9.เรื่อง ความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (ตอน 1/1) (Sanctification) เราได้รับการชำระให้บริสุทธิ์
เรื่อง ความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (ตอน 1/1) (Sanctification)
เราได้รับการชำระให้บริสุทธิ์
เขียนโดย…บรรพต เวชกามา (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี)
วันพุธที่ 29 เมษายน 2012 เวลา 11:25 น.
เกี่ยวกับความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (Sanctification) ที่เราถูกชำระให้บริสุทธิ์ในนี้ พระคัมภีร์ภาษาไทยแปลว่า “การชำระให้บริสุทธิ์”เท่านั้น ไม่มีคำว่า “ความหลุดพ้นขั้นที่ 2” แต่ตามความเป็นจริงแล้ว การชำระให้บริสุทธิ์นี้ เป็นขบวนการต่อเนื่องจากความหลุดพ้นขั้นที่ 1 (Justification) ที่พระเจ้าชำระให้เราเป็นคนบุญ (พระคัมภีร์ภาษาไทยแปลว่า “คนชอบธรรม”) ดังนั้น ผู้ที่ได้รับการชำระให้เป็นคนบุญในความหลุดพ้นขั้นที่ 1 แล้ว จะได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ในขั้นที่ 2 (Sanctification) และในที่สุดจะได้ชีวิตเข้าสู่นิพาน (พระคัมภีร์ภาษาไทยแปลว่า “ชีวิตนิรันดร์”) ในความหลุดพ้นขั้นที่ 3 (Glorification) ดังที่เปาโลกล่าวไว้ว่า
-แต่เดี๋ยวนี้ท่านทั้งหลายพ้นจากการเป็นทาสของบาป และกลับมาเป็นทาสของพระเจ้าแล้ว ผลสนองที่ท่านได้รับก็คือการชำระให้บริสุทธิ์ ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 และผลสุดท้ายคือชีวิตเข้าสู่นิพพานในความหลุดพ้นขั้นที่ 3 (รม 6:22)
ความหมายของการชำระให้บริสุทธิ์ในความหลุดพ้นขั้นที่สอง (Sanctification)
การชำระให้บริสุทธิ์ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 ภาษากรีกคือ hagiasmos หมายถึงการทำให้บริสุทธิ์ (holy) การอุทิศ การแยกออกจากโลก และการแยกออกจากบาป เพื่อที่เราจะได้มีความสัมพันธ์ที่สนิทสนมกับพระเจ้า และรับใช้พระองค์ด้วยความชื่นชมยินดี
1. สิ่งที่จะต้องกระทำ หลังจากถูกชำระให้บริสุทธิ์ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 แล้ว ผู้ที่ถูกชำระให้บริสุทธิ์ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 แล้ว (1ธส.5:23) ยังจะต้องกระทำในสิ่งต่อไปนี้…
1.1 รักพระเจ้าด้วยสุดใจสุดจิต และด้วยสิ้นสุดความคิด (มธ.22:37)
1.2 เป็นผู้บริสุทธิ์ ปราศจากข้อตำหนิ (1ธส.3:13)
1.3 มีความบริสุทธิ์อย่างสมบูรณ์ (2 คร.7:1)
1.4 มีความรักซึ่งเกิดจากใจอันบริสุทธิ์ และจากมโนธรรมที่ดี และจากความเชื่อที่จริงใจ (1ทธ.1:5)
1.5 เป็นคนบริสุทธิ์และเป็นคนที่ไม่มีที่ติในวันแห่งพระคริสต์ (ฟป.1:10)
1.6 เป็นคนที่พ้นจากบาปแล้ว (รม.6:18)
1.7 เป็นคนที่ตายต่อบาป (รม.6:2)
1.8 เป็นทาสของความชอบธรรม เพื่อให้ถึงการชำระให้บริสุทธิ์ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (รม.6:19)
1.9 เป็นคนที่ประพฤติตามพระบัญญัติของพระองค์ เพราะได้เป็นคนบุญแล้วในความหลุดพ้นขั้นที่ 1 ไม่ใช่ประพฤติตามเพื่อจะได้รับความหลุดพ้น (1ยน.3:22)
1.10 เป็นคนที่มีชัยต่อโลก โดยการทรงนำของพระธรรมของพระเจ้า (1ยน.5:4)
-ในการดำเนินชีวิตในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 ที่ถูกชำระให้บริสุทธิ์นี้ เป็นการทำงานของพระธรรมที่เป็นความหลุดพ้นในพระเยซูคริสต์ โดยการที่พระองค์ทรงปลดปล่อยเราจากพันธนาการและฤทธิ์อำนาจของบาป (รม.6:1-11) แยกเราออกจากการประพฤติอันเป็นบาปแห่งโลกปัจจุบัน เปลี่ยนแปลงชีวิตเราใหม่ตามพระฉายของพระคริสต์ สร้างผลงานของพระธรรมในชีวิตของเรา และทำให้เราสามารถดำเนินชีวิตในความบริสุทธิ์ และเป็นชีวิตที่มีชัยชนะในการอุทิศตัวให้กับพระเจ้า (ยน.17:15-19,23;รม.6:5,13,16,19;12:1;กท.5:16,22-23)
2. ความจริงเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 การดำเนินชีวิตในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (Sanctification) ที่เรากำลังถูกชำระให้บริสุทธิ์นั้น
-ไม่ได้หมายความว่าเรามีความสมบูรณ์แบบไร้ขีดจำกัด หรือไม่ได้หมายความว่า เราทำได้ด้วยตนเอง แต่หมายถึงการเป็นคนบุญในด้านจริยธรรม เป็นคนที่กำลังได้รับการเปลี่ยนแปลงชีวิตในด้านการประพฤติ การพูดจา และความคิดหรือค่านิยม เพื่อจะได้เป็นผู้บริสุทธิ์ไม่มีที่ติ และไร้ความผิด (ฟป.2:14-15, คส.1:22, 1ธส.2:10, ลก.1:6)
-โดยพระคุณของพระเจ้า เราจึงได้ตายแล้วในพระคริสต์ เป็นทาสของความชอบธรรม ได้รับการปลดปล่อยจากอำนาจบาป (รม.6:18) ดังนั้น เราจึงไม่จำเป็นต้องกลัวบาปและไม่ควรยุ่งเกี่ยวกับความบาป แต่เราสามารถมีชัยชนะได้ในพระเยซูคริสต์พระผู้ช่วยให้หลุดพ้นของเรา
-โดยพระธรรมของพระเจ้า “เราสามารถที่จะไม่ทำบาปได้ และถ้าเราทำบาป เราก็มีผู้ช่วยทูลขอพระบิดาเพื่อเรา” (1ยน 2:1) เพราะ “ผู้ที่อยู่ในพระองค์ไม่กระทำบาปอีกต่อไป ส่วนผู้ที่กระทำบาปอยู่เรื่อยๆ คนนั้นยังไม่เห็นพระองค์ และยังไม่รู้จักพระองค์” (1ยน 3:6) ขณะที่เราอาศัยอยู่ในโลกนี้ เราอาศัยอยู่ในร่างกายเก่า คือร่างกายที่มีความบาปนั้น เราไม่อาจไปอาศัยอยู่ในร่างกายอื่นได้ หรือไม่อาจหลบหนีไปอยู่ในที่ที่ไม่มีการทดลอง และสถานที่ที่บาปไม่มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้
3. การถูกชำระให้บริสุทธิ์ ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (Sanctification) ในพระคัมภีร์เดิมนั้น การถูกชำระให้เป็นคนบริสุทธิ์ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 เป็นน้ำพระทัยของพระเจ้าสำหรับชนชาติอิสราเอล พวกเขาต้องดำเนินชีวิตในความบริสุทธิ์หรือมีชีวิตที่รับการชำระ โดยแยกตัวออกจากวิถีชีวิตของประชาชาติที่อยู่ล้อมรอบพวกเขา (อพย.19:6;ลนต.11:44;ลนต.19:2;2พศด.29:5)
-ในทำนองเดียวกัน ในสมัยพระคัมภีร์ใหม่ การถูกชำระให้บริสุทธิ์ ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (Sanctification) ก็เป็นสิ่งที่พระเจ้าเรียกร้องจากผู้เชื่อในพระคริสต์ พระองค์ต้องการให้เราเป็นผู้บริสุทธิ์ในพระองค์เช่นเดียวกัน
-พระคัมภีร์สอนว่า “ถ้าใจไม่บริสุทธิ์ก็จะไม่มีผู้ใดได้เห็นองค์พระผู้เป็นเจ้าเลย” (ฮบ.12:14)
4. คนของพระเจ้ารับการชำระให้บริสุทธิ์ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 โดยความเชื่อ (กจ.26:18)
-โดยการเข้าส่วนในการตายและการเป็นขึ้นมาของพระคริสต์ (ยน.15:4-10;รม.6:1-11;1คร.1:30)
-โดยพระโลหิตของพระคริสต์ (1ยน.1:7-9)
-โดยพระคำของพระเจ้า (ยน.17:17)
-และโดยการกระทำของพระธรรมในการชำระและสร้างใจของผู้เชื่อขึ้นใหม่ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (ยรม.31:31-34;รม.8:13;1คร.6:11;ฟป.2:12-13;2ธส.2:13)
