4.เรื่องการไถ่ (Redemption)
เรื่องการไถ่ (Redemption)
เขียนโดย…บรรพต เวชกามา (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี)
วันอาทิตย์ที่ 29 เมษายน 2012 เวลา 16:30 น.
คำว่า การไถ่ (Redemption) แปลมาจากคำในภาษาอังกฤษว่า Redemption และคำในภาษาอังกฤษแปลมาจากภาษากรีกอีกทีหนึ่งว่า apolytrosis เป็นคำที่ใช้ในทางการค้า ยืมมาจากภาษาทางการค้า ไม่ใช่ภาษาทางศาสนา ส่วนคำว่า ‘การถูกชำระให้เป็นคนบุญในความหลุดพ้นบาปขั้นที่หนึ่ง’ (Justification) ก็เป็นคำที่ยืมมาจากภาษาของศาล ไม่ใช่ภาษาทางศาสนาเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ พระคัมภีร์ภาษาไทยจึงแปลว่า “ความชอบธรรม”
ในพระคัมภีร์เดิมคำว่าการไถ่นี้ถูกใช้กับทาส ซึ่งได้รับการซื้อหรือไถ่ให้พ้นจากการเป็นทาสให้มีอิสรเสรี เขาเรียกการซื้อทาสนั้นว่า ‘การไถ่’ (ลนต 25:47-55)
-คำนี้ยังถูกใช้เปรียบเทียบกับประชาชนอิสราเอลผู้ที่ได้รับ ‘การไถ่’ ให้พ้นจากการเป็นทาสในอียิปต์ (อพย 15:13) จากนั้นก็คือบาบิโลน (อสย 43:1) และได้กลับมาปฏิสังขรณ์ประเทศขึ้นใหม่
-ในกรณีของมนุษย์ชาติ ทุกคนตกเป็นทาสหรือเชลย คือเป็นทาสของความผิดความบาป (มีกิเลส ราคะ ตัณหา) ไม่สามารถปลดปล่อยตัวเองให้หลุดพ้นไปได้ พระเยซูคริสต์จึงได้มา ‘ไถ่’ ให้เขาพ้นจากการเป็นทาสบาป ซื้อเขาให้พ้นจากการเป็นเชลยของบาป โดยพระองค์ได้หลั่งเลือดลงเพื่อเป็นค่าไถ่บาป
-พระเยซูเองได้ตรัสถึงการมาเกิดของพระองค์ว่า พระองค์มาเพื่อ ‘สละชีวิตของพระองค์ให้กับคนเป็นอันมาก’ (มก 10:45) ผลของการซื้อหรือการไถ่’ หรือการช่วยเหลือนี้ทำให้มนุษย์ชาติกลับไปคืนดีกบพระเจ้า และเป็นคนของพระองค์
การไถ่นี้ หมายถึง การไถ่ตัวที่ต้องมีการจ่ายค่าไถ่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความหลุดพ้นที่มีอยู่ 3 ขั้นตอน ตามที่เรากล่าวถึงในตอนที่แล้วนั้น เกิดจากการจัดหาโดยมีการเตรียมค่าไถ่ไว้ให้ หลักคำสอนเกี่ยวกับการไถ่ อันเป็นส่วนหนึ่งของความหลุดพ้น สามารถกล่าวสรุปได้ได้ดังนี้:
1. การไถ่ คือการเอาสภาพของการเป็นทาส หรือสภาพของการเป็นหนี้ออกไป ในกรณีของการไถ่บาป ก็คือการชำระหนี้ หรือชำระค่าของความบาปที่เรามี เราเป็นลูกหนี้ และเป็นทาสของบาป การไถ่บาปก็คือการเอาบาปออกไปจากชีวิตของเรา โดยการไถ่
-ในพระคัมภีร์ใหม่ได้กล่าวถึงสภาพของมนุษย์ว่าเขาห่างเหินจากพระเจ้า (รม 3:10-18) ตกอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของซาตาน (กจ 10:38, 26:18) เป็นทาสของความบาป (รม.6:6;7:14) และมีความจำเป็นที่จะต้องรับได้รับการยกโทษจากความผิด และฤทธิ์อำนาจของบาป (กจ.26:18;รม.1:18;6:1-18,23;อฟ.5:8;คส.1:13;1ปต.2:9)
