7.เรื่อง ความหลุดพ้นขั้นที่ 1 (ตอน 1/2) (Justification)
เรื่อง ความหลุดพ้นขั้นที่ 1 (ตอน 1/2) (Justification)
เราได้รับการชำระให้เป็นคนบุญแล้ว
โดย…บรรพต เวชกามา (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี)
วันพุธที่ 8 พฤษภาคม 2012 เวลา 15:25 น.
หลักสำคัญที่เปาโลสอนและเน้นอยู่ประจำคือมนุษย์จะ “หลุดพ้นโดยพระคุณเพราะความเชื่อ” ต่อไปนี้เราจะพิจารณาสาระในคำสอนของเปาโลสำคัญ 4 ประการ ที่ปรากฏในหนังสือจดหมายฝากของท่าน ซึ่งมี:
1. ความหลุดพ้นขั้นที่ 1 (Justification) เราได้รับการชำระให้เป็นคนบุญแล้ว
2. ความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (Sanctification) การเป็นคนดีขึ้นหรือเจริญเติบโตขึ้นทางจริยธรรม
3. การเสริมสร้างซึ่งกันและกันในชุมชนของพระเจ้า (Edification) เพราะพระเจ้าไม่ได้เรียกให้เรามาเป็นปัจเจก แต่เรียกให้มาเป็นชุมชนของพระเจ้า
4. ความหลุดพ้นขั้นที่ 3 (Glorification) คือการเข้าสู่สง่าราศี หรือการได้รับความหลุดพ้นขั้นสัมฤทธิ์ผล
ในตอนนี้ เราจะศึกษาเฉพาะความหลุดพ้นขั้นที่ 1 (Justification) ที่กล่าวว่า “เราได้รับการชำระให้เป็นคนบุญแล้ว” หมายความว่า:
-ค่าของบาปที่เรามี ได้รับการใช้หนี้แล้ว โดยความตายของพระเยซูคริสต์เจ้าพระเจ้าได้ปรับโทษพระเยซูแทนเราแล้วที่ กางเขน ในความตายของพระเยซูคริสต์เจ้า
-การตายของพระองค์เป็นการตายครั้งเดียว เพื่อใช้หนี้บาปคนเป็นอันมาก ซึ่งเปาโลได้อธิบายไว้อย่างละเอียดพอสมควรในพระคัมภีร์จดหมายฝากหลายเล่มที่ ท่านเขียนไปยังชุมชนของพระเจ้าต่างๆ ซึ่งเราจะอ้างถึงในตอนหลัง
ประเภทของคนที่อยู่ในโลกนี้ ตามการแบ่งของเปาโล
1. คนต่างชาติ ที่รู้จักพระเจ้าได้จากการเนรมิตสร้าง (รม 1:18-2:21) และ สรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง ตลอดจนมโนธรรมที่อยู่ในใจของเขา สามารถทำให้เขารู้จักพระเจ้าได้ ฉะนั้นเขาจะอ้างว่าไม่รู้จักพระเจ้าไม่ได้ เพราะพระองค์ได้สำแดงพระองค์ให้เขารู้จักแล้วโดยสรรพสิ่งที่พระองค์ทรงสร้าง (รม 2:12-16)
2. คนยิว เป็นพวกที่รู้จัก “น้ำพระทัยของพระเจ้า เพราะเขาเป็นผู้ที่มีหน้าที่สั่งสอนธรรมบัญญัติให้แก่คนอื่น” พระเจ้าได้เลือกพวกเขาเพื่อจะนำความหลุดพ้นไปยังชนชาติอื่น ตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษของเขาแล้ว (รม 2:18-3:8)
สถานภาพของทั้งคนต่างชาติและคนยิว
