10.การดำเนินชีวิตในความหลุดพ้นขั้นที่ 2
การดำเนินชีวิตในความหลุดพ้นขั้นที่ 2
What should we do when we are sanctified?)
เขียนโดย…บรรพต เวชกามา (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี)
วันพุธที่ 2 พฤษภาคม 2012 เวลา 10:45 น.
เมื่อเชื่อพระเจ้าแล้ว เราจะได้รับการชำระให้เป็นคนชอบธรรมในความหลุดพ้นขั้นที่ 1 (Justification) และเราจะต้องดำเนินชีวิตในความหลุดพ้นขั้นที่สอง (Sanctification) ขณะที่เราดำเนินชีวิตอยู่ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 นี้ เราเป็น “คนบุญ” ที่อาศัยอยู่ในร่างของ “คนบาป”
-เราจะเอาชนะความบาปที่ยังอาศัยอยู่ในร่างกายของเราได้อย่างไร คำสอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ คริสเตียนส่วนมากไม่ค่อยเข้าใจ มักจะคิดว่า เมื่อเราทำผิดทำบาป แล้วเราจะไม่ได้เป็นบุตรของพระเจ้าอีกต่อไป ซึ่งเป็นการเข้าใจผิด
-เพราะเราได้มาเป็นบุตรของพระองค์ ไม่ใช่เพราะทำผิดทำถูก แต่เป็นเพราะพระคุณของพระเจ้า เพราะความเมตตา กรุณาของพระองค์ที่มีต่อเรา เรียกเราให้มาเป็นบุตรของพระองค์ รับเราเข้าไปบุตรของพระองค์
เมื่อเราเป็นบุตรของพระองค์แล้ว เราจะดำเนินชีวิตในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (Sanctification) อย่างไร ต่อไปนี้เป็นคำตอบว่า เราจะต้องดำเนินชีวิตดังต่อไปนี้:
1. ดำเนินชีวิตตามพระคำของพระเจ้า
-พระคำของพระเจ้าเป็นเหมือนเข็มทิศชี้ทางให้เราทำการดี พระคำของพระองค์นั้นสอนให้เรารู้ว่าจะใช้ชีวิตอย่างไร ให้เชื่อในสิ่งใด และยังสำแดงให้เรารู้เมื่อเราเดินหลงทาง นอกจากนี้พระคำของพระองค์ยังช่วยให้เรากลับมาเดินในทางที่ถูกต้อง และให้เราดำเนินอยู่ในเส้นทางนั้นต่อไป
-พระคัมภีร์ ทุกตอนได้รับการดลใจจากพระเจ้า และเป็นประโยชน์ในการสอน การตักเตือนว่ากล่าว การแก้ไขสิ่งผิด และการอบรมในทางธรรม เพื่อคนของพระเจ้าจะมีความสามารถ และพรักพร้อมเพื่อการดีทุกอย่าง” (2 ทิโมธี 3:16-17)
-พระคำของพระเจ้านั้นมีชีวิต และทรงพลานุภาพอยู่เสมอ และคมยิ่งกว่าดาบสองคมใดๆแทงทะลุกระทั่งแยกจิตและวิญญาณ ทั้งข้อกระดูกและไขในกระดูก และสามารถวินิจฉัยความคิดและความมุ่งหมายในใจด้วย (ฮีบรู 4:12)
-พระคำของพระเจ้าเป็นพลังแห่งการเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้เชื่อในพระเจ้า (สดุดี 119:9,11,105)