-ดังนั้น มนุษย์จะต้องได้รับการไถ่ ทั้งที่เป็นการไถ่ในอดีต และการไถ่ในปัจจุบัน และการไถ่ในอนาคต การไถ่ในอดีตพระเจ้าเป็นผู้กระทำ โดยให้พระเยซูคริสต์เจ้าเป็นผู้มาจ่ายค่าไถ่นั้นในความตายของพระองค์ ส่วนการไถ่ในปัจจุบัน เป็นกระบวนการที่ต่อเนื่องในชีวิตของผู้เชื่อพระเจ้าที่อยู่ในโลกนี้ เพราะเราจะต้องตอบสนองต่อพระเจ้าวันต่อวัน ในการนำความบาปที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราออกไป เพื่อเราจะไปถึงความไพบูลย์ของพระคริสต์ (อฟ.4:13)
2. ราคาที่ต้องจ่ายในการไถ่ เพื่อจะปลดปล่อยเราออกจากพันธนาการของความบาป พระเยซูคริสต์ได้จ่ายค่าไถ่ด้วยชีวิตและเลือดเนื้อของพระองค์ (มธ.20:28;มก.10:45;1คร.6:20;อฟ.1:7;ทต.2:14;ฮบ.9:12;1ปต.1:18-19) ดังนั้น เราจึงพ้นจากการเป็นทาสของความบาป เป็นอิสระจากบาป ไม่มีค่าของความบาปอีกต่อไป
3. ผลลัพธ์ของการไถ่ คือ ผู้เชื่อเป็นอิสระจากอำนาจปกครองของมารและจากความผิด และอำนาจของบาป (กจ.26:18;รม.6:7,12,14,18;คส.1:13) เราจึงเป็นคนบาปที่ไม่มีค่าของความบาป หรือเป็น“คนบุญ”ที่อาศัยอยู่ในร่างของ “คนบาป” อย่างไรก็ตาม เสรีภาพจากบาปนี้ ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำอะไรก็ได้ตามความปรารถนาของเราเพราะเราเป็นของพระเจ้าแล้ว
-เสรีภาพจากบาปทำให้เราเต็มใจที่จะเป็นทาสของพระเจ้า (กจ 26:18;รม 6:18,22;1คร.6:19-20;7:22-23) เราจึงทำอะไรตามใจของเราเองไม่ได้ เพราะเราเป็นทาสของพระเจ้า จากการเป็นทาสบาป เรามาเป็นทาสของพระองค์ เราจะต้องทำตามพระทัยของพระองค์
4. คำสอนเรื่องการไถ่ในพระคัมภีร์ใหม่ ได้มีการกล่าวไว้ล่วงหน้าแล้วในพระคัมภีร์เดิม
-เหตุการณ์แห่งการไถ่ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในพระคัมภีร์เดิมคือการอพยพออกจากอียิปต์ (อพย.6) หลังจากนั้นได้มีการตั้งระบบการถวายเครื่องบูชา โดยให้ใช้เลือดสัตว์เป็นค่าตอบแทนที่ต้องจ่ายสำหรับการไถ่โทษบาป (ลนต.9:8)
อย่างไรก็ตาม การไถ่ เป็นส่วนหนึ่งของความหลุดพ้น เพราะเมื่อได้รับการไถ่แล้ว เราก็ได้รับการถูกชำระให้เป็นคนบุญในความหลุดพ้นในขั้นที่หนึ่ง (Justification) และเรากำลังถูกชำระให้บริสุทธิ์ทุกๆวันในความหลุดพ้นขั้นที่สอง (Sanctification) ในความหลุดพ้นนี้ เราไม่สามารถไถ่ตนเองได้ แต่พระเจ้าสมารถที่จะไถ่เราออกจากการเป็นทาสบาป ทาสของเนื้อหนัง ทาสของมารซาตานได้ นี่แหละคือความยิ่งใหญ่ของพระเจ้า และความเมตตา กรุณาของพระเจ้า เกินกว่าที่เราจะเข้าใจได้จริงๆ