-คนทั้งสองจำพวกนี้เป็นคนบาป ดังนั้นเปาโลจึงได้หยิบยกหรืออ้างจากหนังสือสดุดีหลายๆบทอย่างตรงไปตรงมา เพื่อจะปิดปากทั้งคนยิวและคนต่างชาตินั้น ไม่มีผู้ใดเป็นคนบุญสักคนเดียวไม่มีเลย (รม 3:9-18)
-มนุษย์ทุกคนอยู่ภายใต้การพิพากษาของพระเจ้า (รม 3:19-20)
-มนุษย์ทุกคนในโลกนี้เป็นคนบาปมีความผิด ดังที่เพื่อนสองคนของโยบถามเขาว่า “แล้วมนุษย์จะเป็นคนบุญต่อต่อหน้าของพระเจ้าได้อย่างไร คนที่เกิดจากหญิงจะสะอาดได้อย่างไร” (โยบ 25:4)
สถานภาพของคนตามคำสอนในพระคัมภีร์เดิม
-ไม่มีคนใดที่เป็นคนบุญต่อหน้าพระเจ้า (พระคัมภีร์ภาษาไทยแปลว่า “คนชอบธรรมเฉพาะพระพักตร์พระเจ้า”) (สดด 143:2)
-ผู้พิพากษาที่เป็นมนุษย์ตัดสินให้ความบริสุทธิ์แก่ฝ่ายถูกและกล่าวโทษแก่ฝ่ายผิดได้ (ฉธบ 25:1)
-บุคคลที่ปล่อยผู้กระทำผิด และบุคคลที่ลงโทษคนชอบธรรม ทั้งสองคนเป็นที่น่ารังเกียจแก่พระเจ้า” (สภษ 17:15)
-พระองค์ตรัสว่าจะไม่ยกโทษให้คนอธรรม (อพย 23:7)
สถานภาพของคนตามคำสอนในพระคัมภีร์ใหม่
-พระเจ้าเป็นผู้ให้คนผิดเป็นคนไม่ผิดได้ ผู้เชื่อในพระองค์ได้รับการชำระให้คนบุญในพระเยซูคริสต์” (ตามตัวอักษร) คำว่า “ในพระเยซูคริสต์”เป็นสิ่งที่สำคัญและธรรมดามากในจดหมายฝากของเปาโล
-หมายความว่า ผู้เชื่อในพระเจ้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระเยซูคริสต์ และผูกพันเข้ากันกับพระองค์ ไม่สามารถที่จะแยกออกจากกันได้
-ดังนั้นทุกคนที่อยู่ในพระเยซูคริสต์จึงเป็นคนบุญแล้ว หรือเป็นคนที่ได้รับการวินิจฉัยแล้วว่าเป็นคนบุญ (กท 2:17)
ความหมายของการอยู่ในพระเยซูคริสต์เจ้า
-คนบาปเข้าอยู่เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระคริสต์แล้ว กลายเป็นคนบุญ พระเจ้าได้ทรงกระทำพระองค์ผู้ทรงไม่มีบาปให้บาป เพราะเห็นแก่เรา เพื่อเราจะได้เป็นคนบุญของพระเจ้าในพระองค์ (2 คร 5:21)
-พระองค์มาเป็นในสิ่งที่เราเป็น และจากนั้นเราจะได้เป็นเหมือนพระองค์ที่เป็น พระองค์ผู้ไม่มีความบาป ถูกลงโทษความบาปบนกางเขน ดังนั้นเราผู้เป็นคนบาปไม่มีบุญ จึงกลายเป็นคนบุญของพระเจ้า และเปาโลได้ระบุจำเพาะเจาะจงลงไปในตอนสุดท้ายของประโยคนั้นด้วย ถ้อยคำที่สำคัญยิ่ง 2 คำคือ
-ในพระองค์ พระองค์ได้ทำตนที่ไม่มีบาปเหมือนมีบาป โดยการยอม รับการตรึงบนกางเขน ถึงกระนั้นเราก็ยังไม่เป็นคนบุญของพระเจ้า จนกว่าเราจะเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือเป็นคนเดียวกับพระคริสต์ เราจึงเป็นคนบุญของพระเจ้า
การกระทำของพระเยซูเพื่อคนบาป
