ธรรมชีวิตประจำวันที่ 25-31 ธันวาคม 2012
25 ธันวาคม 2012
“ข่าวใหญ่”
ด้วยมีเด็กคนหนึ่งเกิดมาเพื่อเรา...
อิสยาห์ 9:6
ในเดือนธันวาคม ปี 1903 หลังจากความพยายามครั้งแล้วครั้งเล่า พี่น้องตระกูลไรท์ก็ประสบความสำเร็จสามารถทำให้ “เครื่องจักรบิน” ของพวกเขาบินขึ้นเหนือพื้นดินได้ ด้วยความตื่นเต้นพวกเขาได้ส่งโทรเลขไปหาพี่สาวที่ชื่อแคทรีนบอกว่า “เราบินได้ 120 ฟุต แล้ว จะกลับบ้านวันคริสต์มาส” แคทรีนรีบไปหาบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นแนละเอาโทรเลขนั้นให้เขาอ่าน บรรณาธิการเหลือบมองและพูดว่า “ดีจัง พวกเขาจะกลับบ้านในวันคริสต์มาส” เขาพลาดข่าวใหญ่ไปเสียแล้วข่าวที่ว่ามนุษย์บินได้!
ทุกวันนี้หลายคนกันเข้าใจผิดเป็นกันเมื่อได้ยินคำว่า คริสต์มาส พวกเขาไม่ได้คิดถึงพระเยซูและการประสูติอย่างอัศจรรย์ของพระองค์ แต่กลับคิดถึง การกลับไปพร้อมหน้ากับครอบครัว การเลี้ยงฉลองการตกแต่งประดับประดา และของขวัญ สำหรับพวกเขาแล้ว คริสต์มาสคือการหวนคิดถึงอดีตและความทรงจำในวัยเด็ก
การเฉลิมฉลองไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิด แต่ถ้านั่นคือความหมายทั้งหมดของคริสต์มาสสำหรับทุกคนแล้ว เราก็กำลังพลาดความสำคัญที่แท้จริงไป ความหมายที่แขท้จริงของวันพิเศษนี้สามารถสรุปได้จากคำของทูตสวรรค์ที่บอกกับคนเลี้ยงแกะในตอนกลางคืนเมื่อนานมาแล้วว่า “เรานำข่าวดีมายังท่านทั้งหลาย คือความปรีดียิ่งซึ่งจะมาถึงคนทั้งปวง เพราะว่าในวันนี้พระผู้ช่วยให้รอดของท่านทั้งหลายคือพระคริสต์เจ้ามาบังเกิดที่เมืองดาวิด” (ลก.2:10-11) นี่คือข่าวใหญ่ของคริสต์มาส
ข้าแต่พระเจ้าขอบพระคุณที่คริสต์มาสเป็นวันที่มีความหมายที่สุดในโลก คือวันที่พระเจ้าทรงบังเกิดเป็นมนุษย์ เพื่อช่วยเราให้รอด ในพระนามพระเยซูคริสต์เจ้า อาเมน
26 ธันวาคม 2012
“วันไม่ดี”
นี่เป็นวันซึ่งพระเจ้า ได้ทรงสร้าง ให้เราเปรมปรีดิ์และยินดีในวันนั้น
สดุดี 118:24
นักจิตวิทยาชาวอังกฤษท่านหนึ่งได้คิดค้นสูตรการค้นหาวันที่แย่ที่สุดในรอบปี ปัจจัยหนึ่งคือช่วงเวลาหลังคริสต์มาส ที่ความสดใสของเทศกาลได้หมดลงไป แต่สิ่งที่มาแทนคือใบแจ้งหนี้บัตรเครดิต อากาศในฤดูหนาวที่หดหู่ กลางวันสั้นและการทำสิ่งที่ตั้งใจไว้ตอนปีใหม่ไม่สำเร็จล้วนแต่เป็นส่วนหนึ่งในการคำนวณของ ดร.ท่านนี้ทั้งสิ้น “คาดว่าในปีที่แล้ว วันที่ 24 มกราคมจะเป็นวันที่หดหู่ที่สุดในรอบปี”
