ไม่ปล่อยโอกาส
ไม่ปล่อยโอกาส
ดร.นรนิตย์ จินดาขันธ์ (Dec. 1/ 2012)
คนไทยรุ่นก่อนๆ ไม่ค่อยพูดกับคนใกล้ชิดว่ารักเขา! คงเป็นเพราะไม่เคยถูกสอนให้พูดจึงรู้สึกว่า ขัดเขินเมื่อจะต้องพูด
ในสมัยก่อนมีพ่อแม่ไม่กี่คนละมั้งที่พูดกับลูกว่า “พ่อรักลูก” หรือ “แม่รักลูก” โดยไม่ขัดเขิน เช่นเดียวกันกับในความสัมพันธ์ระหว่างสามีกับภรรยา มีภรรยาไม่กี่คนที่จะพูดกับสามีว่า “ฉันรักเธอ” ยิ่งผู้เป็นสามีแล้วละก็ ไม่ต้องพูดถึงเลยว่าภรรยาจะได้ยินคำว่า “ผมรักคุณ” ออกจากปากของเขา! ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้วคนเหล่านั้นรักซึ่งกันและกัน พ่อแม่ก็รักลูก สามีภรรยาก็รักกัน แต่ทำไมนะ คำว่า “รัก” จึงอยากจะออกจากปากมาถึงกัน! ทั้งๆ ที่ความรักแท้นั้นไม่ทำอันตรายใครเลย
ไม่ทราบเหมือนกันว่า คนไทยไปเอาวัฒนธรรมในการแสดงความชื่นชมคนมาจากไหน? เพราะคนไทยมักจะกล่าวแสดงความรักหรือแสดงความชื่นชมต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างสะดวกปากสะดวกใจก็ต่อเมื่อผู้ที่เราจะกล่าวถึงนั้นได้ตายจากเราไปแล้ว! ดังนั้น ที่ๆ คนไทยจะพูดคำว่ารักได้ง่ายกว่าปกติคือในงานศพของคนที่เรารัก!
คุณครับ! คุณต้องการให้คนที่คุณรักและรักคุณบอกคุณว่าเขาหรือเธอรักคุณเฉพาะในงานศพของคุณหรอกหรือ? คำตอบคงจะเป็นคำว่า “ไม่ใช่”
ในทำนองเดียวกัน คนที่คุณรัก เขาก็คงต้องการคำว่า “รัก” ออกจากปากของคุณในเวลานี้ ไม่ใช่ในงานศพของเขาเช่นกัน
ฉะนั้น การบอกว่า “รัก” ในงานศพ แม้จะดี แต่ก็ไม่ใช่ “โอกาส” ที่ดีที่สุด แต่การบอกคำว่า “รัก” ในยามที่ผู้รับต้องการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เขา “กำลังจะเป็นศพ” (เพราะขาดกำลังใจ) ถือว่าเป็น “โอกาส” ที่ควรฉวยคว้าไว้มากที่สุด!
ว่าแต่ว่าวันนี้ คุณฉวยโอกาสบอกคนที่คุณรักแล้วหรือยังว่าคุณรักเขา?
“ความรักไม่ทำอันตรายเพื่อนบ้านเลย เหตุฉะนั้นความรักจึงเป็นการปฏิบัติตามธรรมบัญญัติอย่างครบถ้วน, Love does no wrong to anyone, so love satisfies all of God’s requirements”. (Romans 13:10)
ถ้าท่านเห็นด้วย ก็จงลงมือปฏิบัติเสียแต่เดียวนี้.
แก้ไขล่าสุด (วันอาทิตย์ที่ 02 ธันวาคม 2012 เวลา 23:46 น.)