-การที่พระองค์ถูกแขวนไว้บนกางเขนนั้น พระองค์ก็ถูกสาปแช่งโดยธรรมบัญญัติ การเป็นขึ้นมาจากความตายได้ประกาศยืนยันให้โลกเห็นว่า พระองค์ได้ชดใช้หนี้บาปแทนมนุษย์แล้ว
-เราทั้งหลายอยู่ภายใต้การลงโทษของธรรมบัญญัติ เพราะว่าเราทั้งหลายทำผิดหรือฝ่าฝืนธรรมบัญญัติ ดังนั้น “คนทั้งหลายซึ่งพึ่งการประพฤติตามธรรมบัญญัติก็ถูกแช่งสาป เพราะพระคัมภีร์เขียนไว้ว่า “ทุกคนที่มิได้ประพฤติตามข้อความที่เขียนไว้ในหนังสือธรรมบัญญัติก็ถูกแช่ง สาป” (กท 3:2 คัดลอกจาก ฉธบ 27:26)
-พระคริสต์ทรงไถ่เราให้พ้นความสาปแช่งแห่งธรรมบัญญัติโดยการที่พระองค์ ทรงยอมถูกแช่งสาปเพื่อเรา เพราะพระคัมภีร์เขียนไว้ว่า “ทุกคนที่ถูกแขวนไว้บนต้นไม้ต้องถูกแช่งสาป” (กท 3:13)
-พระองค์รับเอาหรือแบกเอาความบาป และโทษของเรา ฉะนั้นเราทั้งหลายจึงเป็นอิสระจากบาป และการถูกลงโทษตามธรรมบัญญัตินั้น
โทษแห่งความบาปที่ธรรมบัญญัติจะต้องลงโทษนั้นคืออะไร
-คือ “ความตาย” (ทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณ) เพราะว่า “ค่าจ้างของความบาปคือความตาย” (รม 6:23) ความตายในที่นี้หมายถึงความตายฝ่ายจิตวิญญาณ ซึ่งได้แก่การขาดจากพระเจ้า
-มนุษย์ทุกคนที่เป็นคนบาป ไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงจากการลงโทษนี้ได้เลย เขาจะต้องพบกับความตาย เพราะความตายฝ่ายวิญญาณเป็นผลอันเนื่องมาจากการเป็นคนบาป
-ดังนั้นพระเยซูจึงมาตายเพื่อเรา “เพราะผู้ที่ตายแล้วก็พ้นจากอำนาจบาป” (รม 6:7 ตามตัวอักษร)
ความเกี่ยวข้องระหว่างพระเยซู และพวกเรา
-การตายของพระเยซูนั้น พระองค์ตายเพื่อเรา พระองค์ตายเพื่อเราจะได้ไม่ตาย ฉะนั้นถ้าเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับพระองค์ เราจึงสามารถกล่าวความจริงได้ว่า เราได้ตายแล้วในพระเยซู
-เราสามารถที่จะกล่าวได้ว่า “พระองค์ตายเพื่อข้าพเจ้า” เมื่อพระองค์ตายเพื่อข้าพเจ้าและข้าพเจ้าอยู่ในพระองค์ พระเจ้ามองมาที่ข้าพเจ้าก็เห็นว่าข้าพเจ้าได้ตายแล้ว โทษบาปของข้าพเจ้าได้รับการใช้หนี้แล้วในความตายของพระเยซู ข้าพเจ้าได้ตายกับพระองค์ และในการเป็นขึ้นมาจากตายนั้นข้าพเจ้าก็เป็นขึ้นมาใหม่กับพระองค์ โทษที่มีตามข้อบังคับของธรรมบัญญัตินี้ ได้รับการใช้หนี้แล้ว
-ดังนั้นข้าพเจ้าจึงเป็นอิสระจากความบาป และความตาย ดังที่เปาโลกล่าวว่า “ข้าพเจ้าได้รับการตรึงบนกางเขนกับพระคริสต์แล้ว ข้าพเจ้าเองไม่มีชีวิตอยู่ต่อไป แต่พระคริสต์ต่างหากที่ทรงมีชีวิตอยู่ในข้าพเจ้า” (กท 2:20)
-เมื่อเรามีชีวิตใหม่แล้ว เราไม่ได้มีชีวิตอยู่เพื่อตนเอง แต่อยู่เพื่อคนอื่น (2 คร 5:14-15)