คริสเตียนเองก็ได้รับผลกระทบจากอากาศและความซึมเศร้าหลังเทศกาล แต่เรามีเหตุผลที่สามารถเปลี่ยนทัศนคติของเราในแต่ละวันได้ สดุดี 118 มีเรื่องราวความยากลำบากต่าง ๆ ระบุไว้ซึ่งรวมไปถึงความคับแค้นใจ (ข้อ 5) ความไม่มั่นคงของประเทศ (ข้อ 10) และวินัยฝ่ายวิญญาณ (ข้อ 18) กระนั้นสดุดีบทนี้ยังกล่าวต่อไปว่า “นี่เป็นวันซึ่งพระเจ้าได้ทรงสร้าง ให้เราเปรมปรีดิ์และยินดีในวันนั้น” (ข้อ 24)
พระธรรมสดุดีเต็มไปด้วยการสรรเสริญความดี และความเมตตาของพระเจ้าท่ามกลางปัญหาแล้วความเจ็บปวด ข้อ 14 ที่กล่าวว่า “พระเจ้าทรงเป็นกำลังและบทเพลงของข้าพเจ้า พระเจ้าทรงมาเป็นความรอดของขาพเจ้า” เปรียบเหมือนการโห่ร้องด้วยชัยชนะ
ถึงแม้สถานการณ์รอบข้างจะติดป้ายในปฏิทินของเราว่า “วันไม่ดี!” แต่เรายังคงขอบพระคุณพระผู้สร้างสำหรับของขวัญแห่งชีวิต และรับแต่ละวันไว้ด้วยความชื่นชมยินดี
ฮาเลลูยา สรรเสริญพระเจ้า ที่พระองค์ทรงสร้างทุกวันเป็นวันที่ดี ในพระนามพระเยซูคริสต์เจ้า อาเมน
27 ธันวาคม 2012
“ห้องสมุดที่สูญไป”
หญ้านั้นก็เหี่ยวแห้ง...แต่พระวจนะของพระเจ้าของเราจะยั่งยืนอยู่เป็นนิตย์
อิสยาห์ 40:8
หนังสือหมวดที่ผมชอบอ่านในห้องสมุดท้องถิ่นคือหมวดประวัติศาสตร์ และวารสาร แล้วคุณละ? ลองคิดภาพวาดเขาวันหนึ่ง คุณไปถึงห้องสมุดแล้วพบว่าบรรดาหนังสือที่คุณชอบได้กลายเป็นเถ้าถ่านไปหมดแล้ว นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นหลายศตวรรษก่อนเมื่อไฟไหม้หนังสือหลายพันเล่มในห้องสมุดแห่งหนึ่งในต่างประเทศ ซึ่งที่นั่นเป็นที่สำหรับการค้นคว้าในสมัยโบราณและแล้ววันหนึ่งในปี 47 ก่อนคริสตกาล จูเลียส ซีซาร์ ได้จุดไฟเผากองเรือของตนเองในอ่าวอเล็กซานเดรียเพื่อไม่ให้มันตกไปอยู่ในมือของศัตรู ไฟนั้นลามไปถึงอู่ต่อเรือและคลังแสงนาวีอย่างรวดเร็วในที่สุดก็เผาทำลายหนังสือม้วนอันมีค่าของห้องสมุดไปสี่แสนฉบับ
