12.การเสริมสร้างกันในชุมชนของพระเจ้า (Edification)
การเสริมสร้างกันในชุมชนของพระเจ้า (Edification)
เขียนโดย…บรรพต เวชกามา (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี)
วันพุธที่ 2 พฤษภาคม 2012 เวลา 10:45 น.
การเสริมสร้างกันในชุมชนของพระเจ้า (Edification) นี้ เป็นสิ่งที่ผู้เชื่อในพระเจ้าที่ได้รับการชำระให้เป็นคนบุญในความหลุดพ้นขั้นที่ 1 (Justification) แล้ว และกำลังดำเนินชีวิตอยู่ในความหลุดพ้นขั้นที่ 2 (Sanctification) คือกำลังเป็นคนใหม่ กำลังถูกเปลี่ยนแปลงใหม่ทางความคิดและค่านิยม กำลังได้รับการช่วยเหลือจากพระธรรมของพระเจ้า ให้เป็นคนดีขึ้นจะต้องกระทำ
ความสำคัญของการดำเนินชีวิตในความหลุดพ้นขั้นที่ 2
-เกี่ยวข้องกับการประพฤติปฏิบัติ แต่ไม่ได้หมายความว่า จะประพฤติเพื่อซื้อเอาความหลุดพ้นจากพระเจ้า แต่เพราะเราหลุดพ้นในขั้นที่ 1 เป็นคนบุญ (ที่อาศัยอยู่ในร่างของคนบาป) แล้ว ไม่มีค่าของความบาปแล้ว
-เราจึงดำเนินชีวิตอยู่ในความหลุดพ้นให้สมกับที่พระเจ้าได้ทรงสละพระบุตรองค์เดียวของพระองค์ มาไถ่เราทั้งหลาย
-ในการที่เราได้รับความหลุดพ้นทั้ง 2 ขั้นตอนนี้ ไม่ใช่ว่าให้เรามารับเอาเป็นปัจเจก หรือรับแบบตัวใครตัวมัน แต่พระเจ้าได้ผูกพันเราผู้เชื่อทุกคนนี้เข้าเป็นชุมชนของพระเจ้า (คริสเตียนทั่วไปจะเรียกว่า “คริสตจักร”)
-ชุมชนของพระเจ้าเหล่านี้ จำเป็นต้องเสริมสร้างซึ่งกันและกัน ไม่ใช่อยู่แบบตัวใครตัวมัน การเสริมสร้างซึ่งกันและกันนั้น เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินชีวิตในความหลุดพ้นขั้นที่ 2
ความหลุดพ้นตามคำสอนของเปาโล
-ไม่ใช่การถูกชำระให้เป็นคนบุญในขั้นที่ 1 และไม่ใช่การถูกชำระให้เป็นคนบริสุทธิ์ในขั้นที่ 2 เท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องที่ต้องเสริมสร้างซึ่งกันและกันด้วย
-คำว่า “เสริมสร้างซึ่งกันและกัน” (Edification) นี้ คือการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เป็นสิ่งที่แสดงออกโดยธรรมชาติ เป็นคุณงามความดีที่เป็นผลตามมาจากความหลุดพ้นขั้นแรกที่เราเรียกว่าการได้รับการชำระให้เป็นคนบุญในความหลุดพ้นขึ้นที่หนึ่ง และการได้รับการชำระให้บริสุทธิ์ในความหลุดพ้นขั้นที่สอง
สิ่งที่ผูกพันการเสริมสร้างกันคือ
-ความเชื่อ ความหวัง และ พรหมวิหารสี่ อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา (1 โครินธ์ บทที่ 13:1-13;อฟ 1:15;คส 1:4;1 ธส 1:3)
-ความเชื่อซึ่งแสดงออกเป็นกิจที่ทำด้วยพรหมวิหารสี่ (กท 5:6)
-พรหมวิหารสี่จะต้องมีความเชื่อ เพราะโดยความเชื่อ เราจึงได้รับพระธรรม (กท 3:2)
