทำให้สมบูรณ์ทุกประการนั้น พระองค์ได้แสดงถึงท่าทีที่ยอมอยู่ภายใต้สิทธิอำนาจของพระคัมภีร์ ซึ่งสอดคล้องกับท่าทีในพระคัมภีร์ตอนอื่นๆ
ความแตกต่างระหว่างการตีความหมายของธรรมบัญญัติ
จากเหตุผล 4 ประการข้างต้น จึงเห็นไดชัดว่า ไม่มีความขัดแย้งระหว่างพระคริสต์กับโมเสส หรือระหว่างพระคัมภีร์เดิมกับพระคัมภีร์ใหม่ หรือระหว่างบารมีพระเจ้ากับธรรมบัญญัติ แต่เป็นความขัดแย้งระหว่างการตีความหมายของธรรมบัญญัติอย่างถูกต้องของพระคริสต์กับพวกคัมภีราจารย์ที่ตีความหมายของธรรมบัญญัติอย่างผิดๆ จนทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างความชอบธรรมของผู้เชื่อพระเจ้าและของพวกฟาริสี
วิธีการตีความธรรมบัญญัติของพวกฟาริสี
วิธีคดเคี้ยว (tortuous methods) ของพวกคัมภีราจารย์และฟาริสี (ดังที่คาลวินเรียก) ในการตีความหมายของธรรมบัญญัตินั้นเป็นอย่างไร? โดยทั่วไปพวกคัมภีราจารย์และฟาริสีจะทำให้ธรรมบัญญัติหย่อนยานโดยลดมาตรฐานทางศีลธรรมให้ต่ำลง เพราะเห็นว่าธรรมบัญญัติเป็นแอกและภาระหนัก จึงต้องการทำให้แอกนั้นง่ายและภาระนั้นเบา วิธีการของพวกเขาจะขึ้นอยู่กับลักษณะของธรรมบัญญัติแต่ละข้อว่าเป็นพระบัญญัติ (ซึ่งอาจเป็นข้อบังคับให้กระทำ หรือข้อห้ามไม่ให้กระทำ) หรือเป็นข้ออนุญาต
ข้อห้ามและข้อบังคับในธรรมบัญญัติ
ในตัวอย่าง 6 ประการที่พระเยซูยกมานั้น 4 ประการเป็นพระบัญญัติ โดยที่ 3 ประการเป็นข้อห้าม (อย่าฆ่าคน อย่าล่วงประเวณี อย่าเสียคำสัตย์สาบาน) และประการที่ 4 เป็นข้อบังคับ (จงรักเพื่อนบ้าน) ทั้ง 4 ประการนี้เป็นคำสั่งที่ชัดเจนให้กระทำหรือไม่ไห้กระทำบางสิ่ง
ส่วนตัวอย่างที่เหลืออีก 2 ประการเป็นข้ออนุญาตที่ต่างจากพระบัญญัติ เพราะไม่ได้ขึ้นต้นด้วยคำสั่งว่า “จง” หรือ “อย่า” ตัวอย่างหนึ่งเป็นข้ออนุญาตสำหรับการหย่าภายใต้สถานการณ์และข้อแม้ที่กำหนดไว้
อีกตัวอย่างหนึ่งเป็นข้ออนุญาตสำหรับการลงโทษ (ตาแทนตา) ในกระบวนการยุติธรรมซึ่งผู้พิพากษาเป็นผู้ดำเนินการตามความผิดที่ได้กระทำไป ข้ออนุญาตเหล่านี้มีขอบเขตที่จำกัดไว้อย่างชัดเจน
พวกคัมภีราจารย์และฟาริสีทำให้มาตรฐานธรรมบัญญัติต่ำลง