โศกนาฏกรรมเช่นนี้แสดงให้เห็นว่าสิ่งที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรนั้นสูญสลายได้ง่ายดายเพียงไรและทำให้การคงอยู่ของพระคัมภีร์นั้นเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ พระวจนะของพระเจ้ารอดพ้นจากการเผาทำลาย การจราจล การปฏิวัติ การทำรัฐประหารและหายนะต่าง ๆ กระนั้นผู้เชี่ยวชาญก็บอกเราว่าต้นฉบับพระคัมภีร์ยังคงถูกรักษาไว้อย่างถูกต้องผ่านการคัดลอกนับพันปี
พระเจ้าดลใจการเขียนพระคัมภีร์ (2 ทธ.3:16) และได้ทรงสัญญาว่าจะรักษาพระวจนะให้คงอยู่ตลอดทุกศตวรรษ (อสย.40:8) ครั้งต่อไปที่คุณเปิดอ่านให้คุณใช้เวลาสักครู่ใคร่ครวญคุณค่าของพระคัมภีร์ และขอบคุณพระเจ้าที่ทรงปกป้องพระคัมภีร์ให้ปลอดภัยจนมาถึงมือคุณ
สรรเสริญพระเจ้า สำหรับพระวจนะอันทรงคุณค่า และเป็นโคมส่องเท้าของข้าพระองค์ทั้งหลาย ในพระนามพระเยซูคริสต์เจ้า อาเมน
28 ธันวาคม 2012
“เป็นไทหรือยัง”
...เราไม่ใช่บุตรของหญิงทาสแต่เป็นบุตรของหญิงที่เป็นไท
กาลาเทีย 4:31
คิสซี เป็นลูกสาวของคุณตา คินเต้ในเรื่อง ‘รุทส์’ บทประพันธ์ชิ้นเยี่ยมของอเลกซ์ ฮาลี่ย์ เธออยากจะหนีจากการเป็นทาสและมีชีวิตอย่างอิสระอย่างบรรพบรุษของเธอในอัฟริกา แต่เธอก็ทำไม่ได้ เบลล์ คินเต้ แม่ของเธอเป็นนางทาส และในยุคสมัยของการค้าทาสมันโหดร้ายนั้น การเป็นลูกของนางทาส จึงกำหนดให้เธอต้องเป็นทาสด้วย
สถานะของพ่อแม่ ซึ่งเธอไม่สามารถ ควบคุมได้ เป็นตัวกำหนดชะตากรรมของเธอ
เรื่องนี้ฟังดูคล้ายกับกาลาเทีย 4:31 ที่เปาโลใช้เรื่องเปรียบเทียบจากพันธะสัญญาเดิมเพื่อทำให้เราเข้าใจการเป็นทาสและการเป็นไท เปาโลใช้เรื่อง ของอับราฮัม นางซารายห์และนางฮาการ์ เพื่ออธิบายความแตกต่างระหว่างบุตรของหญิงทาส (ฮาการ์) และบุตรของหญิงที่เป็นไท (ซารายห์) บุตรของหญิงที่เป็นไทเท่านั้นที่สามารถรับมรดกได้ บุตรของหญิงทาสถูกกำหนดให้เป็นทาส
ประเด็นคือ พวกเราทุกคน ไม่ว่าชายหรือหญิง ยิวหรือต่างชาติ ดำหรือขาว รวยหรือจนต่างก็มีส่วนในมรดกของพระเจ้า ทุกคนที่เชื่อรับพระเยซูเป็นพระผู้ช่วยให้รอด “ไม่ใช่บุตรของหญิงทาสแต่เป็นบุตรของหญิงที่เป็นไท” (ข้อ31) เราได้รับการปลดปล่อยจากพันธนาการของพระบัญญัติและได้รับพระคุณของพระองค์แทน มรดกของเราคืออิสรภาพ ซึ่งเป็นเสรีภาพอันสมบูรณ์ในพระคริสต์ พระคุณของพระเจ้าปลดปล่อยคุณให้เป็นไทหรือยัง?
