5.เรื่องการรับเข้าเป็นบุตร (Adoption)
เรื่องการรับเข้าเป็นบุตร (Adoption)
เขียนโดย…บรรพต เวชกามา (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี)
วันจันทร์ที่ 1 พฤษภาคม 2012 เวลา 15:00 น.
การรับเข้าเป็นบุตร เป็นการที่พระเจ้าประทานสิทธิให้ผู้เชื่อในพระองค์ได้เป็นบุตรของพระองค์ ได้เป็นสมาชิกในครอบครัวของพระเจ้า และการเป็นบุตรนี้คือการเป็น “บุตรบุญธรรม” (Adoption) เป็น “บุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย” (Right Children by the Law) (คงจะเป็นเพราะ การเป็นบุตรบุญธรรมในสังคมไทย มีความหมายไม่ค่อยดี พระคัมภีร์ภาษาไทยจึงไม่ได้แปลว่า “บุตรบุญธรรม”)
-ความจริงแล้ว การได้รับสิทธิให้เป็นบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมายนี้ แปลมาจากภาษากรีก ezonsian tekna มีความหมายตามตัวอักษรว่า เป็นบุตรบุญธรรม หรือบุตรที่ถูกต้องตามกฎหมาย ดังนั้น เมื่อเราเกิดใหม่ กลับใจใหม่เชื่อในพระเจ้าได้รับการไถ่ออกจากบาป ได้รับการชำระให้เป็นคนบุญในความหลุดพ้นขั้นที่ 1 (Justification) และกำลังจะได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (Sanctification) แล้ว เราก็:
-ได้เป็นลูกของพระเจ้า ไม่เป็นทาสอีกต่อไป และเป็นทายาท เป็นผู้ที่จะได้รับมรดก (กท 4:4-7)
-มีสิทธิพิเศษในการเป็นลูกของพระเจ้า (ยน 1:12)
-มีความสัมพันธ์กับพระเจ้าในฐานะที่เป็นบุตร และบิดา
-ยังไม่ได้รับการปลดปล่อยอย่างเต็มที่ เพราะเรายังอาศัยอยู่ในร่างกายที่มีบาป แต่เราก็ได้รับการไถ่ออกจากความบาปโดยพระโลหิตของพระคริสต์‘เพื่อถวายแด่พระเจ้า’ (วว 5:9)
การรับเข้าเป็นบุตรของพระเจ้าในสมัยพระคัมภีร์เดิม
-พระองค์ทรงย้ำพันธสัญญานี้ โดยที่พระองค์ตรัสว่า ‘เรา…จะเป็นพระเจ้าของเจ้า และเจ้าจะเป็นประชากรของเรา’
-พวกอิสราเอลได้รับการไถ่แล้ว จะถูกรับเข้าเป็นประชาการของพระเจ้าในทันที ครั้งแล้วครั้งเล่าที่พระเจ้าได้ตักเตือนเขาว่า ‘เราคือพระเจ้าของเจ้า ผู้ได้นำเจ้าออกจากแผ่นดินอียิปต์ คือจากแดนทาส’ (อพย 20:2)
-พระเจ้าทรงไถ่เขาให้เป็นของพระองค์ ซึ่งได้อธิบายอย่างละเอียดตลอดระยะตั้งแต่การทรงไถ่ออกจากอียิปต์ จนถึงพระองค์ทรงย้ำพันธสัญญาที่ภูเขาซีนาย (อพย 19:4-6)