พระคำของพระเจ้า เป็นสิ่งที่สำคัญเป็นมากในการดำเนินชีวิตในความหลุดพ้นขั้นที่สอง (Sanctification) เพราะพระคำของพระเจ้าเปรียบเหมือนอาหารฝ่ายจิตวิญญาณ ร่างกายฝ่ายเนื้อหนังจำเป็นที่จะต้องกินอาหารฝ่ายเนื้อหนังอย่างไร ร่างกายฝ่ายจิตวิญญาณก็มีความจำเป็นที่จะต้องกินอาหารฝ่ายจิตวิญญาณเช่นกัน อาหารนั้นได้แก่:
-พระคำของพระเจ้า ซึ่งก็คือ “พระคริสต์ธรรมคัมภีร์” เราต้องนำพระคัมภีร์มาเป็นบรรทัดฐานในการดำเนินชีวิตในความหลุดพ้นขั้นที่สอง หรือนำมาเพื่อจะได้รู้ว่าเราจะสรรเสริญพระเจ้า ที่พระองค์ประทานพระพรให้แก่เรา เพราะพระคัมภีร์เปรียบเสมือนเป็นเครื่องมือที่พระธรรมใช้นำในชีวิตของพวกเราและชีวิตของผู้อื่น (อฟ 6:17)
-พระคัมภีร์เป็นเหมือนดาบที่พระเจ้าทรงประทานให้เราเพื่อต่อสู้ในฝ่ายจิตวิญญาณ (อฟ 6:12-18)
ดังนั้น ผู้เชื่อในพระเจ้าจำเป็นจะต้อง ศึกษาพระคำของพระเจ้า จำเป็นจะต้องเรียนพระคำของพระเจ้า จะเรียนด้วยตนเอง หรือเรียนร่วมกับคนอื่นๆ ในชุมชนของพระเจ้าก็ได้ เพราะถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว เราจะไม่เข้าใจน้ำพระทัยของพระเจ้าเลย
2. ดำเนินชีวิตตามพระธรรมของพระเจ้า
พระธรรมของพระเจ้า (พระคัมภีร์ภาษาไทยแปลว่า “พระวิญญาณบริสุทธิ์”) เป็นของประทานที่พระเจ้าทรงประทานให้เรา เพื่อให้เรามีชัยชนะเหนือความบาป เราจะต้อง:
-ให้พระธรรมครอบครองชีวิตเรา หมายความว่าให้พระธรรมนำทางในการดำเนินชีวิตมากกว่าที่เราจะเลือกทำตามฝ่ายเนื้อหนัง
-ไม่ปิดการทรงนำของพระธรรม คือไม่ดับพระธรรม (1 ธส 5:19) การไม่ดับพระธรรมหมายความว่า ให้พระธรรมของพระเจ้าทรงนำ แต่จะต้องยืนอยู่บนบรรทัดฐานของพระคัมภีร์ ไม่ใช่อ้างไปตามอำเภอใจของตนเองว่าพระธรรมทรงนำ
-อย่าเมาเหล้าองุ่นซึ่งจะทำให้เสียคน แต่จงเปี่ยมด้วยพระธรรม…จงขอบพระคุณพระเจ้าคือพระบิดาอยู่เสมอสำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง ในพระนามพระเยซูคริสต์องค์พระผู้เป็นเจ้าของเรา (อฟ 5:18-21)
-เพราะพระเจ้าเป็นผู้ประทานพระธรรมโดยการทรงเลือกของพระองค์ (ปฐก 41:38;อพย 31:3;ลนต 24:2;1 ซมอ 10:10;ฯลฯ)
-เพราะพระธรรมสามารถที่จะทำให้เราเอาชนะความผิดบาปได้ เพราะพระองค์เป็นผู้ที่อธิษฐานขอแทนเรา ในเมื่อเราไม่สามารถที่จะอธิษฐานได้เป็นคำ (รม 8:26-27)
ดังนั้น การดำเนินชีวิตามพระธรรมนี้ คือการสวดอ้อนวอนให้พระองค์ทรงนำ ให้พระองค์ทรงชี้ทาง การทรงนำของพระองค์นั้น จะต้องสอดคล้องกับหลักคำสอนในพระคริสต์ธรรมคัมภีร์ ไม่ใช่อ้างเอาตามอำเภอใจ โดยขาดหลักการ เดี๋ยวจะกลายเป็นเหมือนกับการทรงเจ้า
3. ดำเนินชีวิตโดยการสวดอ้อนวอน
การสวดอ้อนวอนนี้ คริสเตียนทั่วไปเลือกที่จะใช้ว่า “อธิษฐาน” แต่ในบทเรียนนี้ขอใช้คำว่า “สวดอ้อนวอน” การสวดอ้อนวอนนี้เป็นการสนทนาพูดคุยกับพระเจ้า