ขอบคุณพระเจ้าที่ทรงโปรดปลดปล่อยให้ข้าพระองค์เป็นไท และเป็นไทอย่างแท้จริง ในพระนามพระเยซูคริสต์เจ้า อาเมน
29 ธันวาคม 2012
“หัวใจของผู้รับใช้”
ฝ่ายผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้าต้องไม่เป็นคนที่ชอบการทะเลาะวิวาท แต่ต้องมีใจเมตตาต่อทุกคน เป็นครูที่เหมาะสมและมีความอดทน
2 ทิโมธี 2:24
จอร์จ วอชิงตัน คาร์เวอร์ เป็นนักวิทยาศาสตร์เชื้อสายแอฟริกัน อเมริกัน ผู้พัฒนาผลิตภัณฑ์มากมายที่ทำจากถั่ว เขายังเป็นผู้รับใช้พระเจ้าที่มีใจถ่อม และมักจะฉวยทุกโอกาสพูดคุยกับคนอื่นถึงพระผู้ช่วยให้รอดที่เขารักและปรนนิบัติ ในทศวรรษที่ 1920 สมาชิกของวายเอ็มซีเอ และคณะกรรมาธิการความร่วมมือระหว่างเชื้อชาติได้เชิญคาร์เวอร์ไปบรรยายกับนักศึกษาผิวขาวที่มหาวิทยาลัยต่างๆ ทางภาคใต้ เขาได้พูดถึงความมหัศจรรย์ของโลกที่เราอาศัยอยู่ และพูดถึงพระเจ้าผู้ทรงสร้างโลกและมนุษย์
คาร์เวอร์กล่าวถึงจุดประสงค์ในการไปพูดของเขาว่า “เขาต้องการให้นักศึกษาได้พบพระเยซู และให้พระองค์มีส่วนในชีวิตของเขาเหล่านั้น ทุกวัน ทุกชั่วโมง และทุก ๆขณะ “ผมอยากให้พวกเขาได้เห็นถึงพระผู้สร้างแม้แต่ในสิ่งที่เล็กน้อยที่สุดหรือดูเหมือนไม่สำคัญที่สุดเกี่ยวกับตัวเขา”
คาร์เวอร์ปฏิบัติตามคำของเปาโลที่กล่าวแก่ทิโมธีว่า “ฝ่ายผู้รับใช้ขององค์พระผู้เป็นเจ้าต้องไม่เป็นคนที่ชอบการทะเลาะวิวาท แต่ต้องมีใจเมตตาต่อทุกคน เป็นครูที่เหมาะสมและมีความอดทน ชี้แจงให้ฝ่ายตรงข้ามเข้าใจด้วยความสุภาพว่าพระเจ้าอาจจะทรงโปรดให้เขากลับใจและมาถึงซึ่งความจริง” (2 ทธ.2:24-25) วิธีการดังกล่าวเน้นถึงฤทธิ์เดชของข่าวประเสริฐและคุณลักษณะอันน่าพึงใจของหัวใจอย่างผู้รับใช้ ให้เรามาเลียนแบบคาร์เวอร์กันเถอะ
ข้าแต่พระเจ้า ข้าพระองค์ขอน้อมนำที่จะรับใช้พระองค์ตามแบบที่พระองค์ทรงสอน ในพระนามพระเยซูคริสต์เจ้า อาเมน
30 ธันวาคม 2012
“แน่จริงก็ทำอีกสิ”
...ความหวังของข้าพระองค์อยู่ในกฎหมายของพระองค์ ข้าพระองค์จะปฏิบัติพระธรรมของพระองค์สืบๆ ไปเป็นนิจกาล
สดุดี 119:43-44
ผมเคยฟังเรื่องเล่าเกี่ยวกับคริสตจักรเล็กๆ แห่งหนึ่งซึ่งจัดงานคืนสู่เหย้าและมีอดีตสมาชิกของคริสตจักรที่กลายเป็นมหาเศรษฐีคนหนึ่งมาในงานนี้ด้วย ชายดังกล่าวได้เป็นพยานถึงพระพรที่เขาได้รับในช่วงหลายปีที่ผ่านมาโดยโยงไปถึงเหตุการณ์หนึ่งสมัยที่เขายังเป็นเด็ก เขาเล่าว่า เงินดอลลาร์แรกที่หามาได้ตอนยังเป็นเด็กนั้น เขาตั้งใจเก็บมันไว้ตลอดชีวิต แต่เมื่อมิชชันนารีที่มาเยี่ยมคริสตจักรคนหนึ่งเทศนาถึงความจำเป็นเร่งด่วนในงานรับใช้ เขาก็เกิดการต่อสู้ในใจว่าจะถวายเงินดังกล่าวดีหรือไม่ “ในที่สุด พระเจ้าก็ชนะ” เขากล่าว แล้วพูดต่ออย่างภาคภูมิใจว่า “ผมเอาเหรียญที่มีค่าที่สุดของผมใส่ในตะกร้าถวาย และผมเชื่อว่าการที่พระเจ้าอวยพระพรผมมากมายถึงเพียงนี้เป็นเพราะผมได้ถวายทั้งหมดที่ผมมีให้กับพระองค์เมื่อตอนผมยังเด็ก” ที่ประชุมรู้สึกประทับใจกับคำพยานดังกล่าวจนกระทั่งหญิงชราคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “แน่จริงก็ทำอีกสิ!”