ความหมายของการไถ่
ในการไถ่นั้น ผู้ที่ไถ่จะต้องมีสิทธิอำนาจ หรือจะต้องเป็นผู้ที่มี “ค่าไถ่” ให้กับ ผู้ที่เป็นเจ้าหนี้นั้น แต่เดิมคำว่า “การไถ่” ในสมัยพระคัมภีร์เดิม หรือแม้แต่ในสมัยปัจจุบัน เป็นภาษาทางการค้า ไม่ใช่ภาษาทางศาสนาเหมือนดังที่กล่าวมาแล้ว
เราได้อ่านพบเรื่องการไถ่ที่ดินคืน ซึ่งเจ้าของได้เคยโอนให้หรือจำนองไว้ และยังมีบุคคลด้วยเหมือนกันที่จำเป็นต้องรับการไถ่คือ เช่นทาส หรือนักโทษ ในแต่ละกรณีไม่ว่าเป็นสิ่งของหรือเป็นบุคคล จะไถ่คืนจากสิทธิ์ที่หลุดไปหรือจากสภาพทาสได้นั้น ก็ต้องมีการเสียเงิน เสียค่า
การไถ่เป็นการซื้ออิสรภาพคืนมา เป็นการได้รับสิทธิที่เคยหลุดไปนั้นกลับคืนมาโดยมีการจ่ายให้ตามราคา ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความหลุดพ้น
การไถ่ของพระเจ้าที่มีต่อพวกอิสราเอลที่เป็นชนชาติของพระองค์
ครั้งแรกได้ทรงเรียกอับราฮัมออกจากเมืองเออร์ของคนเคลเดีย (ไม่ใช่การไถ่ที่แท้จริง เพราะอับราฮัมยังไม่ได้ไปประเทศคานาอัน) ต่อมาพระองค์ทรงปลดปล่อยชนชาติอิสราเอลออกจากการเป็นทาสในอียิปต์ สุดท้ายพระองค์ทรงปลดปล่อยชาวอิสราเอลออกจากการเชลยในประเทศบาบิโลน ทั้งสิ้นนี้พระเจ้าทรงเรียก ทรงกระทำ ทรงปลดปล่อย และทรงนำกลับคืนสู่ดินแดนพระสัญญาทุกครั้ง
ข้อพระคัมภีร์อีกข้อหนึ่งที่พูดเกี่ยวถึง “การไถ่ หรือการใช้หนี้บาป” อยู่ในหนังสืออิสยาห์ 53:5 พระคัมภีร์ข้อนี้ได้ทำนายเกี่ยวกับพระคริสต์ผู้ที่จะเสด็จมาและจะตายบนไม้กางเขนเพื่อไถ่บาปให้กับเรา
-แต่ท่านถูกแทง เพราะความทรยศของเรา ท่านบอบช้ำเพราะความบาปผิดของเรา การตีสอนที่ตกบนท่านนั้นทำให้พวกเรามีสวัสดิภาพ และที่ท่านถูกเฆี่ยนตีก็ทำให้เราได้รับการรักษา” (อสย 53:5)
จงสังเกตการเข้ามาแทนที่ของพระองค์ นี่เป็นอีกครั้งหนึ่งที่เราได้เห็นว่าพระคริสต์ใช้หนี้แทนเรา เป็นภูมิหลังของพันธสัญญาเดิมที่ให้เราเข้าใจเรื่องการไถ่บาปอ้นยิ่งใหญ่ของพระเยซูคริสต์
สภาพของมนุษย์ในปัจจุบันนี้
ถูกแยกจากพระเจ้าและตกเป็นทาสบาปทั้งทางฝ่ายจิตวิญญาณและร่างกาย ความบาปของเรา (ที่เรากบฏต่ออำนาจของผู้เนรมิตสร้าง และต่อความผาสุกของเพื่อนบ้าน) ได้ทำให้เราตกเป็นทาสและแยกเราห่างจากพระเจ้า มนุษย์ซึ่งอยู่ในความผิดบาปเป็นผู้ที่อยู่ภายใต้การพิพากษา และค่าจ้างหรือผลของการกระทำนี้ก็คือความตาย
การกระทำของพระเจ้าเพื่อมนุษย์ผู้เป็นคนบาป