5. การถูกชำระให้บริสุทธิ์ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (Sanctification) นั้นเป็นทั้งส่วนของพระเจ้าและส่วนของผู้เชื่อ (ฟป.2:12-13)
-เพื่อที่จะให้น้ำพระทัยของพระเจ้าสำเร็จ ในการชำระให้บริสุทธิ์ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (Sanctification) ผู้เชื่อจะต้องมีส่วนร่วมในงานแห่งการชำระของพระธรรมด้วยการหยุดทำสิ่งชั่วร้าย (รม.6:1-2) ชำระตนเองจาก “มลทินทุกอย่างของเนื้อหนังและวิญญาณจิต” (2คร.7:1;รม.6:12;กท.5:16-25) และรักษาตัวให้พ้นจากราคีของโลก (ยก.1:27;รม.6:13,19;8:13;12:1-2;13:14;อฟ.4:31;5:18;คส.3:5,10;ฮบ.6:1, ยก.4:8)
6. การถูกชำระให้บริสุทธิ์ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (Sanctification) เรียกร้องให้ผู้เชื่อรักษาความสัมพันธ์สนิทกับพระคริสต์ (ยน.15:4) ผูกพันกับผู้เชื่อคนอื่นๆในการร่วมสามัคคีธรรมกัน (อฟ.4:15-16), อุทิศตนในการอธิษฐาน (มธ.6:5-13;คส.4:2) เชื่อฟังพระคำ (ยน.17:17) ไวต่อการทรงสถิตและความห่วงใยของพระเจ้า (มธ.6:25-34) รักความชอบธรรมและเกลียดชังความชั่วร้าย (ฮบ.1:9) กำจัดบาป (รม.6) ยอมจำนนต่อการแก้ไขชีวิตจากพระเจ้า (ฮบ.12:5-11) เชื่อฟังอย่างต่อเนื่อง และยอมให้พระธรรมของพระเจ้าทรงนำ (รม.8:14,อฟ.5:18)
7. ภาพของการถูกชำระบริสุทธิ์ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (Sanctification) ในพระคัมภีร์ใหม่ ไม่ใช่กระบวนการที่เกิดขึ้นช้าๆ ค่อยทิ้งบาปทีละน้อยๆ
-ในทางตรงกันข้าม เป็นภาพของการกระทำที่เด็ดขาดที่ผู้เชื่อถูกปลดปล่อยจากอำนาจของซาตาน และแสดงการแตกหักอย่างชัดเจนกับบาปโดยพระคุณของพระเจ้า เพื่อที่จะมีชีวิตอยู่เพื่อพระองค์ (รม.6:18, 2คร.5:17, อฟ.2:4-6, คส.3:1-3)
-ในเวลาเดียวกัน การถูกชำระให้บริสุทธิ์ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (Sanctification) ยังเป็นกระบวนการที่เกิดขึ้นตลอดชีวิต ซึ่งผู้เชื่อต้องกำจัดการกระทำที่ไม่ถูกต้องออกจากชีวิตอย่างต่อเนื่อง (2 คร.3:18) เติบโตในพระคุณ (2ปต.3:18) และฝึกฝนที่จะรักพระเจ้าและรักคนอื่นมากขึ้น (มธ.22:37-39;1ยน.4:7-8;11,20-21)
8. การถูกชำระให้บริสุทธิ์ ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (Sanctification) ยังเกี่ยวข้องกับประสบการณ์ที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน หลังจากถูกชำระให้เป็นคนบุญในความหลุดพ้นขั้นที่ 1 แล้ว
-ผู้เชื่อจะต้องสำแดงความบริสุทธิ์ของพระเจ้าออกมาอย่างชัดเจน และจะต้องตระหนักว่าพระเจ้าทรงเรียกพวกเขามา ให้แยกตัวออกจากบาปและค่านิยมของโลกอย่างชัดเจน และให้เขาดำเนินชีวิตอย่างใกล้ชิดกับพระเจ้า (2 คร.6:16-18) ซึ่งทำให้ผู้เชื่อจะต้องต่อสู้ระหว่างความปรารถนาของเนื้อหนัง กับความต้องการของพระเจ้าในชีวิตของเขา
-ดังนั้น ผู้เชื่อที่ถูกชำระให้บริสุทธิ์ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (Sanctification) จึงต้องดำเนินชีวิตกับพระเจ้า ถวายตัวให้เป็นเครื่องบูชาที่มีชีวิตอยู่และดำเนินชีวิตในพระคุณ ในความบริสุทธิ์ ฤทธิ์เดช และชัยชนะโดยพระธรรม ซึ่งเป็นที่พอพระทัยของพระเจ้า (รม.6:19-22;12:1-2)
เขียนโดย Banpote Wetchgama (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี)
แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสที่ 11 พฤษภาคม 2012 เวลา 13:05 น.