-ผลแรกของพระธรรมนั้นคือพรหมวิหารสี่ อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา (กท 5:22)
หน้าที่ของชุมชนของพระเจ้า
-ต้องทำหน้าที่เสริมสร้างกัน ระหว่างชุมชนต่อชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนพระเจ้าระดับท้องถิ่นหรือชุมชนพระเจ้าระดับสากล
-ต้องดำเนินชีวิตให้เหมาะสมกับที่มีความเชื่อ และมีพรหมวิหารสี่ อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา
-ความเชื่อและพรหมวิหารสี่มีพลังที่จะผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี และมีความเมตตาที่จะช่วยเสริมสร้างกันได้
เหตุที่เราจะต้องเสริมสร้างกันและกัน
-เพราะเราเป็นลูกของพระเจ้า เป็นพี่น้องกันโดยความเชื่อ เพราะความเชื่อเราจึงอยู่ในพระคริสต์เป็นลูกของพระเจ้า (กท 3:26)
-เพราะเราเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน หรือเป็นคนเดียวกัน (กท 3:28)
ในการเสริมสร้างกันนั้น ควรทำและไม่ควรทำดังนี้
-ควรแสดงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน เมื่อมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้งกัน ควรจะปรับความเข้าใจกันเอง ไม่ควรไปว่าความกันต่อหน้าคนไม่เชื่อ (1 คร 6:6)
-ถ้าเราทำผิดต่อพวกพี่น้องและทำร้ายจิตสำนึกผิดชอบที่อ่อนแอของเขา ก็เป็นการทำผิดต่อพระคริสต์ด้วย (1 คร 8:11;เทียบกับ รม14-15;1 คร 8)
-ถ้าพี่น้องในชุมชนพระเจ้าแห่งหนึ่งแห่งใดมีความเดือดร้อนเรื่องการดำรงชีพ ชุมชนพระเจ้าแห่งอื่นๆมีหน้าที่ที่จะต้องเรี่ยไรหรือถวายให้กันและกัน (1 คร 16:1-4)
-ควรแบกภาระซึ่งกันและกัน ในฐานะที่เป็นพี่น้องกัน (กท 6:1-10)
-ควรจะดำรงชีวิตอยู่อย่างเป็นพี่น้องกันกับทุกสังคม ทุกเชื้อชาติ
-ควรให้อภัยแก่ทาส และอยู่กับเขา รักเขาเหมือนเป็นพี่น้องที่รักคนหนึ่ง (ฟม 16)
ผลที่ได้จากการตายและเป็นขึ้นมาจากความตาของพระเยซูคริสต์เจ้า
-ไม่มีกำแพงระหว่างเชื้อชาติ เพราะโดยพระโลหิตขององค์พระคริสต์ “พระองค์ได้ทรงรื้อกำแพงที่กั้นระหว่างสองฝ่ายลง” กำแพงระหว่างสองฝ่ายนี้หมายถึง กำแพงระหว่างคนยิวและคนต่างชาติ และทั้งสองฝ่ายนั้นเป็นคนใหม่ เป็นคนเดียวกันในพระคริสต์ (อฟ 2:11-18)
-มีชนชาติเดียว คืออิสราเอลใหม่ หรือชุมชนของพระเจ้าของพระเจ้า เพราะตั้งแต่นี้เป็นต้นไป ทั้งคนยิวและคนต่างชาติ เป็นพลเมืองแห่งราชอาณาจักรของพระเจ้า เป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกัน นี่แหละคือความยิ่งใหญ่และความล้ำลึกที่ปิดซ่อนอยู่ตั้งแต่บรรพบุรุษ บัดนี้เปาโลได้รับสิทธิพิเศษให้เป็นผู้เปิดเผย (อฟ 2:19-3:6;คส 1:26)
-ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างคนยิวและต่างชาติ เพราะต่อไปนี้จะไม่มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูงระหว่างยิวและต่างชาติอีกต่อไป ทุกคนมีความต้องการอย่างเดียวกัน คือต้องเชื่อพึ่งอาศัยในพระเยซูเช่นเดียวกัน (รม 3:22-30)
-ทุกคนเท่าเทียมกัน เพราะทุกคนได้รับความโปรดปรานอย่างบริบูรณ์ของพระเจ้าอย่างเดียวกัน (รม10:12)
-ทุกคนเชื่อในบารมีของพระเจ้าเช่นกัน เพราะว่าบารมีของพระเจ้าเป็นฤทธิ์เดชของพระเจ้าเพื่อให้ทุกคนที่เชื่อได้รับความหลุดพ้น พวกยิวก่อนและพวกต่างชาติด้วย (รม 1:16)
การงานของพระธรรมท่ามกลางชุมชนของพระเจ้า
-ทำให้ชุมชนของพระเจ้าเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
-ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันยังไม่ได้รับการเนรมิตสร้างขึ้น แต่กำลังเพียรพยายามให้คงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน “โดยมีสันติภาพเป็นเครื่องผูกพัน” ซึ่งพระธรรมเป็นผู้ประทานให้ (อฟ 4:3)
-ความสนิทสนมรักใคร่เอ็นดูเห็นอกเห็นใจ มาจากพระธรรม (ฟป 2:1;2 คร 13:14)
-ความสนิทสนมรักใคร่เอ็นดูเห็นอกเห็นใจกันนี้ แปลมาจากคำในภาษากรีกว่า “คอยโนเนีย” (Koinonia) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของพระคุณของพระเจ้า (ฟป 1:7)
-ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเหล่านี้ พิธีมหาสนิทเป็นสัญลักษณ์หรือเครื่องหมายที่สะท้อนอย่างชัดเจน (1 คร10:16-17;11:17-34)
-พิธีมหาสนิทนี้ เป็นเครื่องหมายภายนอก ที่มีความหมายภายในว่า พระเจ้ารับเราแล้ว “เพราะเราเป็นส่วนของกันและกันในพระกายอันยิ่งใหญ่ของพระบุตร ซึ่งเป็นพระพรแก่ทุกคนที่มีความเชื่อในพระองค์”
ชุมชนของพระเจ้า กับพระธรรมของพระองค์
-เขาจะรับพระองค์ได้การได้ยินที่เข้าใจโดยความเชื่อ (กท 3:2)
-พระองค์สถิตหรืออาศัยอยู่ในจิตใจของลูกพระเจ้าทุกๆคน (กท 4:6)
-พระธรรมนั้นเป็นองค์เดียว ไม่มีการแบ่งแยก ดังนั้นชุมชนของพระเจ้าจึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ไม่มีการแบ่งแยก ด้วยว่า “มีกายเดียว” และมี “พระธรรมองค์เดียว” (อฟ 4:4 เทียบกับ 1 คร 12:13)
-ชุมชนของพระเจ้าจึงเป็นพระกายของพระคริสต์ พระคริสต์เป็นประมุขของชุมชนของพระเจ้า และเป็นประมุขของจักรวาล (อฟ 1:20-23;คส 1:15-19)
-ร่างกายของคนเราได้รับการบำรุงเลี้ยงเพราะมีศีรษะ (คส 2:19) และพระเจ้าเป็นผู้บันดาลให้เจริญเติบโตขึ้น
-พระธรรมของพระเจ้าเป็นผู้ประทาน ของประทานฝ่ายธรรมะ ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีให้กับทุกคน แต่ไม่ใช่ว่าทุกคนมีของประทานเหมือนกัน เหมือนกันกับร่างกายของคนเรา มีกายเดียว แต่มีหลายอวัยวะแต่ละอวัยวะก็แตกต่างกัน และทำหน้าที่ต่างกัน (1 คร 12:12-31)