-พระเยซูคริสต์ผู้เป็นพระธรรม หรือ (The Logos พระคัมภีร์ภาษาไทยแปลว่า “พระวาทะ”) ได้อวตารลงมาเกิดเป็นมนุษย์บริบูรณ์ไปด้วยพระคุณและความจริง เพื่อจะมาช่วยเหลือมนุษย์ผู้เป็นคนบาป (ยน 1:14)
-พระเยซูคริสต์ได้ถูกตรึงบนกางเขนตายแทนเรา เราควรจะเป็นผู้ถูกตรึงและตายบนกางเขนนั้น เพราะเราเป็นคนบาป แต่พระองค์ทรงรับโทษนั้นแทนเรา “พระเจ้าได้ทรงทำพระองค์ผู้ไม่มีบาป ให้บาปเพราะเห็นแก่เรา เพื่อเราจะได้เป็นคนบุญของพระเจ้าทางพระองค์” (2 คร 5:21) พระองค์ทรงเข้ามาแทนที่เราเพื่อทรงรับสิ่งที่เราสมควรจะได้รับ
-พระเยซูคริสต์ทรงไถ่เราให้พ้นความสาปแช่งแห่งธรรมบัญญัติ โดยการที่พระองค์ทรงยอมถูกสาปแช่งเพื่อเรา เพราะมีคำเขียนไว้ว่า ‘ทุกคนที่ต้องถูกแขวนไว้บนต้นไม้ก็ต้องถูกสาปแช่ง’ (กท 3:13)
-จากข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ เราได้เห็นแล้วว่าพระคริสต์ทรงรับเอาความบาปของเราไปไว้ที่พระองค์เพื่อใช้หนี้บาปแทนเรา ข้อพระคัมภีร์อีกข้อหนึ่งกล่าวว่า “เพราะพระคริสต์ทรงทนทุกข์ครั้งเดียวเป็นพอเพราะบาป คือพระองค์ผู้เป็นคนบุญตายเพื่อคนบาป ฝ่ายกายพระองค์จึงตาย แต่ฝ่ายวิญญาณเป็นขึ้นจากตาย” (1 ปต 3:18)
-พระองค์เองได้ทรงรับแบกบาปของเราไว้ในพระกายของพระองค์ ที่ต้นไม้นั้น เพื่อว่าเราทั้งหลายจะได้ตายต่อบาปได้ และดำเนินชีวิตตามความชอบธรรม ด้วยบาดแผลของพระองค์ พวกท่านจึงได้รับการรักษาให้หาย (1 ปต 2:24)
-พระองค์มารับสภาพแทนเรา ทรงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับเราอย่างบริบูรณ์ในสภาพอันน่าเวทนาของเรา พระองค์จึงสามารถรับความบาปและความตายแทนเราได้ ชีวิตของเราถูกรับไปเพราะความบาป
-พระองค์จึงทรงยอมตายแทนเรา ยอมถูกทอดทิ้งจากพระเจ้าเข้าอยู่ในความมืดแทนเรา
ข้อพระคัมภีร์เหล่านี้ไม่เพียงแต่จะสอนเราเกี่ยวกับว่าพระคริสต์ทรงเข้ามาเป็น “ตัวแทน” ของเรา แต่สอนว่าพระองค์ทรงเป็น “เครื่องบูชาไถ่บาป” ด้วย ซึ่งหมายความว่าพระองค์ทรงใช้หนี้ความบาปทั้งหมดของมนุษย์ที่ติดค้างอยู่กับพระเจ้าอยู่แทนเรา
ความหมายของการตายของพระเยซูคริสต์
-เปรียบเหมือนปัสกาซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการไถ่ชาวอิสราเอลออกจากอียิปต์ พระองค์เป็นเหมือนลูกแกะและเลือดแกะไว้ที่กรอบประตู และเมื่อพระเจ้าทรงทอดพระเนตรเห็นเลือดนั้น พระองค์ก็ผ่านบ้านนั้นไป
-พระเยซูหลั่งเลือดในขณะที่มีการฆ่าลูกแกะในเทศกาลปัสกา (ยน 13:1;18:25) พระคริสต์ผู้ทรงเป็นปัสกาของเรา’ ได้ถูกฆ่าบูชาเสียแล้ว (1 คร 5:7) พระองค์ ‘ทรงไถ่ด้วยพระโลหิตประเสริฐของพระคริสต์ ดังเลือดลูกแกะที่ปราศจากตำหนิหรือจุดด่าง’ ซึ่งหลั่งไหลออกเพื่อไถ่บาปเรา และจะต้อง ‘ประพรม’ ลงบนเรา (ยน 1:2,18,19)