(ข้อมูลที่นำมาเขียนในบทเรียน “เรื่อง ความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (Sanctification) เราได้รับการชำระให้บริสุทธิ์” นี้ แปลและเรียบเรียงมาจากหนังสือ “Basic Introduction to the New Testament by John R. W. Stott” PP. 52-78,1964.)
บทเรียนพระคัมภีร์
เรื่อง ความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (ตอน 1/2)
(Sanctification)
เราได้รับการชำระให้บริสุทธิ์
เขียนโดย…บรรพต เวชกามา (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี)
วันพุธที่ 7 พฤษภาคม 2012 เวลา 13:35 น.
ความหลุดพ้นโดยพระคุณของพระเจ้านี้ เป็นเรื่องที่คริสเตียนไทยทั่วไปไม่ค่อยจะเข้าใจ เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะว่า เมื่อได้รับความหลุดพ้นแล้ว ก็ยังอาศัยอยู่ในเนื้อหนังที่มีบาปอยู่เช่นเดิม (เป็นคนบุญที่อาศัยอยู่ในร่างของคนบาป) บางครั้งก็มีการล่วงละเมิดหรือทำผิดทำบาปอยู่เป็นประจำ จึงทำให้เข้าใจผิด และคิดว่า อาจจะไม่หลุดพ้น
บางคนก็คิดว่า หลุดพ้นโดยพระคุณ เป็นเรื่องง่ายเกินไป เป็นเรื่องที่พระเจ้าส่งเสริมให้คนทำบาปไม่รู้จักหยุดจักหย่อน การเข้าใจเช่นนี้เป็นการเข้าใจผิด เป็นการดูหมิ่นพระคุณ หรือการมาตายใช้หนี้บาปมวลมนุษย์ชาติของพระเยซูคริสต์เจ้า เพราะเอาเรื่องการทำผิดบาปขึ้นมาเป็นเรื่องใหญ่ แต่ไม่ได้เอาเรื่องการเป็นคนบาปขึ้นมาเป็นเรื่องใหญ่ การเป็นคนบาปนั้น คือการมีกิเลส ราคะ ตัณหา เห็นแก่ตัว อยากเป็นใหญ่กว่าพระเจ้า และคนอื่น เมื่อเป็นเช่นนี้ จึงมีโอกาสที่จะทำผิดบาป แม้ว่าจะเชื่อในพระเจ้า ได้รับความหลุดพ้นแล้วก็ตาม
ความหมายของการเป็นคนบุญในความหลุดพ้นขั้นที่ 1
-คือเป็นบุญที่ได้รับการพิพากษาและตัดสินแล้วในชั้นศาล ซึ่งเกิดขึ้นในทันทีทันใด ถ้าคนบาปคนนั้นกลับใจหันมาเชื่อพึ่งอาศัยในพระเยซูคริสต์ผู้ซึ่งตายไถ่โทษบาป และเป็นขึ้นมาจากความตายแล้ว พระเจ้าทรงประกาศและวินิจฉัยว่า เขาเป็นคนบุญ
-พระเจ้ายอมรับเขาด้วยพรหมวิหารสี่ อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาของพระองค์ (อฟ 1:6) เขาเป็นคนบุญในพระคริสต์ (กท 2:17)
สิ่งที่ผู้อยู่ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 ได้รับ
-การเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆให้เหมือนกับพระคริสต์ (2 คร 3:18)
-อำนาจหรือพลังของพระเจ้าที่มีอยู่ภายในจิตใจของเราจะผลักดันให้เราเจริญเติบโตเป็นผู้ใหญ่ขึ้นในความหลุดพ้นขั้นที่ 2
-เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระองค์ ในการเป็นขึ้นมาจากความตายเหมือนกันกับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพระองค์ในความตาย
-เขาได้ตายจากความบาปแล้วในความตายของพระองค์และพระคริสต์ได้ตายไถ่โทษบาปของเขาแล้ว
-เขาก็ได้เป็นขึ้นมากับพระคริสต์ มีชีวิตใหม่กับพระองค์แล้ว (รม 6:1-11;2;คร 5:14-15;คส 2:20-3:4)