พวกคัมภีราจารย์และฟาริสีทำให้มาตรฐานต่ำลงโดยจำกัดขอบเขตของพระบัญญัติให้แคบลง และขยายขอบเขตของข้ออนุญาตให้กว้างขึ้น แต่ว่าพระเยซูกลับทำตรงกันข้าม พระองค์ต้องการให้เรายอมรับความหมายทั้งหมดของพระบัญญัติโดยไม่สร้างข้อจำกัดตามใจเรา และให้ยอมรับขอบเขตขอข้ออนุญาตตามที่พระเจ้าขีดเส้นไว้ และไม่ขยายขอบเขตของข้ออนุญาตออกไปตามอำเภอใจของเราดังที่จะเห็นในตัวอย่างที่พระองค์ยกมาสอนเหล่าสาวก
ความเข้าใจของพวกคัมภีราจารย์และฟาริสีเกี่ยวกับธรรมบัญญัติ
พวกคัมภีราจารย์และฟาริสีจำกัดขอบเขตของพระบัญญัติที่ห้ามไม่ให้ฆ่าคนและล่วงประเวณีเพียงการกระทำภายนอกเท่านั้น แต่พระเยซูชี้ให้เห็นว่าขอบเขตของพระบัญญัติครอบคลุมไปถึงความคิดโกรธเคือง คำพูดส่อเสียด และสายตาที่กำหนัด
พวกคัมภีราจารยและฟาริสีจำกัดการรักษาคำสัตย์สาบานไว้เฉพาะกรณีที่อ้างถึงพระนามพระเจ้าเท่านั้น และจำกัดการรักเพื่อนบ้านไว้สำหรับคนที่มีเชื้อชาติและศาสนาเดียวกันเท่านั้น แต่พระเยซูสอนว่าเราต้องรักษาคำสัญญาของเราในทุกกรณีและรักเพื่อนมนุษย์ทุกคนโดยไม่มีข้อจำกัดใดๆ
พวกฟาริสีจำกัดและขยายขอบเขตของธรรมบัญญัติ
นอกจากพวกคัมภีราจารย์และฟาริสีจะจำกัดขอบเขตของพระบัญญัติแล้ว พวกเขายังขยายขอบเขตของข้ออนุญาตด้วยเช่น พวกเขาขยายขอบเขตของข้อแม้สำหรับการหย่าร้างจากการผิดศีลล่วงประเวณีเพียงข้อเดียวให้ครอบคลุมทุกสิ่งที่สามีต้องการใช้อ้างเพื่อหย่าภรรยา และขยายขอบเขตของการลงโทษผู้ทำผิด จากเฉพาะภายในกระบวนการยุติธรรมให้ครอบคลุมการแก้แค้นส่วนตัวด้วย
แต่พระเยซูยืนยันให้รักษาขอบเขตเดิมที่กำหนดไว้ พระเยซูเรียกการหย่าร้างที่อ้างถึงเหตุผลอื่นๆนอกเหนือจากเหตุผลเดียวที่กำหนดไว้ว่า เป็นการล่วงประเวณี และเรียกร้องให้ละเว้นการแก้แค้นส่วนตัวในทุกกรณี
ผู้ที่หักล้างธรรมบัญญัติ
การพิจารณาตัวอย่างเหล่านี้ในขั้นต้นชี้ให้เห็นว่าพระเยซูไม่ได้หักล้างธรรมบัญญัติที่พระเจ้าทรงประทานแก่โมเสส พวกคัมภีร์จาร์ย์และฟาริสีต่างหากที่หักล้างธรรมบัญญัติ พระเยซูอธิบายความหมายที่แท้จริงของธรรมบัญญัติด้านจริยธรรม และชี้ให้เห็นสิ่งที่ธรรมบัญญัติเรียกร้องจากชีวิตของเราทุกประการ (แม้เราจะไม่ชอบบางประการ)
พระเยซูขยายขอบเขตของข้อบังคับที่คัมภีราจารย์และฟารีทำให้แคบลง และพระเยซูจำกัดขอบเขาของข้ออนุญาตที่คัมภีจารย์และฟาริสีทำให้กว้างขึ้น พระเยซูสอนว่าธรรมบัญญัติของโมเสสเป็นธรรมบัญญัติที่มาจากพระเจ้า ซึ่งยั่งยืนถาวร และมีสิทธิอำนาจที่เราต้องน้อมรับ