เมื่อพระคริสต์ผู้เป็นลูกแกะของพระเจ้า (พระคัมภีร์ภาษาไทยแปลว่า ‘พระเมษโปดก’) ได้หลั่งโลหิตและตายเป็นเครื่องถวายบูชาปัสกาแล้ว พระเจ้าทรงให้พระองเป็นขึ้นจากวามตาย เพื่อพิสูจน์เพราะทรงเป็นพระเจ้าเที่ยงแท้ และเพื่อแสดงให้เห็นว่าการเสียสละของพระองค์เพื่อไถ่บาป ไม่ใช่เป็นการสละที่สูญเปล่า บัดนี้พระองค์ทรง ‘ประทับข้างขวาของพระเจ้า’ เพราะพระราชกิจแห่งการทรงไถ่ได้สำเร็จแล้ว เต็มไปด้วยสง่าราศีและพระเกียรติยศ พระองค์ ‘ไถ่บาปชั่วนิรันดร์’ เพื่อเรา (ฮบ 9:12)
และตลอดเวลาชั่วนิรันดร์ฝูงชนแห่งสวรรค์จะร้องสรรเสริญว่า ‘พระผู้เป็นลูกแกะของพระเจ้าผู้ทรงถูกฆ่าแล้วนั้น เป็นผู้ที่สมควรได้รับฤทธิ์เดช…’ (วว 5:12) ถ้าไม่มีการไถ่ ก็จะไม่มีความหลุดพ้นเลย เพราะการไถ่ทำให้คนบาปกลายเป็นคนบุญ เป็นการกระทำของพระเจ้า ไม่ใช่ของเรา ถ้าไม่มีการไถ่ ก็จะไม่มีการหลุดพ้นจากบาปเลย และถ้าไม่ยอมรับการไถ่บาปของพระเยซู ก็จะไม่สามารถกลับไปหาพระเจ้า ไม่สามารถเข้าสู่สวรรค์ได้เลย
กล่าวโดยสรุป เราไม่สามารถใช้หนี้ความบาปของเราเองได้ หรือหากทำได้ ก็คงหมายความว่าเราต้องถูกลงโทษและถูกส่งไปยังบึงไฟนรกและอยู่ที่นั่นชั่วนิรันดร์แน่นอน แต่พระเจ้าเป็นฝ่ายริเริ่มด้วยการเสด็จเข้ามาในโลกในสภาพที่เป็นมนุษย์ เป็นพระบุตรของพระเจ้า เพื่อใช้หนี้ความบาปต่อพระเจ้าแทนเรา
-เพราะการกระทำของพระองค์เพื่อเรานั้น เราจึงไม่เพียงแต่จะมีโอกาสได้รับการยกโทษบาปเท่านั้น แต่เรายังมีโอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตเข้าสู่นิพพานไปอยู่กับพระองค์อีกด้วย
เพื่อที่จะได้รับชีวิตเข้าสู่นิพพาน เราต้องเชื่อในสิ่งที่พระคริสต์ได้ทรงกระทำบนกางเขนแทนเรา เราช่วยตัวเองไม่ได้ ดังนั้นเราจึงต้องมีคนที่เข้ามารับหน้าที่แทนเรา นี่คือสาระสำคัญของการไถ่ หรือการใช้หนี้บาปแทนเรา
เขียนโดย Banpote Wetchgama (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี)
แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสที่ 24 พฤษภาคม 2012 เวลา 10:00 น.
(ข้อมูลที่นำมาเขียนในบทเรียน “การไถ่” (Repentance) นี้ สวนหนึ่งแปลและเรียบเรียงมาจากหนังสือ “Understanding the Bible by John R. W. Stott” PP. 168-170,1972. และ หนังสือ Romans God’s Good News for the World by John R. W. Stott” p 113,1994.)
แก้ไขล่าสุด (วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน 2012 เวลา 20:11 น.)