-พันธสัญญาซึ่งพระเจ้าทรงใช้ในการไถ่ประชากรของพระองค์ เปรียบได้กับพันธสัญญาของคู่แต่งงาน พระยาเวห์เป็นเจ้าบ่าวของประชากรของพระองค์ พระองค์ทรงชื่นชมยินดีในความรักตั้งเดิมและความซื่อสัตย์ของเจ้าสาวเมื่ออยู่ในถิ่นทุรกันดาร (อพย 2:2;31:32)
การรับเข้าเป็นบุตรของพระเจ้าในสมัยพระคัมภีร์ใหม่
-ทุกคนที่ยอมรับพระองค์ เชื่อในพระนามของพระองค์ พระองค์ทรงประทานสิทธิให้เป็นลูกของพระเจ้าได้ (ยน 1:12-13)
-ทุกคนที่เชื่อในพระเจ้าเป็นชุมชนของพระองค์ เป็นเจ้าสาวของพระคริสต์ (อฟ 4:25;2 คร 11:2,3)
-ทุกคนที่เชื่อในพระเจ้ามีความสัมพันธ์กับพระองค์เป็นเหมือนบิดากับบุตรในครอบครัว
คำสอนของพระเยซูเกี่ยวกับ ความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้าและผู้ที่ถูกรับให้เข้าเป็นบุตร
-ให้นับถือพระเจ้าเป็นพระบิดาแห่งสวรรค์ โดยให้รักพระองค์สุดจิตสุดใจ
-ให้สวดอ้อนวอน (พูดกับพระเจ้า) ต่อพระองค์เสมือนว่าเป็นพระบิดา (พ่อ) ของเขา
-ให้ไว้วางใจในการดูแลรักษาของพระองค์ที่ทรงประทานสิ่งต่างๆ ให้เหมือนดังบิดาที่ห่วงใยบุตร
-ให้เขาเอาใจใส่ในพระนาม แผ่นดินของพระเจ้า และน้ำพระทัยของพระบิดา
สิทธิอันยิ่งใหญ่ของการรับเข้าเป็นบุตรของพระเจ้า
-การมีพระธรรม (พระคัมภีร์ภาษาไทยแปลว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์”) สถิตอยู่กับเรา การที่พระธรรมของพระเจ้าสถิตอยู่ในจิตใจของเราเสมอนั้น เป็นพรพิเศษ พิเศษทั้งในยุคสมัยของผู้เชื่อในพระเจ้าด้วย “แต่นี่จะเป็นพันธสัญญาซึ่งเราจะกระทำกับวงศ์วานอิสราเอล ภายหลังสมัยนั้น ‘พระยาเวห์ตรัสดังนี้แหละ ‘เราจะบรรจุธรรมบัญญัติของเราไว้ภายในเขาทั้งหลาย และเราจะจารึกมันไว้ที่ในดวงใจของเขาทั้งหลาย และเราจะเป็นพระเจ้าของเขา และเขาจะเป็นประชาชนของเรา” (ยรม 31:33)
-ผู้เชื่อพระเจ้าแต่ละคนเป็นบุตรของพระองค์ พระองค์จึงทรงใช้พระธรรมแห่งพระบุตรของพระองค์เข้ามาในใจของเขา “และเพราะท่านเป็นบุตรแล้ว พระเจ้าจึงทรงใช้พระธรรมแห่งพระบุตรของพระองค์เข้ามาในใจของท่าน ร้องว่า ‘อับบา” คือ “พ่อจ๋า” (พระคัมภีร์ภาษาไทยแปลว่า “พระบิดา”) (กท 4:6)
-ด้วยว่าพระธรรมของพระเจ้าได้ทรงนำพาคนหนึ่งคนใด คนเหล่านั้นก็เป็นบุตรของพระเจ้า ไม่ได้รับนิสัยอย่างทาสซึ่งทำให้ตกในความกลัวอีก แต่ได้รับพระธรรมผู้ทรงให้เป็นบุตรซึ่งให้ร้องเรียกพระเจ้าว่า “อับบา” (พ่อจ๋า) คือพระบิดา พระธรรมนั้นเป็นพยานร่วมกับจิตวิญญาณว่า เราทั้งหลายเป็นบุตรของพระเจ้า (รม 8:14-16)