-การสวดอ้อนวอนของผู้เชื่อในพระเจ้า ไม่เหมือนกับการสวดอ้อนวอนของคนทั่วๆไป ที่สวดอ้อนวอนแล้วไม่มีใครฟัง หรือไม่มีใครตอบ แต่พวกเราสวดอ้อนวอนต่อพระเจ้า เราพูด พระองค์ฟัง เราฟัง พระองค์ทรงตรัส (พูด) สลับกันไป การสวดอ้อนวอนนี้เป็นสิ่งที่พระเจ้าประทานให้ เพื่อจะติดต่อกับพระองค์ เพื่อเราจะได้รู้จักน้ำพระทัยของพระองค์
-เราควรแสวงหาคำตอบจากพระเจ้าในการสวดอ้อนวอนเหมือนอย่างที่ผู้เชื่อในพระเจ้าในสมัยแรกได้กระทำ (กจ 3:1;4:31;6:4;13:1-3,ฯลฯ)
-การสวดอ้อนวอนเป็นการเตรียมการสู้รบฝ่ายจิตวิญญาณ (อฟ 6:18)
-การสวดอ้อนวอนนั้นมีความสำคัญเป็นอย่างมาก เพื่อเราจะได้ไม่ถูกทดลอง จิตวิญญาณพร้อมแล้วก็จริง แต่กายยังอ่อนกำลัง (มธ 26:41)
-การสวดอ้อนวอนเป็นการทำตามคำตักเตือนของพระเจ้าในการแสวงหา จดจ่อ และขอ…อย่าหยุด แล้วพระองค์จะทรงประทานกำลังความเข้มแข็งตามที่เราต้องการ (มธ 7:7)
-การสวดอ้อนวอนไม่ใช่เป็นการสวดมนต์ แต่เป็นการสนทนากับพระเจ้า เป็นการยอมรับข้อจำกัดของเรา และยอมรับฤทธิ์อำนาจอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ และให้เราหันมาหาพระองค์เพื่อขอความเข้มแข็ง ให้เราทำในสิ่งที่พระองค์ประสงค์ให้เราทำ (1 ยน 5:14-15)
ฉะนั้น ไม่ว่าเราจะทำกิจกรรมอะไร ขอให้เราสวดอ้อนวอนต่อพระเจ้า ขอความรู้ความเข้าใจ ขอการทรงนำ และความถูกต้องจากพระองค์ ถ้าสวดอ้อนวอนแล้ว ไม่ได้รับคำตอบ นั่นหมายความว่า การสวดขอของเราไม่ถูกต้อง
-ทุกครั้งที่สวด เราต้องปล่อยให้เป็นไปตามน้ำพระทัยของพระเจ้า อย่าติดสินบนต่อพระเจ้า เหมือนกับคนทั่วๆไป จะทำอะไรก็ตาม เราผู้เป็นบุตรของพระเจ้า จะต้องสวดอ้อนวอน (พูดติดต่อ) กับพระเจ้า ขอความช่วยเหลือ ขอการทรงนำ และขอบคุณพระองค์ในคำตอบที่พระองค์ประทานให้
4. ดำเนินชีวิตในชุมชนของพระเจ้า
ในการที่พระเจ้าเลือก และเรียกเรามาเป็นคนของพระองค์นั้น พระองค์ไม่ได้เรียกเราให้มาอยู่คนเดียวโดดๆ แต่เรียกให้มาเป็นชุมชน เป็นกลุ่ม ซึ่งเราจะละเลยมิได้ การเป็นชุมชนหรือเป็นกลุ่มนี้ เรียกว่า “ชุมชนของพระเจ้า” หรือคริสเตียนทั่วไปเรียกว่า “คริสตจักร” ภาษากรีกคือ ekklesia มีความหมายว่า “ชุมชนของพระเจ้า” คือผู้ที่เชื่อวางใจในพระองค์
-เมื่อพระเยซูทรงสั่งให้เหล่าสาวกออกประกาศ พระองค์ทรงส่งพวกเขาออกไปเป็นคู่ (มธ 10:1) พระเยซูตรัสว่า หากมีคนสองหรือสามคนรวมตัวกันในนามของพระองค์ พระองค์จะทรงสถิตอยู่ท่ามกลางพวกเขา (มธ 18:20) นั่นหมายความว่า พระองค์เรียกให้มาเป็นกลุ่ม ไม่ใช่ให้อยู่คนเดียว