-การตายของพระองค์นั้นเป็นการตายใช้หนี้คนบาปต่อพระเจ้า (รม 6:10-11)
เครื่องหมายที่แสดงว่าเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระคริสต์ในความตาย และการเป็นขึ้นมาจากตาย
-พิธีมุดน้ำ (พระคัมภีร์ภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่าพิธี “บัพติศมา”) เป็นเครื่องหมายที่แสดงว่า เราได้เข้าในความตาย และเป็นขึ้นมาจากความตายกับพระองค์ (รม 6:3-5;กท 3:26-27;คส 2:12)
-พิธีมุดน้ำก็ไม่ได้ทำให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันได้ พระเยซูคริสต์ต่างหากที่ทำให้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ถ้าจะนำพิธีมุดน้ำไปเปรียบเทียบกับพิธีเข้าสุหนัต จะทำให้มองเห็นภาพได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น เพราะพิธีมุดน้ำเป็นเครื่องหมายแห่งการเข้าสู่พันธสัญญาใหม่ เหมือนกับพิธีเข้าสุหนัตเป็นเครื่องหมายแห่งการเข้าสู่พันธสัญญาเก่า
ความหมายของพิธีสุหนัต และพิธีมุดน้ำ
-เป็นเครื่องหมายว่าเป็นคนบุญแล้วโดยความเชื่อ ก่อนที่จะทำพิธีเข้าสุหนัต อับราฮัมได้เป็นคนบุญแล้วโดยความเชื่อ (รม 4:11)
-ในตอนแรกนั้น อับราฮัมได้รับบุญ หรือได้เป็นคนบุญโดยความเชื่อ ต่อมาท่านได้ทำพิธีเข้าสุหนัต เพื่อเป็นเครื่องหมายแห่งการเป็นคนบุญ
-เช่นเดียวกัน โดยความเชื่อพวกเราจึงเชื่อมต่อกับพระคริสต์และเป็นคนบุญ หรือหลุดพ้นในขั้นที่ 1 (รม 3:22-26)
-เมื่อเราเป็นคนบุญแล้ว เราจึงทำพิธีมุดน้ำ เพื่อเป็นเครื่องหมายว่า เราได้เข้าหุ้นส่วนในความตาย และการเป็นขึ้นมาจากความตายแล้วโดยความเชื่อ และโดยความเชื่อนี้เอง
-ไม่ว่าจะเป็นอับราฮัม หรือกษัตริย์ดาวิด ซึ่งเป็นคนที่มีชื่อเสียง จึงเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุดที่แสดงให้เห็นว่าเป็นคนบุญ โดยความเชื่อ (กท 3:6-9)
-พระเจ้าให้ผู้เชื่อในพระเยซูเป็นคนบุญ (รม 3:26) และโดยความเชื่อนั้นเอง พวกเราทั้งหลายจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระคริสต์ ในความตายและการเป็นขึ้นมาจากความตายกับพระองค์
สิ่งที่เปาโลกล่าวถึงในจดหมายของท่าน
-พูดถึงความขัดแย้งกันระหว่างบุญที่มนุษย์อุตส่าห์สร้างขึ้นเอง และบุญของพระเจ้าที่ประทานให้ (กท 2:16;อฟ 2:8-10;ทต 3:4-7;รม 10:3)
-การเป็นคนบุญที่พระเจ้าประทานให้โดยความเชื่อนี้ ขัดแย้งกับประสบการณ์ของท่านตั้งแต่เล็กจนโต เพราะท่านเคยเชื่อมั่นและมั่นใจในบุญของตนเอง (ฟป 3:3-6)