-ชีวิตของบุตรของพระเจ้าจึงเป็น ‘ชีวิตในพระธรรม’ คือเป็นชีวิตที่อยู่ภายใต้การทรงนำและฤทธานุภาพของพระธรรม ซึ่งเป็นพยานร่วมกับวิญญาณจิตของเราว่าเราเป็นบุตรของพระเจ้าอย่างแน่นอน ในฐานะที่เป็นพระธรรมแห่ง ‘สติปัญญาและความประจักษ์แจ้ง’ ในเรื่องความรู้ถึงพระคริสต์ (อฟ 1:17)
-พระองค์ทรงเปิดจิตใจให้รู้จักพระองค์ได้ดียิ่งขึ้น และพระองค์ทรงเป็นพระธรรมแห่งความบริสุทธิ์ด้วยเพื่อจะนำเราให้ดำเนินชีวิตบริสุทธิ์เหมือนอย่างพระเยซูคริสต์ (2 คร 3:18)
-พระองค์ทรงปราบเนื้อหนัง (กิเลส ราคะ ตัณหา) และทำให้เราเกิดผลแห่งการมีพระธรรมของพระองค์ คือ ‘พรหมวิหารสี่ อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา (พระคัมภีร์ภาษาไทยแปลว่า ‘ความรัก’) ความปลาบปลื้ม สันติภาพ ความอดกลั้นใจ ความปรานี ความดี ความสัตย์ซื่อ ความสุภาพอ่อนน้อม การรู้จักบังคับตน’ (กท 5:16-23)
สิ่งที่ผู้ที่ถูกรับเข้าเป็นบุตรของพระเจ้าได้รับแบบองค์รวม
-การเป็นครอบครัวของพระองค์ คือชุมชนขอพระเจ้า (พระคัมภีร์ภาษาไทยแปลว่า ‘คริสตจักร’) สืบต่อจากประชากรของพระเจ้าในสมัยพันธสัญญาเดิม
-ชาวยิวและคนต่างชาติมีสิทธิ์เท่าเทียมกัน เป็นพลเมืองในอาณาจักรของพระเจ้า และเป็นคนครอบครัวเดียวกันในพระองค์ (อฟ 2:11-19)
-ทาสกับคนที่เป็นอิสระชนเป็นพี่น้องที่รักกัน (ฟม ข้อ 16)
ผู้ที่ถูกรับเข้ามาเป็นบุตรนี้จะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีความเสมอภาคกัน คนในครอบครัวของพระเจ้าจะไม่เป็นดังนี้
-จะไม่เป็นยิวหรือกรีก
-จะไม่เป็นทาสหรือไทย
-จะไม่เป็นชายหรือหญิง
-เพราะว่าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันโดยพระเยซูคริสต์ (กท 3:28)
ประชากรของพระเจ้าที่ได้รับเข้ามาเป็นบุตรจึงเป็น:
-คนที่ถูกชำระให้บริสุทธิ์ ในความหลุดพ้นขั้นที่สอง (Sanctification) ซึ่งแตกต่างจากคนอื่นๆ
-ถูกแยกจากมนุษย์ชาติอื่นๆ มาเป็นคนของพระเจ้า
-ถูกเรียกให้ใช้ชีวิตและแสดงออกในทางบริสุทธิ์ เขาได้รับการทรงเรียกให้เป็นผู้บริสุทธิ์ คือให้เขาเป็นคนที่แตกต่างจากชาวโลกในด้านค่านิยม และไม่ให้ปฏิบัติตามแบบอย่างของชาวโลกในด้านค่านิยม (ลนต 18:1-5) ซึ่งหมายถึงทั้งชาวอียิปต์และชาวคานาอัน
พระเยซูตรัสทำนองเดียวกันว่า อย่าทำเหมือนเขาเลย คืออย่าทำตามค่านิยมของเขา ซึ่งหมายถึงทั้งคนต่างชาติและพวกฟาริสีด้วย