-ทุกสัปดาห์ ควรมีการประชุมนมัสการร่วมกัน ควรมีการพบปะสังสรรค์กัน เราไม่ควรขาดการประชุม แต่ให้ใช้เวลานั้นให้กำลังใจซึ่งกันและกันให้มีความรักและทำความดี (ฮบ 10:24-25)
-เมื่อพระเจ้าเรียกให้มาเป็นกลุ่มก้อน เป็นธรรมดาที่จะมีการกระทบกระทั่งกัน ทะเลาะเบาะแว้งกัน ถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนั้นขึ้น ก็ให้สารภาพผิดต่อกันและกัน ให้อภัยกัน อธิษฐานเผื่อกัน (ยก 5:16)
-ให้เป็นเหมือนเหล็กลับเหล็ก คนหนึ่งก็ลับเพื่อนของตนได้ (สภษ 27:17) เชือกสามเกลียวจะขาดง่ายก็หามิได้ ยิ่งจำนวนมากยิ่งเข้มแข็งขึ้น (ปญจ 4:11-12)
-อาจจะรวมตัวกัน เข้าค่ายร่วมกัน หรือคุยกันทางโทรศัพท์ ทางอีเมล์ ทาง face book พบปะกันเป็นการส่วนตัว หรือแบ่งปันถึงสิ่งที่กระทำในการดำเนินชีวิตของการเป็นลูกของพระเจ้า
-ศึกษาพระคัมภีร์ร่วมกัน ร้องเพลงสรรเสริญพระเจ้าร่วมกัน และให้คำมั่นที่จะอธิษฐานเผื่อซึ่งกันและกัน และพยุงกันและกันในการมีสายสัมพันธ์ที่ดำเนินตามพระคำของพระเจ้า
-ประชุมร่วมกัน ศึกษาพระคัมภีร์ร่วมกัน สวดอ้อนวอนเผื่อกันและกัน ถวายทรัพย์เพื่อคนยากจน ให้กำลังใจกัน ฯลฯ เมื่อคนใดคนหนึ่งที่กำลังเผชิญอยู่ในความทุกข์ยากลำบาก ก็ให้สวดอ้อนวอนเผื่อกัน และถ้ามีคนเจ็บป่วยก็ให้สวดอ้อนวอนเผื่อคนเหล่านั้น
-มีผู้ใดในพวกท่านเจ็บป่วยหรือ จงให้ผู้นั้นเชิญบรรดาผู้รับใช้ของชุนพระเจ้ามา และให้ท่านเหล่านั้นสวดอ้อนวอนเพื่อเขา และเจิมเขาด้วยน้ำมันในพระนามขององค์พระผู้เป็นเจ้า” (ยก 5:14)
5. ดำเนินชีวิตอยู่ในโลก หรือสังคมทั่วไป
ในการดำเนินชีวิตอยู่ท่ามกลางคนไม่เชื่อนั้น ให้เป็นเหมือนเกลือของสังคม อย่าแยกตัวออกจากสังคม เหมือนพวกฟาริสี แต่จงอยู่ในสังคม เพื่อจะช่วยเหลือสังคมให้ดีขึ้น ให้ได้รู้จักกับพระเยซูคริสต์เจ้า ผู้เป็นความหลุดพ้นของโลก
-ท่านทั้งหลายเป็นเกลือแห่งโลก ถ้าเกลือนั้นหมดรสเค็มไปแล้ว จะทำให้กลับเค็มอีกอย่างไรได้ แต่นั้นไปก็ไม่เป็นประโยชน์อะไร มีแต่จะทิ้งเสียสำหรับคนเหยียบย่ำ” (มธ 5:13)
การที่เรามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ เป็นเพราะว่าพระเยซูได้ทรงเลือกเราออกมาจากโลก ดังนั้นเราจึงไม่ได้เป็นของโลก แต่เป็นของพระองค์
-ถ้าท่านทั้งหลายเป็นของโลก โลกก็จะรักท่านซึ่งเป็นของโลก แต่เพราะท่านไม่ใช่ของโลก เพราะเราได้เลือกท่านออกจากโลก เหตุฉะนั้นโลกจึงเกลียดชังท่าน (ยน 15:19)
และเมื่อพระองค์สวดอ้อนวอนเผื่อสาวกของพระองค์ พระองค์ได้สวดอ้อนวอนว่า:
-ข้าฯไม่ได้ขอให้พระองค์เอาเขาออกไปจากโลก แต่ขอปกป้องเขาไว้ ให้พ้นจากมารร้าย เขาไม่ใช่ของโลก เหมือนดังที่ข้าฯไม่ใช่ของโลก ขอทรงโปรดชำระเขาให้บริสุทธิ์ด้วยความจริงของพระองค์ พระคำของพระองค์เป็นความจริง พระองค์ทรงใช้ข้าฯมาในโลกฉันใด ข้าฯก็ใช้เขาไปในโลกฉันนั้น ข้าฯถวายตัวของข้าฯเพราะเห็นแก่เขา เพื่อให้เขารับการทรงชำระแต่งตั้งไว้โดยความจริงด้วยเช่นกัน (ยน 17:15-19)
ในการดำเนินชีวิตนั้น จะต้องรู้ความจริงอย่างหนึ่งว่า เราไม่ได้เอาอะไรเข้ามาในโลกฉันใด เราก็เอาอะไรออกไปจากโลกไม่ได้ฉันนั้น (1 ทธ 6:7) หมายความว่า เมื่อเรามาตัวเปล่า เราก็จะกลับไปตัวเปล่าเช่นกัน ดังนั้นเราจะต้อง:
-ประกาศบารมีของพระเจ้าให้กับคนทั้งหลายฟัง (คริสเตียนทั่วไปเรียกว่า “การประกาศข่าวประเสริฐ”) ในการประกาศนั้น เราจะต้องแยกให้ออกระหว่าง:
-แก่นแท้ของบารมีพระเจ้า คือความหลุดพ้นโดยพระคุณของพระเจ้า ซึ่งมีอยู่ 3 ขั้นตอนด้วยกัน คือการถูกชำระให้เป็นคนบุญในความหลุดพ้นขั้นที่ 1 (Justification) การถูกชำระให้บริสุทธิ์ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (Sanctification) และการเข้าสู่ศักดิ์ศรี ในความหลุดพ้นขั้นที่ 3 (Glorification)
-และเปลือกนอกที่มาห่อหุ้ม ซึ่งได้แก่ รูปแบบ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีของชุมชนของพระเจ้าแบบตะวันตก ไม่ว่าจะเป็นของพวกโปรเตสแตนท์ หรือคาทอลิกก็ตาม
-ศาสนาคริสต์ กับ บารมีของพระเจ้าในพระเยซูคริสต์ เป็นคนละเรื่องกัน เมื่อเราประกาศ อย่าประกาศศาสนาคริสต์ไปพร้อมกับบารมีของพระเจ้า (เหมือนกับที่คริสเตียนทำอยู่ในปัจจุบันนี้ เพราะจะทำให้คนที่รับฟังข่าวสาร ไม่เข้าใจอย่างชัดเจน) ให้ประกาศบารมีของพระเจ้าเพียงอย่างเดียว เพื่อคนจะได้ยินได้ฟังข่าวดีของพระเจ้า
ในการดำเนินชีวิตกับพระเจ้าในความหลุดพ้นขั้นที่สองนี้ บางครั้งก็มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว บางครั้งก็มีการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ แต่พระเจ้าสัญญาว่า เมื่อเราดำเนินชีวิตอยู่ตามพระคำของพระองค์ ดำเนินชีวิตตามผลของพระธรรม ดำเนินชีวิตด้วยการสวดอ้อนวอน พูดคุยสนทนากับพระเจ้า และดำเนินชีวิตในชุมชนของพระเจ้า ดำเนินชีวิตในโลกนี้ พระองค์จะนำการเปลี่ยนแปลงมาสู่ชีวิตเรา เราจะรู้ว่าพระองค์ทรงสัตย์ซื่อต่อพระสัญญาของพระองค์เสมอ
เขียนโดย Banpote Wetchgama (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี)
ใน วันพฤหัสที่ 24 พฤษภาคม 2012 เวลา 10:30 น.