-ถ้าพระเจ้าให้พระคริสต์เป็นบุญของเราในความหลุดพ้นขั้นที่ 1 ของเรา พระเจ้าก็ให้พระองค์เป็น “บุญ หรือชำระเราให้บริสุทธิ์ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 เหมือนกัน” (1 คร 1:30)
-ถ้าเราอยู่ในพระคริสต์เพื่อพระเจ้าจะได้ยอมรับ เราก็อยู่ในพระคริสต์เพื่อจะได้เป็นคนบริสุทธิ์ด้วยเหมือนกัน แท้จริงเราทั้งหลาย “หลุดพ้นเป็นคนบุญแล้ว” แต่เราจะต้องประพฤติปฏิบัติในความหลุดพ้นทุกๆวันด้วย ทั้งนี้ไม่ใช่ต้องการความหลุดพ้นในขั้นที่ 1 เพิ่มขึ้นอีก
-แต่เพราะได้รับความหลุดพ้นแล้ว เราจะต้องประพฤติปฏิบัติให้เหมาะสมกับที่เป็นคนบุญแล้ว ด้วยความยำเกรงพระเจ้า ถ้าเราไม่ทำเช่นนั้นแสดงว่า ยังไม่เข้าใจในความหลุดพ้นของพระเจ้า (ฟป 2:12-13)
หลักคำสอนของเปาโลสามารถแบ่งแยกออกได้เป็น 2 ส่วน
-ส่วนหนึ่ง คือหลักคำสอน
-ส่วนที่สอง คือหลักจริยธรรมที่ต้องประพฤติตาม
-อย่างแรกนั้นเกี่ยวข้องหรือสัมพันธ์อยู่กับความเชื่อ อย่างที่สองสัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องอยู่กับการดำเนินชีวิต (เทียบกับ รม 1-11;12-16;กท 1-4;5-6;อฟ 1-3;4-6;คส 1-2,3-4)
-ในจดหมายฝากของท่านหลายเล่ม จะอ้างถึงการดำเนินชีวิตของผู้เชื่อพระเจ้าอยู่เสมอๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหนังสือเอเฟซัส 5:22-26,29;โคโลสี 3:18-4:1 และโรม 13:1-7 ท่านแนะนำหน้าที่ของการเป็นผู้เชื่อในพระเจ้าดังนี้คือ:
-สามีต้องรักภรรยา และภรรยาต้องยอมเชื่อฟังสามีของตน
-บุตรต้องยอมเชื่อฟังบิดามารดา และบิดามารดาต้องอบรมสั่งสอนบุตร
-ทาสต้องรับใช้ผู้เป็นนายของตน และผู้เป็นนายก็ต้องปฏิบัติต่อทาสด้วยความเที่ยงธรรม
-ประชาชนต้องทำหน้าที่ของตน โดยยอมเชื่อฟังต่ออำนาจของเจ้าบ้านผ่านเมืองยอมเสียภาษีให้แก่แผ่นดิน (ไม่โกงภาษี)
คำตักเตือนของเปาโลในการดำเนินชีวิตในความหลุดพ้นขั้นที่ 2
-ให้เลิกพูดเท็จ ให้เลิกยั่วโทสะกันให้กันโกรธ
-ให้เลิกลักเล็กขโมยน้อย ให้เลิกพูดจาหยาบคาย
-ให้เลิกการเป็นคนดื้อดึงเอาแต่ใจตนฝ่ายเดียว
-ให้ระมัดระวังในการดำเนินชีวิตให้ดี
-ให้ทำตนให้บริสุทธิ์ในการประพฤติทั้งกายวาจาใจ
-ให้ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ไม่ให้เมาเหล้าอันเหตุให้เสียคน
-ให้ชื่นชมยินดี ทำตนให้มีคุณค่าและถ่อมใจ (อฟ 4:25-5:2 ; 5:3-14 ;15-21)
-ให้เห็นคุณงามความดีของการเป็นมนุษย์ และไม่ให้เห็นแก่ตัว (ฟป 4:1-11)
-ให้ชื่นชมยินดี ให้อธิษฐาน ให้มีสันติภาพ และให้มีความพอใจ (ฟป 4:4-13)
-ให้ทำงานประกอบอาชีพอย่าได้เกียจคร้าน (1 ธส 4:9-12;2 ธส 3:6-13)
-ให้ใช้ชีวิตที่บริสุทธิ์ทางจริยธรรม ไม่ใช่จมอยู่ในความบาป (1 คร 5; 6:9-11;1 ธส 4:1-8)
-จะต้องไม่หาหนทางแก้แค้น (รม 12:14-21) แต่ให้มีพรหมวิหารสี่ อันได้แก่ เมตตา กรุรา มุทิตา อุเบกขาต่อกันและกัน
-ให้มีพรหมวิหารสี่ต่อทุกๆคน เพราะพรหมวิหารสี่เป็นความสำเร็จของธรรมบัญญัติ (รม 13:8-11;กท 5:13-15)
สิ่งที่ผู้เชื่อพระเจ้าควรทำในการดำเนินชีวิตในความหลุดพ้นขั้นที่ 2
-เมื่อเป็นคนบุญแล้วโดยพระคุณในความหลุดพ้นขั้นที่ 1 จึงไม่พยายามที่จะเป็นคนบุญโดยการกระทำดีของตนเองตามธรรมบัญญัติในขั้นที่ 2