สิ่งที่ผู้เข้ามาเป็นบุตรของพระเจ้าจะต้องกระทำ
-ต้องติดตามพระเยซูคริสต์ โดยมีมาตรฐานทางจริยธรรมที่เด็ดเดี่ยว จะยอมผ่อนปรนมิได้
-ไม่ให้หนีออกจากโลกไปอยู่ตามลำพัง แต่ให้เข้าไปอยู่ในโลกเพื่อจะปรนนิบัติคนอื่นๆ โดยความถ่อมใจและเป็นพยานถึงความหลุดพ้นในพระเจ้า (ยน 15:19;17:15-19)
-ให้อยู่ในโลกเพื่อพระคริสต์ เพื่อรับใช้โลก แต่ไม่ยอมทำตามมาตรฐาน (ค่านิยม) ของชาวโลก (ยน 15:18-25;17:14)
-จะต้องยอมทนทุกข์เพราะการกระทำ แต่ต้องไม่แก้แค้น เพราะพระเยซูคริสต์ทรงเป็นแบบอย่างที่ดีแล้ว เราต้องเจริญรอยตามอย่างพระองค์ (1 ปต 2:18-23)
-จะต้องยอมทนทุกข์ เพื่อจะไปสู่สง่าราศีในความหลุดพ้นขั้นที่ 3 (Glorification) เช่นเดียวกับที่พระคริสต์ทรงได้รับนั้น
-ต้องเข้าร่วมในการทนทุกข์ของพระคริสต์ และมีส่วนร่วมในสง่าราศีในความหลุดพ้นขั้นที่ 3 อันจะมาปรากฏภายหลัง (1 ปต 4:13;5:1,10)
สิ่งที่ผู้เข้าเป็นบุตรของพระเจ้าจะได้รับ
-การถูกชำระให้เป็นคนบุญในความหลุดพ้นขั้นที่ 1 (Justification)
-สันติภาพกับพระเจ้าในพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา (พระคัมภีร์ภาษาไทยแปลว่า “สันติสุขในพระเจ้า”) (รม 5:1)
-ยืนอยู่ในร่มพระคุณของพระเจ้า ชื่นชมยินดีว่าจะได้มีส่วนในการเข้าสู่ศักดิ์ศรีกับพระเจ้า นั่นคือความหลุดพ้นขั้นที่ 3 (Glorification) (รม 5:2)
-ชื่นชมยินดีในความทุกข์ยากลำบากของเราด้วย เพราะเรารู้ว่า ความทุกข์ยากนั้น ทำให้เกิดความอดทน และความอดทน ทำให้เห็นว่าเราเป็นคนที่พระเจ้าทรงใช้ได้ (รม 5:3-4)
-มีความหวัง และความรักหลั่งไหลเข้าสู่จิตใจของเราโดยทางพระธรรม (รม 5:5)
-เราถูกชำระให้เป็นคนบุญ ในความหลุดพ้นขั้นที่ 1 (Justification) แล้วโดยพระโลหิตของพระองค์ ยิ่งกว่านั้น เราจะพ้นจากพระพิโรธโดยพระองค์ (รม 5:9)
-เราจะพ้นจากพระพิโรธของพระเจ้า “เพราะว่าถ้าขณะที่เรายังเป็นศัตรู เราได้กลับคืนดีกับพระเจ้าโดยที่พระบุตรของพระองค์สิ้นพระชนม์ ยิ่งกว่านั้นอีกเมื่อเรากลับคืนดีแล้ว เราก็จะรอดโดยพระชนม์ชีพของพระองค์แน่” (รม 5:10)
-เราได้เป็นทายาทของพระเจ้า เป็นทายาทร่วมกับพระคริสต์ การทนทุกข์ทรมานด้วยกันกับพระคริสต์ สง่าราศีในความหลุดพ้นขั้นที่ 3 ด้วยกันกับพระคริสต์ (รม 8:17)