คาลวิน (Calvin) กล่าวว่า “ในคำสั่งสอนบนภูเขาพระเยซูไม่ได้กำหนดธรรมบัญญัติใหม่ขึ้นมา แต่อธิบายธรรมบัญญัติที่พระเจ้าได้ทรงประทานไว้อย่างสัตย์ซื่อ” พวกฟาริสีทำให้ธรรมบัญญัติคลุมเครือ แต่พระเยซูทำให้ความเที่ยงตรงของธรรมบัญญัติเด่นชัดขึ้น
ในเรื่องนี้ ผู้เชื่อในพระเจ้าต้องเอาอย่างพระคริสต์ ไม่ใช่เอาอย่างฟาริสี เราไม่มีเสรีภาพที่จะลดมาตรฐานของธรรมบัญญัติเพื่อให้ประพฤติตามได้ง่ายขึ้น บุญของผู้เชื่อในพระองค์ต้องเหนือกว่าบุญของฟาริสี
ในปัจจุบันพวกที่ส่งเสริม “จริยธรรมแบบใหม่ที่ให้คนทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ” (New morality) และพวก “การเปลี่ยนแปลงจริยธรรมไปตามสถานการณ์” (Situational ethic) ก็กำลังทำเช่นเดียวกับพวกฟาริสี
บุคคลพวกนี้อาจอ้างว่าอยู่ฝ่ายพระคริสต์ และไม่เห็นด้วยกับวิธีการของฟาริสี แต่ในความเป็นจริงพวกเขาก็เป็นเหมือนฟาริสีที่คิดว่าธรรมบัญญัติเป็นภาระและพยายามแสดงภาระนี้โดยทำให้ธรรมบัญญัติหย่อนยาน
พวกเขายกเลิกธรรมบัญญัติ (ที่พระเยซูสอนว่าพระองค์ไม่ได้มาเลิกล้าง) และสอนว่าธรรมบัญญัติและพรหมวิหารสี่ อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาเป็นสิ่งที่ขัดแย้งกันและไปด้วยกันไม่ได้ (แต่พระเยซูไม่เคยสอนเช่นนั้น)
พระองค์ไม่เห็นด้วยกับการตีความธรรมบัญญัติของฟาริสี แต่น้อมรับสิทธิอำนาจของธรรมบัญญัติว่าเป็นพระคำของพระเจ้าที่บันทึกไว้ และสอนให้พวกสาวกน้อมรับมาตรฐานอันสูงส่งของความหมายที่แท้จริงของธรรมบัญญัติด้วย
พวกเราที่เป็นผู้เชื่อพระเจ้าในปัจจุบัน รักษาหรือทำตามธรรมบัญญัติ เพื่อจะได้รับความหลุดพ้นเหมือนพวกคัมภีราจารย์และพวกฟาริสี หรือว่า รักษาหรือทำตามธรรมบัญญัติ เพราะว่าหลุดพ้นแล้ว ได้รับการชำระให้เป็นคนบุญในความหลุดพ้นขั้นที่หนึ่งแล้ว
25 พฤษภาคม 54
เขียนโดย Banpote Wetchgama (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี)
แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสที่ 7 มิถุนายน 2012 เวลา 9:35 น.
(ข้อมูลที่เกี่ยวกับ“คริสเตียนและธรรมบัญญัติ” ที่นำมาเขียนในบทความนี้อ้างอิงจากหนังสือ “Christian Counter-Culture by John R. W. Stott” PP. 74-81)
แก้ไขล่าสุด (วันเสาร์ที่ 16 มิถุนายน 2012 เวลา 12:44 น.)