-จะต้องสวมเกราะของพระเจ้า ถ้าเรามีความหวัง เราก็สามารถต่อต้านอำนาจชั่วของซาตานได้ เพราะเราจะเข้มแข็งมีกำลังได้ก็ด้วยอำนาจขององค์พระผู้เป็นเจ้าเท่านั้น (อฟ 6:10-20)
ศัตรูของผู้เชื่อในพระเจ้า
-ไม่ใช่เทพผู้ครอง ศักดิเทพ เทพผู้ครองพิภพ วิญญาณชั่วในสถานอากาศเท่านั้น
-แต่ยังรวมถึงเลือดเนื้อ หรือเนื้อหนัง (กิเลส ราคะ ตัณหา) ของเราด้วย (อฟ 6:12)
-ธรรมชาติฝ่ายต่ำ ที่เอาตัวเองเป็นจุดศูนย์กลาง และเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งเป็นความบาปดั้งเดิมที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด (Original Sin)
-ความบาปดั้งเดิมนี้ ได้แก่ การเห็นแก่ตัว อยากเป็นใหญ่กว่าพระเจ้าและคนทั้งปวง ความบาปนี้เองบังคับให้เราทำผิด โดยตัวของธรรมบัญญัติเอง ไม่ใช่สิ่งเสียหายเลย (เป็นสิ่งดีด้วยซ้ำไป)
-ความบาป ความอ่อนแอของเนื้อหนังต่างหากที่ทำให้ไม่สามารถที่จะทำตามมาตรฐานของพระเจ้าได้ เพราะเนื้อหนังทำให้เราอ่อนกำลังลง (รม 8:3)
ดังนั้น ในตัวของธรรมบัญญัติเอง ไม่สามารถที่จะทำให้เราเป็นคนดีขึ้นมาได้ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 เหมือนกับไม่ได้ทำให้เราเป็นคนบุญได้ในความหลุดพ้นขั้นที่ 1 ด้วยเหตุดังกล่าว เราจึงจำเป็นที่จะต้องพึ่งพระคุณของพระเยซูคริสต์ ไม่ใช่พึ่งธรรมบัญญัติของโมเสส
สิ่งที่คนบาปได้รับเมื่อเชื่อพึ่งในพระเยซูคริสต์
-ของประทานแห่งพระธรรมผ่านทางคนที่เชื่อพึ่งอาศัยในอำนาจของความบริสุทธิ์ของพระเจ้าด้วย คนบาปมีความเชื่อในพระองค์จึงได้เป็นคนบุญ (กท 2:16) และได้รับพระธรรม (กท 3:2)
-ความบริสุทธิ์และการเจริญเติบโตขึ้นทางจริยธรรมของผู้เชื่อ ไม่ใช่เกิดจากการตะเกียกตะกายดิ้นรนเชื่อฟังธรรมบัญญัติแล้วประพฤติตาม แต่เป็นผลที่เกิดขึ้นจากการเชื่อพึ่งอาศัยพระเจ้าภายในใจ
-ในการดำเนินชีวิตในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 นี้ ถ้าเรายอมทำตามเนื้อหนัง ผลของเนื้อหนังก็จะปรากฏออกมา แต่ถ้าเรายอมทำตามพระธรรม ผลของพระธรรมก็จะปรากฏออกมา ซึ่งแตกต่างกัน อย่างเห็นได้ชัด
-ผลของเนื้อหนัง (กิเลส ราคะ ตัณหา) ที่ปรากฏอย่างเห็นได้ชัด คือ การผิดศีลธรรม การขาดพรหมวิหารสี่ อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา และการเมาเหล้า การเป็นศัตรูฆ่ารันฟันแทงกัน (ดู กท 5:19-21)
-ผลของพระธรรมที่จะหลั่งไหลออกมาจากชีวิตภายในของเรา ถ้าเรายอม ได้แก่พรหมวิหารสี่ อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ความชื่นชมยินดี สันติภาพ ความอดทน ความปรานี (ใจดี) ความดี ความสัตย์ซื่อ ความสุภาพอ่อนน้อมว่านอนสอนง่าย และการรู้จักบังคับตนเอง (กท 5:22-23)
สิ่งที่ผู้เชื่อพระเจ้าต้องทำในการดำเนินชีวิตในความหลุดพ้นขั้นที่สอง
-เอาเนื้อหนังและความอยาก ตลอดจนกิเลศ ราคะตัณหาของเนื้อหนังตรึงไว้ที่กางเขน (กท 5:24)