ของประทานฝ่ายธรรมะที่พระเจ้าประทานให้กับผู้เชื่อทุกคน
-เหมาะสมกับเราแต่ละบุคคล ที่จะทำพันธกิจของพระองค์
-รายละเอียดของของประทานที่พระเจ้าประทานให้อยู่ในหนังสือเอเฟซัส 4:11-16 และในหนังสือ 1 โครินธ์ 12 (เทียบกับ รม 12:3-8)
-จุดประสงค์ที่พระเจ้าประทานของประทานให้เพื่อจะเสริมสร้างซึ่งกันและกัน ของพระกายแห่งพระเยซูคริสต์ให้สำเร็จสมบูรณ์จนถึงที่สุด
-เพราะฉะนั้น เมื่อเปาโลเดินทางไปเผยแพร่บารมีพระเจ้า ณ ที่แห่งใด จึงได้มีการสถาปนาหรือแต่งตั้งผู้รับผิดชอบชุมชนพระเจ้าขึ้นทุกแห่ง (กจ 14:23)
-ในหนังสือทิโมธีและทิตัส เปาโลได้แนะนำแก่ทิโมธีและทิตัส ให้ทำหน้าที่รับผิดชอบอยู่ในชุมชนพระเจ้า และผู้รับผิดชอบชุมชนของพระเจ้าควรจะเป็นคนที่มีบุคลิกลักษณะอย่างไร (1ทธ 3:8-13)
-ผู้ที่ทำหน้าที่รับผิดชอบต่อชุมชนของพระเจ้าทุกคน ต่างก็เป็น “ส่วนของกันและกัน” ทำหน้าที่กันคนละอย่าง (1 คร 3:5-6) ทุกคนควรเคารพยกย่องซึ่งกันและกันในงานที่แต่ละคนได้ปฏิบัติ (1 ธส 5:12-13)
หน้าที่รับผิดชอบในชุมชนของพระเจ้า
-ให้ป้องกันรักษาความเชื่อไว้ ให้ใส่ใจการอ่านพระคัมภีร์ในที่ประชุม ในการสั่งสอน และช่วยเหลือบรรดาแม่หม้ายและอื่นๆ
-ให้ผู้หญิงให้ใช้ผ้าคลุมศีรษะในการอธิษฐานและพยากรณ์ (1 คร 11:2-16)
-ให้ระมัดระวังในการใช้ของประทานฝ่ายธรรมะที่เป็นการพูดภาษาแปลกๆ (1 คร 14)
-ให้แสวงหาของประทานที่ยิ่งใหญ่กว่านั้น (1 คร 12:37) คือพรหมวิหารสี่ อันได้แก่ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญที่ชุมชนของพระเจ้าจะต้องนำมาใช้เสริมสร้างซึ่งกันและกัน (1 คร 13,อฟ 4:15-16)
กล่าวโดยสรุป พระเจ้าได้เรียกชนทุกชาติทุกภาษาให้มาเป็นลูกของพระองค์และเป็นชุมชนของพระองค์
-คือเป็นร่างกายของพระเยซูคริสต์เจ้า ดังนั้นชุมชนของพระเจ้าเหล่านี้จึงเป็นส่วนหรือเป็นอวัยวะของกันและกัน มีหน้าที่รับผิดชอบเสริมสร้างกันและกันจนกว่าจะเป็นผู้ใหญ่ไพบูลย์ในองค์พระผู้เป็นเจ้า (อฟ 4:11-13)
-การเสริมสร้างกันและกันของชุมชนของพระเจ้า จะต้องนำมาประพฤติปฏิบัติ เพื่อชุมชนของพระเจ้าจะได้เจริญขึ้นสู่พระคุณของพระองค์
เขียนโดย Banpote Wetchgama (ศูนย์พันธกิจอุดรธานี)
แก้ไขล่าสุด ใน วันพฤหัสที่ 03 พฤษภาคม 2012 เวลา 15:55 น.
(ข้อมูลที่นำมาเขียนในบทเรียน “การเสริมสร้างกันในชุมชนของพระเจ้า (Edification)” นี้ แปลและเรียบเรียงมาจากหนังสือ “Basic Introduction to the New Testament by John R. W. Stott” PP. 52-78,1964.
2012-06-18