นี่คือผลแห่งการเข้ามาเป็นบุตรในครอบครัวของพระเจ้า เมื่อเป็นบุตรแห่งพระบิดาเจ้าแล้ว
-เราก็เป็นที่ประทับของพระธรรมของพระองค์
-เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพี่น้องทั้งหลายในพระคริสต์
-เป็นทูตของพระคริสต์ในโลกนี้ รับใช้และทนทุกข์เพื่อพระองค์
-และจะเป็นทายาทผู้รับมรดกของพระคริสต์ด้วย
การถูกรับเข้าเป็นบุตรคือ การเป็นทายาท การทนทุกข์ก็เพื่อศักดิ์ศรีนี้ จะนำเราเข้าสู่สภาพการช่วยให้หลุดพ้น เป็นสภาพที่เราจะหลุดพ้นอย่างสมบูรณ์ในความหลุดพ้นขั้นที่ 3 (Glorification) ซึ่งเราจะได้รับสง่าราศี ได้รับร่างกายใหม่ ความหลุดพ้นที่เราได้รับแล้วในสองขั้นตอนจะสมบูรณ์เมื่อพระเยซูเสด็จกลับมาครั้งที่สอง
การถูกรับเข้าเป็นบุตรนี้ เป็นเหมือนกับการเกิดเป็นลูกของพ่อแม่เรา เมื่อเราได้รับการรับเข้าเป็นบุตรแล้ว
-จึงไม่ควรจะสงสัยว่า ถ้าทำผิดบาป (ไม่ว่าจะเป็นบาปเล็กน้อย หรือบาปใหญ่ๆ ก็ตาม) จะไม่หลุดพ้น จะไม่ได้ไปสวรรค์ จะไม่ได้เป็นบุตรของพระเจ้าอีกต่อไป
-ไม่ควรจะสงสัยเช่นนั้น เพราะพระเจ้ามั่นคง เมื่อพระองค์รับเราเข้าเป็นบุตรของพระองค์แล้ว ไม่มีทางที่เราจะไม่ได้เป็นบุตรของพระองค์อีก เมื่อเราเกิดเป็นลูกพ่อแม่ของเราแล้ว ไม่ว่าเราจะดี หรือเลวอย่างไรเราก็ยังเป็นลูกของพ่อและแม่อยู่เหมือนเดิม
-ในกรณีเป็นบุตรของพระเจ้าก็เช่นกัน เมื่อเราได้ถูกรับเข้าเป็นบุตรแล้ว ไม่ว่าเราจะดี หรือเลวอย่างไร เราก็เป็นบุตรของพระองค์เช่นเดิม
-เพราะการที่เราได้เป็นบุตรของพระเจ้านั้น ไม่ได้เกิดจากการทำดี หรือทำไม่ดีของเรา แต่เกิดจากความประสงค์ของพระเจ้า เกิดจากการที่เราต้อนรับพระองค์
ดังที่พระคำของพระเจ้าตรัสว่า “แต่ส่วนบรรดาผู้ที่ต้อนรับพระองค์ ผู้ที่เชื่อในพระนามของพระองค์ พระองค์ทรงประทานสิทธิให้เป็นบุตรของพระเจ้า ซึ่งในฐานะนั้นเป็นผู้ที่มิได้เกิดจากเลือดเนื้อ หรือความประสงค์ของมนุษย์ แต่เกิดจากพระเจ้า” (ยน 1:12-13)
เขียนโดย Banpote Wetchgama (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี)
แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสที่ 16 พฤษภาคม 2012 เวลา 10:00 น.
(ข้อมูลที่นำมาเขียนในบทเรียน “การถูกรับเข้าเป็นบุตร” (Adoption) นี้ ส่วนหนึ่งแปลและเรียบเรียงมาจากหนังสือ “Understanding the Bible by John R. W. Stott” PP. 170-175,1972.)