-ต้องมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่าจะไม่ให้เนื้อหนังครอบงำ แต่จะดำเนินชีวิตการเป็นลูกของพระเจ้าในพระธรรม (กท 5:16)
-ดำเนินชีวิตโดยให้พระองค์เป็นผู้ควบคุม ไม่ยอมให้เนื้อหนัง (กิเลส ราคะ ตัณหา) เป็นผู้ควบคุม และไม่ยอมสนองความต้องการของเนื้อหนัง (กท 5:16)
-ต้องดำเนินในพระธรรม จึงจะสามารถทำให้สิ่งที่ธรรมบัญญัติสั่งไว้ สำเร็จในชีวิตของเราทั้งหลายได้ (รม 8:4;7:13-8:9)
ผู้ที่เชื่อในพระเจ้าที่ดำเนินชีวิตอยู่ในความหลุดพ้นขั้นที่สอง มีธรรมชาติ 2 อย่าง
-ธรรมชาติเก่า หรือชีวิตเก่า ถูกปกครองโดยเนื้อหนัง (กิเลส ราคะ ตัณหา)
-ธรรมชาติใหม่ พระธรรมเป็นผู้ควบคุม
-ชีวิตเก่าสิ้นสุดลงแล้ว เพราะได้มาพึ่งอาศัยในพระองค์ผู้เป็นชีวิตใหม่ (1 คร 2:14-3:4;รม8:9;เทียบกับ ยูดา 19)
-ชีวิตใหม่เป็นชีวิตฝ่ายจิตวิญญาณที่มีพระธรรมของพระเจ้าสถิตอยู่ (1 คร2:-3:2)
-ชีวิตใหม่กำลังถูกชำระเราหรือทำให้เราเจริญเติบโตขึ้นฝ่ายจิตวิญญาณทุกวัน (1 คร 3:3-4)
การดำเนินชีวิตในความหลุดพ้นขั้นที่สองของผู้ที่เป็นลูกพระเจ้าตามคำสอนของเปาโล
-ต้องถ่อมใจลงเหมือนดังพระคริสต์ที่ยอมถ่อมใจลง (ฟป 2:5-7) เ
-ต้องดำเนินชีวิตในพรหมวิหารสี่ อันได้แก่ เมตตา กรุณา มิทิตา อุเบกขา (พระคัมภีร์ภาษาไทยแปลว่า “ความรัก”) เหมือนดังพระคริสต์ที่มีต่อเรา และยอมสละพระองค์เองเพื่อเรา (อฟ 5:2)
-ต้องต้อนรับกันและกัน เช่นเดียวกันกับพระคริสต์ที่ต้อนรับเรา (รม 15:7) เ
-ต้องยอมกันและกัน เพราะพระคริสต์ผู้อยู่ในเรา แนะนำเราให้ยอมกันและกัน และจงทำให้เกิดความบริสุทธิ์แก่กันด้วยความเกรงกลัวในพระเจ้า ผู้ซึ่งเราพึ่งอาศัยอยู่กับพระองค์ในปัจจุบันนี้ (อฟ 5:21;2 คร 7:1)
สิ่งที่ควรทำและไม่ควรทำของผู้เชื่อพระเจ้าในการดำเนินชีวิตในความหลุดพ้นขั้นที่สอง
-ไม่สมควรที่เราจะจมอยู่ในความบาปอีกต่อไป (รม 6:1-11)
-ต้องประหารโลกีย์วิสัยในตัวของเรา แล้วแสวงหาสิ่งที่อยู่เบื้องบน ในที่ซึ่งพระคริสต์ทรงสถิตอยู่ (คส 2:20-3:7)
-เราได้รับพระธรรมแล้ว ดังนั้นเราจะต้องดำเนินชีวิตกับพระองค์ (กท 5:25)
-เราจะต้องถอดตัวเก่าทิ้ง (ละทิ้งตัวกู-ของกู) และสวมตัวใหม่ ซึ่งหมายความว่า เราจะต้องละทิ้งการโกรธ การโกหกพกลม และสวมพรหมวิหารสี่ อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา (พระคัมภีร์ภาษาไทยแปลว่า “ความรัก”) และความเห็นใจเข้ามาแทนที่ (คส 3:8-14)
-ร่างกายของเราเป็นอวัยวะของพระคริสต์ และพระธรรมอาศัยอยู่ในร่างกายของเรา และเราจะได้เป็นขึ้นมาใหม่โดยพระบิดา ดังนั้นเราจะต้องยกย่องพระเจ้าด้วยกายของเรา ไม่นำกายของเราไปทำผิดบาปที่น่าอัปยศอดสู (1 คร 6:12-20)
-เราทั้งหลายเป็นบุตรของพระเจ้า ดังนั้นเราต้องทำตนให้บริสุทธิ์ และปราศจากมลทินอยู่เสมอ อย่าอ้างว่าทำไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ทำด้วยตนเอง แต่เราทำด้วยอำนาจของพระเจ้าที่อยู่ในเรา (2 คร 6:14-7:1)
การกระทำของผู้เชื่อพระเจ้าขณะรอคอยการเสด็จมาของพระเยซู
-ให้รักษาเนื้อรักษาตัวให้ปราศจากความผิด จนกว่าพระองค์จะเสด็จกลับมา (ดู 1 คร 17-8;1 ธส 5:23;3:11-13;2:18 ฯลฯ)