-แต่เดี๋ยวนี้ท่านไว้ใจในพระคริสต์ผู้เป็นบุญของพระเจ้า (ฟป 3:7-8;เทียบกับ 1 คร 1:30)
-ท่านมีความชื่นชมยินดี “เพราะว่าเดี๋ยวนี้ไม่มีบุญที่เป็นของข้าพเจ้าเองที่ได้มาโดยธรรมบัญญัติ แต่มีมาโดยความเชื่อในพระคริสต์ เป็นบุญซึ่งมาจากพระเจ้า ซึ่งขึ้นอยู่กับความเชื่อ (ฟป 3:9)
-บุญที่พระเจ้าประทานให้โดยพระเยซูผู้ถูกตรึงบนกางเขนนี้ เป็นเหตุให้พวกยิวสะดุด (1 คร 1:23)
-ดังนั้นเปาโลจึงประกาศไว้ในหนังสือกาลาเทีย 2:21 ว่า “ถ้าบุญเกิดจากธรรมบัญญัติแล้ว พระคริสต์ก็ตายโดยไม่มีผลประโยชน์อะไร” เพราะว่าถ้าเราสามารถได้รับความหลุดพ้นได้ด้วยการกระทำของตนเอง พระคริสต์ก็ไม่จำเป็นจะต้องตายเพื่อไถ่บาปของเรา
เนื้อหาสาระสำคัญของเปาโลในหนังสือกาลาเทีย ท่านกล่าวถึงความขัดแย้งระหว่างโมเสสและพระเยซู
-โมเสสเป็นผู้ให้ธรรมบัญญัติ พระเยซูเป็นผู้ให้พระคุณ
-โมเสสเป็นผู้บอกให้ทำตามธรรมบัญญัติ พระเยซูบอกให้ “เชื่อพึ่งอาศัยในพระองค์
-โมเสสบอกว่า ความหลุดพ้นเกิดขึ้นจากการประพฤติตามธรรมบัญญัติ โมเสสนำเราไปผูกมัดกับการเป็นทาส พระเยซูบอกว่า ความหลุดพ้นเกิดขึ้นจากพระคุณของพระเจ้าโดยความเชื่อในพระองค์ พระเยซูให้เราเป็นอิสระและเป็นบุตร (กท 3:23-4:11 (เทียบกับ กจ 13:38-39)
ความแตกต่างระหว่างพวกฟาริสีและคนเก็บภาษีในคำสอนของพระเยซู
-พวกฟาริสีอาศัยบุญของตนเอง แต่คนเก็บภาษีอาศัยบุญของพระเจ้า และคนที่อาศัยบุญของพระเจ้านั้น เป็นผู้ที่มีบุญจริงๆ (ลก 18:9-14)
หลักสำคัญของการปฏิรูปศาสนาในศตวรรษที่ 16 คือ
- คนบาปเป็นคนบุญเพราะพระคุณ
- คนบาปหลุดพ้นโดยความเชื่อเท่านั้น
- คนบาปไม่ได้หลุดพ้นโดยการประพฤติ
- ความหลุดพ้นขั้นที่ 1 คือการเป็นคนบุญโดยความเชื่อเท่านั้น
- ความหลุดพ้นขั้นที่ 1 ไม่ใช่ประพฤติตามธรรมบัญญัติ
- หลักความเชื่อนี้เป็นสิ่งสำคัญและยิ่งใหญ่
- ไม่มีหลักใดที่จะยิ่งใหญ่และสำคัญเท่า
- เราควรจะประกาศและสั่งสอนให้ทุกคนเข้าใจ
- ทุกคนควรพึ่งในพระคุณ ไม่ใช่พึ่งอาศัยในความสามารถของตนเอง
เขียนโดย Banpote Wetchgama (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี)
แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสที่ 20 พฤษภาคม 2012 เวลา 8:25 น.
(ข้อมูลที่นำมาเขียนในบทเรียน “ความหลุดพ้นขั้นที่ 1 (Justification) การถูกชำระให้เป็นคนบุญ” นี้ แปลและเรียบเรียงมาจากหนังสือ “Basic Introduction to the New Testament by John R. W. Stott” PP. 52-78,1964.)