เรื่องดังกล่าวบอกเราว่า การบรรลุผลสำเร็จในอดีตไม่ได้เป็นตัววัดความเป็นผู้ใหญ่ฝ่ายวิญญาณในปัจจุบัน สดุดี 119:44 กล่าวว่า “ข้าพระองค์จะปฏิบัติพระธรรมของพระองค์สืบ ๆ ไปเป็นนิจกาล” ผู้เขียนสดุดีตระหนักว่าเขาจำเป็นต้องรักษาความตั้งใจของเขาให้สดใหม่ทุกวัน
ในฐานะคริสเตียน เราไม่สามารถอิงอยู่กับชัยชนะในอดีต เราต้องมอบทั้งหมดให้พระเจ้าเดี๋ยวนี้เพื่อจะไม่มีใครมาท้าเราว่า “แน่จริงก็ทำอีกสิ!”
ข้าแต่พระเจ้า ข้าพระองค์ปรารถนาที่จะถวายเพื่องานของพระองค์อย่างสัตยซื่อ ตลอดไป ในพระนามพระเยซูคริสต์เจ้า อาเมน
31 ธันวาคม 2012
“คำถามที่ดีที่สุด”
ข้าแต่พระเจ้า ผู้ใดจะอาศัยอยู่ในพลับพลาของพระองค์ผู้ใดจะอยู่บนภูเขาศักดิ์สิทธิ์ของพระองค์
สดุดี 15:1
มีคนถามมาร์ติน เพิร์ล นักฟิสิกส์ซึ่งได้รับรางวัลโนเบลถึงเรื่องหลังความสำเร็จของเขา เขาตอบว่า “คุณแม่ของผมเองครับ” “ทุกวันตอนผมกลับจากโรงเรียนแม่จะถามผมว่า ‘มาร์ตี้’ วันนี้ลูกได้ถามคำถามดี ๆบ้างหรือเปล่าจ๊ะ”
ดาวิดได้ถามคำถามที่ดีที่สุดว่า “ข้าแต่พระเจ้า ผู้ใดจะอาศัยอยู่ในพลับพลาของพระองค์” (สดด.15:1) มีค่าอยู่ 2 คำที่ชาวยิวโบราณใช้เพื่อตั้งคำถามว่า “ใคร?” คำแรกมีความหมายคล้ายคลึงกับคำที่เราใช้กัน แต่คำที่ดาวิดใช้ในที่นี้เป็นอีกคำหนึ่งซึ่งมีความหมายว่า “ผู้ที่จะอยู่ใกล้พระเจ้านั้น คือคนเช่นไร”
คำตอบที่ได้อยู่ในรูปของลักษณะนิสัยหลายประการที่บุคคลนั้นพึงมี นั่นก็คือ “ผู้ที่ดำเนินชีวิตอย่างหาที่ติมิได้ และปฏิบัติให้ถูกต้องตามธรรมและ-พูดความจริงจากจิตใจของตน” (ข้อ 2) การรู้จักความจริงเป็นคนละเรื่องกับการเชื่อฟังพระเจ้าทรงพอพระทัยที่จะประทับบนภูเขาศักด์สิทธิ์รวมกับผู้ที่บริสุทธิ์ ซึ่งมีชีวิตตามความจริงที่พวกเขาเชื่อ พระองค์ทรงรักบรรดาชายหญิงที่ “น่าเชื่อถือ”
อย่างใรก็ตาม พระธรรมสดุดีตอนนี้ไม่ได้หมายถึงความบริสุทธิ์ที่ตัวเราพยายามสร้างขึ้นเพราะคิดว่าจะช่วยให้เราผ่านเข้าไปอู่จำเพาะพระพักตร์พระเจ้าได้ แต่หมายถึงความงดงามแห่งความบริสุทธิ์ที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นภายในเรา ขณะที่เราร่วมสามัคคีธรรมกับพระองค์ ยิ่งเราเข้าใกล้พระองค์มากขึ้นเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งเป็นเหมือนพระองค์มากขึ้นเท่านั้น
ข้าแต่พระเจ้า ขอทรงช่วยให้ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น เหมือนพระองค์มากยิ่งขึ้นๆ ในพระนามพระเยซูคริสต์เจ้า อาเมน