-วันที่พระเยซูจะเสด็จกลับมานั้น จะเหมือนวันที่ขโมยขึ้นบ้าน คือไม่มีใครรู้มาก่อน ดังนั้นคนของพระเจ้าจะต้องพร้อมอยู่เสมอ
-จะต้องไม่ดำเนินชีวิตในความมืด แต่ดำเนินชีวิตในความสว่าง คอยเวลาที่พระองค์จะเสด็จกลับมาอยู่เสมอๆ (รม 13:11-14;1 ธส 5:1-11)
คน 2 ประเภทที่เข้าใจผิดเรื่องการดำเนินชีวิตในความหลุดพ้นขั้นที่ 2
-ฝ่ายหนึ่ง เชื่อว่าหลุดพ้นโดยพระคุณเท่านั้นไม่พอ จะต้องประพฤติปฏิบัติตามธรรมบัญญัติด้วย ความหลุดพ้นจึงจะสมบูรณ์ ดังนั้นเขาจึงพยายามที่จะประพฤติปฏิบัติตาม พยายามที่จะเป็นคนดี พยายามที่จะช่วยพระเจ้า ทั้งๆที่รู้ว่าเป็นไม่ได้ เพราะเขายังอาศัยอยู่ในเนื้อหนังที่มีบาป และเนื้อหนังที่มีบาปนั้นก็อ่อนกำลัง เมื่อทำไม่ได้จริงๆ เขาก็จะหาทางหลอกตนเองและผู้อื่นโดยการปิดบังซ่อนไว้ ให้อภัยแก่ตนเอง เข้าข้างตนเองอยู่เสมอ คิดว่าตนเองดีกว่าคนอื่นอยู่เสมอ
-อีกฝ่ายหนึ่ง เข้าใจผิดคิดว่า ทำอะไรก็ได้ พระเจ้าไม่ถือ พระเจ้าได้ให้อภัยแล้ว จึงดำเนินชีวิตจมอยู่ในความบาป ไม่รู้จักละอาย ในการดำเนินชีวิตการเป็นลูกของพระเจ้าแต่ละวันๆนั้นสำแดงแต่ผลของเนื้อหนัง (ทำตามกิเลส ราคะ ตัณหา) ไม่สำแดงผลของพระธรรม เพราะเข้าใจผิดคิดว่า พระเจ้าให้อภัยแล้ว เป็นคนบุญแล้ว ทำอะไรก็ได้
ความประสงค์ของพระเจ้าที่มีต่อผู้เชื่อในพระองค์
-พระเจ้ามีพรหมวิหารสี่ อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาต่อเรา ได้สละชีวิตอันมีค่ามาไถ่เรา ไม่ใช่ให้เราจมอยู่ในความบาป แต่ให้เราพ้นจากบาป และพระองค์ก็ไม่ต้องการให้เราช่วยพระองค์ในการเป็นคนบุญในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 ด้วย
-ในเมื่อเราเป็นคนบุญโดยพระคุณของพระเจ้าแล้วในขั้นที่ 1 เราก็ย่อมจะเป็นคนบุญโดยพระคุณของพระเจ้าในขั้นที่ 2 ด้วย
-การที่เราทำผิดบาป หรือละเมิดธรรมบัญญัติในการดำเนินชีวิตในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 พระเจ้าก็ย่อมให้อภัยเรา ถ้าเราสารภาพกลับใจ (1 ยน 1:9-10)
-ในเมื่อขณะที่เราเป็นคนบาปอยู่นั้น พระเจ้ายังมาตายไถ่บาปเรา (รม 5:6-11) ในเมื่อเราเป็นคนบุญในขั้นที่ 2 (เป็นคนบาปที่ไม่มีค่าของความบาป) ทำไมพระองค์จะไม่อภัยให้เราอีกเล่า การกล่าวเช่นนี้ ไม่ใช่ส่งเสริมให้ทำบาปโดยไม่หยุดหย่อน แต่เป็นการกล่าวตามความจริงของพระคำพระเจ้า เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว หนทางแห่งความหลุดพ้น ก็จะไม่มีเลย
เขียนโดย Banpote Wetchgama (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี)
แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสที่ 11 พฤษภาคม 2012 เวลา 13:20 น.
(ข้อมูลที่นำมาเขียนในบทเรียน “เรื่อง ความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (Sanctification) เราได้รับการชำระให้บริสุทธิ์” นี้ แปลและเรียบเรียงมาจากหนังสือ “Basic Introduction to the New Testament by John R. W. Stott” PP. 52-78,1964.)